
นายโบจี เลขาธิการสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ( the Assistance Association for Political Prisoners) หรือ AAPP ได้ออกมาเรียกร้องกดดันให้พลเอกมิ้นอ่องหล่าย ผู้บัญชาทหารสูงสุดของกองทัพพม่า และพลโท จ่อส่วย รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมพม่าเร่งหาทางร่วมมือกับรัฐบาล NLD ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ตามข้อมูลพบว่า จนถึงขณะนี้ พม่ายังมีนักโทษการเมืองถูกคุมขังอยู่จำนวน 100 คน และอีกจำนวน 420 คน ยังรอพิจารณาคดี ทั้งนี้เชื่อกันว่า ผู้นำฝ่ายทหารยังคงเป็นฝ่ายที่มีอำนาจในการปล่อยตัวนักโทษการเมือง
นายโบจี เชื่อว่าทางรัฐบาล NLD จะดำเนินการประเด็นเร่งด่วนนี้อย่างแน่นอน เหมือนที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ระหว่างที่หาเสียงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว นายโบจี ยังเชื่อว่า หากผู้นำฝ่ายทหาร ผู้นำฝ่ายกระทรวงกลาโหมของพม่า รวมทั้งรัฐบาลร่วมมือเจรรจากัน เชื่อว่า นักโทษการเมืองจะได้รับการปล่อยตัวอย่างเร่งด่วน โดยกล่าวเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งนักเคลื่อนไหวและนักศึกษาที่ถูกจับ
ขณะที่คาดว่า ทางคณะกรรมการกลางของพรรค NLD มีกำหนดการที่จะหารือเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนักโทษการเมืองในเดือนนี้ นอกจากนายโบโบจีแล้ว ยังมีอดีตนักโทษการเมืองอีกหลายคนได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลนำโดยนายอูถิ่นจ่อ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง
“ไม่ควรมีนักโทษการเมืองภายใต้การนำของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย โดยนักโทษทางการเมืองหวังว่า พวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวก่อนหรือหลังสงกรานต์นี้ โดยได้การนิรโทษกรรมจากประธานาธิบดีถิ่นจ่อ” นาย ยันลิน อดีตนักโทษการเมืองและเป็นสมาชิกของกลุ่มนักศึกษาปี 1988 กล่าว มีรายงานว่า นักโทษที่ได้รับการนิรโทษกรรมในรัฐบาลเต็งเส่งที่ผ่านมา แม้จะได้รับการปล่อยแต่ก็ต้องเซ็นชื่อรับทราบตามกฎหมายข้อที่ 401 ซึ่งหากถูกศาลสั่งดำเนินคดีใหม่ก็จะต้องรับโทษเดิมที่เหลือเพิ่มอีกด้วย
ทางด้านนักกฎหมาย อย่างนายโก่นี กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนักศึกษาที่ถูกจับ เพราะออกมาเดินประท้วงเมื่อปีที่แล้วว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น “นักศึกษาไม่ควรถูกจับ เพราะพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด” นายโก่นี ยังกล่าวว่า หากนักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัวจะทำให้ประชาชนชาวพม่ามีความสุข ส่วนนายจิมมี่ หนึ่งในแกนนำนักศึกษาปี 1988 กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า หากรัฐบาลนายอูถิ่นจ่อ ดำเนินการเรื่องปล่อยตัวนักโทษการเมืองช้า เชื่อว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งนี้ ในยุคปี ค.ศ. 1962 และ 1988 มีชาวพม่านับพันคนมที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลทหารถูกสังหารและถูกกุมขัง ในยุคของเต็งเส่ง แม้จะมีการนิรโทษกรรมนักโทษเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังพบมีนักเคลื่อนไหวถูกจับเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน
ที่มา Irrawaddy/Eleven Media Group
แปลและเรียบเรียงโดย Transborder