
แรงงานพม่าจำนวน 16 คน ที่ถูกขายให้เรือประมงไทยที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับการช่วยเหลือเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแรงงานทั้งหมดจะได้รับการช่วยเหลือให้เดินทางกลับพม่าภายในวันนี้ (17 พ.ค.)โดยแรงงานทั้งหมดที่ตกเป็นเหยื่อเรือประมงนรกมีอายุระหว่าง 21- 64 ปี มีรายงานว่า ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและองค์กรช่วยเหลือแรงงานพม่า สามารถช่วยเหลือแรงงานชาวพม่าที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ได้แล้วกว่า 167 คน
ทั้งนี้ สมาคมพม่าในประเทศไทย (Myanmar Association in Thailand-MAT)ได้ร่วมมือกับสถานทูตพม่าจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองแรงงานพม่า (The Myanmar Worker’s Protection Committee) เพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยมีข้อมูลพบว่า ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา จากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งจากองค์กรพม่าอย่าง MAT และ DSI รวมไปถึงกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) สามารถช่วยเหลือปล่อยตัวเหยื่อที่ถูกหลอกไปขายแล้วจำนวน 167 คน และระหว่างปี 2554 – 2558 สามารถช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้แล้วทั้งสิ้น 900 คน
มีรายงานว่า แรงงานที่ได้รับการช่วยเหลือเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่ได้รับค่าจ้างนานกว่า 1 ปีแล้ว นอกจากนี้ระหว่างอยู่บนเรือยังถูกทรมานและถูกทำร้ายร่างกายอีกด้วย “ผมและคนอื่นๆ ถูกตีด้วยไม้และหางปลากระเบน” นายโกเย เหยื่อจากรัฐกะเหรี่ยงกล่าว โดยเหยื่อรายนี้ถูกหลอกว่าจะได้งานที่โรงงานเครื่องดื่มแห่งหนึ่ง แต่ท้ายสุดพบว่าตัวเองถูกหลอกไปขายให้เรือประมง
“ก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือ เราได้รับเงินเพียง 100- 200 บาท เมื่อเรือขึ้นฝั่ง” นายละมิ้น วัย 63 ปี ชายหูหนวกจากเมืองทวาย เขตตะนาวศรี ซึ่งถูกหลอกมาขายทำงานในเรือเกือบ 3 ปีกล่าว โดยเพิ่งได้รับค่าจ้างหลังจากที่ได้รับการช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า เขาต้องการกลับบ้านเพราะเหน็ดเหนื่อจากการทำงาน โดยคาดว่า แรงงานทั้งหมดจะได้กลับพม่าภายในวันนี้ 17 พฤษภาคมนี้
ด้านนายจ่อต่อว์ง ผู้อำนวยการสมาคมพม่าในประเทศไทย (Myanmar Association in Thailand-MAT) กล่าวว่า แรงงานกลุ่มนี้โชคดีที่จะได้กลับบ้านในเร็วๆ นี้ เพราะแรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือยังคงถูกคุมขังที่สถานีตำรวจเพราะไม่มีเอกสาร และถูกกักตัวไว้เพื่อเป็นพยานในคดีอื่นๆ เช่นกลุ่มแรงงาน 32 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือจากภูเก็ตจากเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายจ่อต่อว์งยังเปิดเผยว่า เหยื่อส่วนใหญ่ติดต่อมาหาทางกลุ่มผ่านสายด่วนที่พบเห็นได้จากสังคมออนไลน์
ที่มา Irrawaddy
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ