
สำนักข่าวท้องถิ่นพม่ารายงานวันนี้ (13 พฤษภาคม) บริษัทที่ประกอบกิจการเหมืองหยกเกือบ 50 บริษัทตัดสินใจหยุดทำเหมืองผากั้น รัฐคะฉิ่นไว้ชั่วคราวเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ หลังเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ โดยมีเหตุระเบิดเกิดขึ้น 20 ครั้งในรอบเดือนนี้ อีกทั้งเกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารพม่าและทหารคะฉิ่น KIA รอบเหมืองหยกผากั้น นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่เข้าสู่หน้าฝนในเดือนหน้า ทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างยากลำบาก หลายบริษัทจึงตัดสินใจหยุดทำเหมืองไว้ชั่วคราว
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 และ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดใน 2 หมู่บ้านคือหมู่บ้าน “โลนขิ่น” และหมู่บ้าน “เซกมู” เขตเมืองผากั้น รัฐคะฉิ่นถึง 20 ครั้ง โดยเป้าหมายที่ถูกมือระเบิดโจมตีคือ สถานีตำรวจ ค่ายทหาร บริษัท และโรงแรม โดยหลังเกิดเหตุได้สร้างความหวาดกลัวให้กับคนในเมืองผากั้น ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นรถที่เข้าออกเมืองผากั้น และมีการตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
ขณะที่บริษัทที่เข้าไปประกอบการธุรกิจทำเหมืองหยกผากั้นส่วนใหญ่มีสำนักงานอยู่ในหมู่บ้านทั้ง 2 แห่ง ที่เป็นเป้าหมายถูกโจมตี ผู้จัดการจากบริษัทแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า สถานการณ์ในพื้นที่ไม่ปลอดภัยหลังเกิดเหตุการณ์โจมตีหลายครั้ง ดังนั้น ทางบริษัทจึงตัดสินใจที่จะหยุดทำเหมืองชั่วคราว ทางด้านกองทัพพม่าได้ออกแถลงการณ์โจมตี มือระเบิดก่อเหตุคือทหารคะฉิ่น KIA เปิดเผยว่า ทางกองทัพพม่าสามารถเข้ายึดโรงเรียนฝึกอบรมของ KIA นอกจากนี้ยังเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในเมืองผากั้นเป็นจำนวนมาก โดยทั้งสองฝ่ายยังคงปะทะกันต่อเนื่อง
เหมืองหยกผากั้น เป็นเหมืองหยกขนาดใหญ่ สร้างรายได้มหาศาลให้กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทในเครือกองทัพพม่า นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักเป็นสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของยาเสพติด อย่างยาบ้าและเฮโรอีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยคาดว่ามีบริษัทราว 858 บริษัทเข้ามาประกอบการธุรกิจในเหมืองหยกผากั้น
ก่อนหน้านี้ องค์กรเอ็นจีโอ Global Witness ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เผยแพร่รายงานชื่อ Jade: Myanmar’s “Big State Secret” เปิดโปงว่า ธุรกิจการค้าขายหยกในพม่ายังคงถูกควบคุมโดยเครือข่ายของทหารพม่าและนักธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับทหาร เงินจากการค้าขายหยกจำนวนมหาศาลก็ยังคงเข้ากระเป๋าบริษัทที่เป็นของครอบครัวผู้นำในกองทัพพม่า โดยเมื่อปี 2557 หยกที่สกัดออกมาได้จากเหมืองหยกในรัฐคะฉิ่นมีมูลค่าสูงถึง 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี 2556 – 2557 บริษัทที่เชื่อมโยงกับครอบครัวของตานฉ่วย อดีตประธานาธิบดี มีเงินเข้ากระเป๋าจากการค้าหยกอยู่ที่ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดกันว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หยกทำรายได้ให้กับบรรดานายพลพม่าไปแล้วกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา Myanmar Times/Eleven Media Group
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ