เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2559 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจสวนกล้วยหอมจีนที่บ้านฮาว เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ภายหลังจากมีประชาชนลาวร้องเรียนไปยังคณะปกครองแขวง ว่าสวนกล้วยหอมได้แย่งน้ำของชุมชนและมีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น จนทำให้ทางการแขวงบ่อแก้วประกาศห้ามเพิ่มพื้นที่ปลูกกล้วยหอม ทำให้นักธุรกิจจีนต้องย้ายฐานการผลิตและบางส่วนได้เข้ามาเช่าที่ดินริมแม่น้ำอิงกว่า 2 พันไร่ในอำเภอขุนตาล และอำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ผลิตกล้วยหอม จนถูกชาวบ้านโวยวายและร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆเนื่องจากสวนกล้อมหอมได้แย่งน้ำอุปโภค-บริโภคของชุมชน

ทั้งนี้จากการสังเกตของผู้สื่อข่าว พบว่าสวนกล้วยหอมจีนที่บ้านฮาวแห่งนี้ ปลูกอยู่บนที่ดินนับพันไร่โดยครอบคลุมเนินเขาหลายลูก และบริเวณดังกล่าวอยู่ติดกับลำห้วยบอนซึ่งไหลลงแม่น้ำโขง แต่ขณะนี้น้ำในลำห้วยแห้งเหือด รวมทั้งแอ่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ในการเลี้ยงสัตว์และการเกษตรเล็กๆน้อยๆก็เหลือปริมาณน้ำอยู่เพียงนิดหน่อย โดยสวนกล้วยใช้วิธีสูบน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติผ่านท่อที่วางระบบไว้ทั่วทุกเนินเขา อย่างไรก็ตามขณะนี้สวนกล้วยที่อยู่บนเนินสูงกำลังเหี่ยวเฉาอย่างเห็นได้ชัดเพราะขาดแคลนน้ำ แต่ต้นกล้วยที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มและใกล้ลำห้วยซึ่งยังมีความชุ่มชื่นอยู่ยังคงงอกงามและออกเครือใหญ่
นอกจากนี้ยังพบว่าบริเวณริมถนนที่เชื่อมต่อสวนกล้วยเต็มไปด้วยถุงพลาสติกและกระดาษโฟมที่ใช้แล้วและเหลือทิ้งจากการห่อเครือกล้วย โดยคนงานสวนกล้วยกำจัดขยะเหล่านี้ด้วยวิธีการเผาบนถนน ห่างกันเป็นหย่อมๆตลอดแนว ทำให้กลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ขณะเดียวกันยังพบถุงปุ๋ยเคมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่นเดียวกับถังที่มียากำจัดศัตรูพืชที่ผสมน้ำซึ่งมีกลิ่นฉุนวางเรียงรายตามจุดต่างๆ
ชาวบ้านห้วยทรายรายหนึ่งเปิดเผยว่า นักธุรกิจจีนได้เข้ามาเช่าที่ดินในบริเวณนี้ปลูกกล้วยหอมมาแล้วราว 1 ปีโดยจ่ายค่าเช่าให้กับชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดินไร่ละ 4,000 บาทต่อปี ซึ่งเดิมที่ดินบริเวณนี้ชาวบ้านใช้ทำไร่ทำนาในยามหน้าฝนและเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ในยามหน้าแล้ง แรกทีเดียวก็ไม่มีใครคิดว่าการปลูกกล้วยจะเกิดผลกระทบตามมามากมาย แต่เมื่ออยู่ๆไปสวนกล้วยกลับสูบน้ำในลำห้วยไปใช้จำนวนมาก จนทำให้น้ำแห้ง นอกจากนี้ยังมีการสูบน้ำบาดาลมาใช้อีก ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า
“สวนนี้แค่แห่งเดียว ยังใช้น้ำมากมาย แต่บริเวณลึกเข้าไป คนจีนมาเช่าที่ดินปลูกกล้วยอีกไม่รู้กี่พันไร่ เขาใช้สารเคมีหนักมาก บางพื้นที่ เช่น บ้านน้ำปุง ลำห้วยทั้งสายเน่าเสียหมดเพราะมีแต่สารเคมีมาก ชาวบ้านเลยร้องเรียนไปยังแขวง”ชาวบ้านรายนี้กล่าว และว่าในส่วนของคนงานนั้น ส่วนใหญ่นักธุรกิจจีนจ้างแรงงานมาจากพม่า บางส่วนก็เป็นชาวม้ง และมีจำนวนไม่น้อยที่เจ็บป่วยเป็นผื่นตามผิวหนังจนต้องเข้าโรงพยาบาล บางรายถึงขนาดเสียชีวิต

ชาวบ้านเล่าด้วยว่า หลังจากมีการปรับเปลี่ยนเจ้าแขวงบ่อแก้ว ทำให้มีคำสั่งห้ามเพิ่มพื้นที่ปลูกกล้วย เนื่องจากเกิดผลกระทบมากมาย แม้แต่ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวก็ประสบปัญหาเช่นกัน เพราะหากสัตว์เข้าไปกินต้นกล้วยในสวนของนักธุรกิจจีนก็จะถูกปรับต้นละ 1,000 บาท แต่ในความเป็นจริงแล้วก็แทบไม่มีชาวบ้านอยากเอาสัตว์ไปเลี้ยงไว้ใกล้สวนกล้วยเพราะกลัวว่าสัตว์จะตายเพราะสารเคมีที่ตกค้างอยู่ตามต้นไม้แลพื้นดิน
“เมื่อก่อนพอหน้าแล้ง เราเคยปลูกผักกินกัน แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะแทบไม่มีน้ำใช้ สมัยก่อน ในช่วงสงกรานต์ เราช่วยกันจับปลาในลำห้วยมากินกัน แต่ปีนี้แทบไม่มีปลาเหลืออยู่เลย อยากฝากไปถึงพี่น้องฝั่งไทย ว่าอย่าให้สวนกล้วยข้ามไปเลย เดี๋ยวจะต้องเผชิญสถานการณ์เลวร้ายแบบเดียวกับเรา”ชาวบ้านเมืองห้วยทรายรายนี้ กล่าว
ขณะที่นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า ปัญหาของสวนกล้วยจีนสะท้อนภาพใหญ่ของกลไกที่ไม่เป็นธรรมในการจัดการด้านเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นการเอาใจทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาโดยระบบราชการยังไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการที่ดี ท้ายที่สุดเกษตรกรและคนเล็กคนน้อยต้องถูกทำลายหมด มีเพียงนายทุนและนายทุนแอบแฝงมากับอำนาจเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์
“สวนกล้วยหอมจีนเป็นตัวอย่างชัดเจนของความรุนแรงที่ทุนไหลบ่าข้ามแดนเข้ามีโดยมีรัฐของบ้านเมืองนั้นๆให้การรับรอง ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือระหว่างทุนกับอำนาจที่ลงตัว หากรัฐบาลไทยยังมองไม่เห็นปัญหานี้ก็แย่แล้ว เพราะแม้แต่รัฐบาลลาวที่ใกล้ชิดกับจีนขนาดไหน เขายังบอกให้พอ”นายนิวัฒน์ กล่าว
นายนิวัฒน์กล่าวว่า กรณีสวนกล้วยหอมจีนที่ลามเข้ามาในประเทศไทยนั้น หากชาวบ้านไม่โวยวายก็ยังคงไม่เป็นประเด็นที่ราชการสนใจ และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีนโยบายแก้ปัญหาได้ ซึ่งทางที่ดีรัฐบาลต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนเพื่อให้ผลประโยชน์จะตกอยู่กับชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่ผลประโยชน์ 100 แต่ชาวบ้านได้ไม่ถึง 10 แถมยังมีสารพิษเต็มไปหมด
“การทำเกษตรแบบนี้ 1-2 ปีอาจยังเห็นผลกระทบไม่ชัด แต่ในลาวหลายพื้นที่เขาปลูกกล้วยหอมจีนมาหลายปี ปัญหามันเลยชัดเจน ทั้งน้ำเสีย คนป่วย คนตาย ลองคิดดูหากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นกับทุกสายน้ำในไทย มันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะเราไม่มีการจัดการหรือควบคุมใดๆในระดับรัฐเลย”นายนิวัฒน์ กล่าว
//////////////////////