
แม้จะผ่านไปแล้วสำหรับงานประกาศผลรางวัลภาพยนตร์พม่าประจำปี 2557 – 2558 เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ย่างกุ้ง แต่ในโลกโซเชียลพม่ายังคงมีการแชร์ภาพและพูดถึงแฟชั่นดาราพม่าในปีนี้อย่างต่อเนื่อง สีสันแฟชั่นดาราพม่าอาจจะไม่เหมือนกับแฟชั่นดาราเมืองไทย เพราะนิยมแต่งตัวกันกันมิดชิด สุภาพเรียบร้อยแต่สีสันเครื่องแต่งกายฉูดฉาดบาดตา พร้อมด้วยเครื่องประดับระยิบระยับ แต่ยังคงคอนเซ็ปเดิมคือแต่งชุดประจำชาติทั้งดาราชายและหญิง สิ่งที่อาจจะแปลกตาสำหรับปีนี้ จะเห็นคนบันเทิงบางส่วนสวมเครื่องแต่งกายชาติพันตบเท้าเข้าร่วมงาน สร้างสีสันให้งานปีนี้อยู่ไม่น้อย
งานประกาศรางวัลภาพยนตร์ของพม่าจะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี และเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2495 เช่นเดียวกับในปีนี้ ที่มีการนำเอาภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาต่างๆในทั้งในปี 2557 และ 2558 มามอบรางวัลพร้อมกันในคราวเดียวกัน ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ที่ถูกฉายออกมาแล้วเกือบ 30 เรื่อง และแน่นอนสิ่งที่ประชาชนชาวพม่าจับตามองเกี่ยวกับงานนี้ ไม่เฉพาะแต่รางวัลที่จะประกาศออกมา แต่ยังเฝ้าติดตามชุดที่ดาราขวัญใจคนโปรดจะสวมใส่เข้าร่วมงานด้วย
ด้าน เม ทู มิ้น หนึ่งในผู้ชมกล่าวว่า เธอรักในการแต่งกายชุดประจำชาติ โดยเฉพาะเมื่อดาราคนโปรดสวมใส่ โดยยังกล่าวว่า แฟชั่นดาราพม่ามักกลายเป็นหัวข้อเสนอสนทนาของผู้ชมอยู่เสมอ และหลังเสร็จงาน ชุดที่ดาราสวมใส่ก็มักจะกลายเป็นแฟชั่นที่คนธรรมดาสวมใส่ตาม ด้านนักแสดงหญิงอย่าง โม ยู ซัน กล่าวว่า เธอจะสวมชุดประจำชาติอยู่เสมอเมื่อเข้าร่วมงานประกาศผลรางวัล ทุกคนในพม่าต่างชมงานประกาศผลรางวัลนี้ ดังนั้นจึงเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมชุดประจำชาติของพม่า เธอกล่าว

เช่นเดียวกับพระเอกอย่าง ยันอ่อง ที่กล่าวว่า เขาภูมิใจที่ได้สวมชุดประจำชาติ เพราะทำให้เขามีความภูมิใจและมีความมั่นใจ และเสนอว่า ควรจะมีการสวมชุดประจำชาติในทุกๆงาน ทั้งนี้ แฟชั่นที่ได้รับความนิยมในงานประกาศผลรางวัลในปีนี้ ยังคงเป็นชุดประจำชาติตัดเย็บจากผ้าฝ้าย ผ้าไหมและมีลวดลายหยัก
ขณะที่ผลรางวัลสำคัญๆอย่าง รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมประจำปี 2557 ได้แก่ “เพตีอู” จากภาพยนตร์เรื่อง “Made in Heart” ด้านรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมตกเป็นของ “ข่ายติ่นจี” ส่วนรางวัลนักแสดงชายยอมเยี่ยมประจำปี 2558 เป็นของนักแสดงดาวรุ่งชื่อดังอย่าง “เน โท” นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมในปีเดียวกันเป็นของนักแสดงสาว “โพย โพย” ด้านนายหว่ายคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมประจำปี 2558 ไปครองได้สำเร็จจากการกำกับภาพยนตร์เรื่อง “I am Rose, Darling” โดยเขากล่าวว่า จะพัฒนาหนังให้มีคุณภาพต่อไปเพื่อผู้ชม

ความพิเศษของงานในปีนี้ นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและรัฐมนตรีกระทรวงประจำทำเนียบประธานาธิบดี ได้ส่งสาสน์มาแสดงความยินดีในงาน โดยได้แสดงความยินดีกับภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่าที่ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อผู้ชม ด้านรัฐมนตรีกระทรวงศาสนาและวัฒนธรรมพม่าได้กล่าวเปิดงาน ขอให้วงการหนังพม่าร่วมมือกับรัฐบาลในการก้าวไปสู่เส้นประชาธิปไตยและสหพันธรัฐด้วยกัน
หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ว่ากันว่า ในยุคปี 2493 เป็นต้นมา เป็นยุคที่อุตสาหกรรมหนังพม่ารุ่งเรื่องที่สุดและก้าวหน้าสุดในประเทศอาเซียนก็ว่าได้ ในยุคนั้น มีโรงหนังมากถึง 250 โรงจากทั่วประเทศประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลเผด็จการทหารยึดอำนาจหลายสิบบปีที่ผ่านมา วงการอุตสาหกรรมหนังพม่าซบเซาลงต่อเนื่อง คนทำหนังถูกรัฐบาลควบคุมและเซ็นเซอร์อย่างหนัก ทำให้จำนวนหนังที่ผลิตออกมาค่อยๆน้อยลง ส่วนโรงภาพยนตร์บางแห่งตกเป็นของทหาร ในขณะเดียวกัน การถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ทำให้พม่าถูกโดดเดี่ยวเป็นเวลานาน ขาดอิทธิพลจากโลกภายนอก รวมทั้งขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นในการทำหนัง ยังคงทำให้หนังพม่ามีคุณภาพต่ำมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีมานี้ หลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ประชาธิปไตย ดูเหมือนว่า วงการหนังพม่าจะคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะวงการหนังทางเลือก เช่น มีการจัดเทศกาลหนังนานาชาติที่พม่าแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลระหว่างคนทำหนังพม่าและต่างประเทศ เช่นเดียวกัน คนทำหนังรุ่นใหม่พม่าก็มีการจัดงานเทศกาลหนังขึ้น อย่างเทศกาลหนังเพื่อสิทธิมนุยชน อย่างเทศกาลหนัง “Human Rights Human Dignity International Film Festival” (งานเทศกาลภาพยนตร์เพื่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์) เทศกาลหนังอินดี้ เช่นเทศกาลหนังหน้าฝน “Wathann Film Festival”การเปิดโรงเรียนสอนสร้างหนังในพม่าให้กับคนรุ่นใหม่เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้วงการหนังพม่ายังอยู่ในช่วงเริ่มหัดเดินอีกครั้ง เพื่อพัฒนาตัวเองให้ทัดเทียมกับเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่หากได้รับโอกาสเชื่อว่า วงการหนังพม่าจะกลับมารุ่งเรืองได้ในสักวัน
ข้อมูลจาก MI TV/DVB/Post Magazine
โดย หมอกเต่หว่า