
ชาวบ้านในพื้นที่ต้นน้ำในรัฐคะฉิ่นเรียกร้องประธานาธิบดี อูถิ่นจ่อและรัฐบาล NLD ยุติโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตส่ง บนแม่น้ำอิรวดีอย่างถาวร ระบุ ชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินทำกินให้กับโครงการเขื่อนต้องการกลับบ้าน โดยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมได้มีการรวบรวมรายชื่อ 1,080 คน ยื่นให้กับประธานาธิบดีพม่าเพื่อทบทวนโครงการนี้โดยด่วน

“หากรัฐบาลใหม่ไม่ยุติโครงการนี้ ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร หัวใจของพวกเราบอบช้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก” นาย จา กว่าว หนึ่งในชาวบ้านจากหมู่บ้านตันเป กล่าว ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ถูกยึดที่ดินทำกินไปสร้างโครงการเขื่อนมิตส่ง
จากข้อมูลพบว่า ระหว่างปี 2552-2553 มีชาวบ้าน 437 หลังคาเรือน จาก 2,575 คน ถูกบังคับย้ายถิ่นฐานเนื่องจากโครงการเขื่อนมิตส่ง แม้ชาวบ้านจะถูกย้ายไปอยู่ยังหมู่บ้านแห่งใหม่ชื่อ “อ่องมินตา สั่นเปี๊ยะ” แต่ก็พบว่าชาวบ้านต้องประสบปัญหายากลำบากในการดำรงชีวิต เนื่องจากไม่มีพื้นที่ทำกิน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางส่วนเชื่อว่า รัฐบาลใหม่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้
หากมีการกลับมาก่อสร้างเขื่อนมิตส่ง บนแม่น้ำอิรวดี แม่น้ำเส้นเลือดใหญ่สายสำคัญในพม่า ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อคนที่อยู่ต้นน้ำอย่างในรัฐคะฉิ่น แต่ยังจะส่งผลกระทบต่อคนท้ายน้ำทางภาคกลางของพม่า
เขื่อนมิตส่งเป็นการลงทุนร่วมระหว่างบริษัทของจีนและรัฐบาลทหารชุดก่อน อย่างไรก็ตาม ถูกประชาชนต่อต้านอย่างหนักจนต้องยุติการก่อสร้างไว้ชั่วคราวเมื่อปี 2554 ในยุคของเต็งเส่ง อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ ทางจีนมีความพยายามที่จะต้องการกลับมาฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้อีกครั้ง อ้างว่าได้ลงทุนในโครงการนี้ไปเป็นจำนวนมาก
อีกด้านหนึ่ง ประชาชนในเมืองทวาย ทางใต้ของพม่าได้ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ0 ที่บริษัทจีน Chinese developer Guangdong Zhenrong Energy Co. และบริษัทของกองทัพพม่า อย่างบริษัท Union of Myanmar Economic Holdings Limited บริษัท state-owned Myanma Petrochemical Enterprise (MPE) และบริษัทในเครือ Htoo Group อย่างบริษัท Yangon Engineering Group จะเข้ามาร่วมลงทุน มีรายงานว่า มีการอนุมัติโครงการนี้ในวันสุดท้ายการทำงานของรัฐบาลเต็งเส่ง
โดยบริเวณก่อสร้างโครงการนี้จะอยู่ตรงชายฝั่งทางตอนเหนือของเมืองทวาย ซึ่งมีรายงานว่า เป็นหาดที่เงียบสงบ ขณะที่ชายฝั่งทางตอนใต้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นพื้นที่ทำประมงของชาวบ้าน มีรายงานว่า มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ถูกเปิดเผยออกมาให้ชาวบ้านรับรู้น้อยมาก โดยการประชุมของชาวบ้านที่ผ่านมา ชาวบ้านมีความเห็นตรงกันที่จะต่อต้านโครงการนี้
จนถึงขณะนี้ มีการรวบรวม 2,000 รายชื่อจาก 6 หมู่บ้านเพื่อเรียกร้องหยุดโครงการนี้ ชาวบ้านคนหนึ่งในพื้นที่กล่าวว่า เกี่ยวกับโครงการนี้ได้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ตกใจ เพราะไม่เคยทราบมาก่อน และเชื่อว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ อย่างแน่นอน ระบุหากมีโรงกลั่นน้ำมันอีกฝั่งของชายหาด คงไม่มีใครอยากมาท่องเที่ยวในพื้นที่
ปัจจุบัน การท่องเที่ยวในเมืองทวายนั้นกำลังเติบโต โดยเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา มีตัวเลขนักท่องเที่ยวมากกว่า 331,000 คน เข้ามาท่องเที่ยวที่เมืองทวายผ่านตรงชายแดนเพียงแห่งเดียว หลังการท่องเที่ยวในพื้นที่กำลังเป็นที่นิยมขึ้นมา ทำให้แรงงานที่ไปทำงานอยู่ในประเทศไทยได้กลับมาประกอบกิจการเล็กๆ
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา การทำธุรกิจของจีนในพม่ากำลังถูกชาวบ้านท้องถิ่นต้อต้านอย่างหนัก ไม่เพียงแต่ 2 โครงการที่กล่าวมาข้างต้น ยังรวมถึงเหมืองทองแดงเล็ตปะด่อง ในเขตสะกาย เหมืองผากั้นที่รัฐคะฉิ่นเป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับรัฐบาล NLD ที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชน ในขณะที่ต้องรักษาความสัมพันธ์กับประเทศจีน
ที่มา Mizzima/Myanmar Times
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ