วันนี้ (18 พ.ค.)ตั้งแต่เมื่อเวลา 10.00 น.กองทัพพม่าได้เปิดฉากโจมตีทหารไทใหญ่ SSPP/SSA (พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉานเหนือ) อย่างหนัก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกองบัญชาการใหญ่บ้านไฮเมืองสู้ โดยยังพบทหารพม่าใช้เครื่องบินรบโจมตีและจับกุมชาวบ้านเป็นชายไปจำนวน 3 คน จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม
ก่อนหน้าที่กองทัพพม่าจะเปิดฉากโจมตีทหารไทใหญ่ ได้เพิ่มกำลังพลราว 300 นาย และเข้าโจมตีทหารไทใหญ่ SSPP/SSA ที่ปักหลักอยู่ที่ตำบลน้ำม้า ทางใต้ในเขตเมืองสี่ป้อ ทางเหนือรัฐฉาน ทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันอย่างหนัก โดยกองทัพพม่ายังได้ใช้เครื่องบินรบจำนวน 2 ลำ ยิงใส่ฝ่ายตรงข้ามด้วย มีรายงานว่า ชาวบ้านที่หมู่บ้าน “บ้านโหลง” ซึ่งมีหลังคาเรือน 80 หลัง ชาวบ้านกว่า 300 คน ได้อพยพไปอยู่ที่ตัวเมืองสี่ป้อและเมืองล่าเสี้ยวในวันนี้
มีรายงานว่า ระหว่างที่เกิดเหตุสู้รบ มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ไปทำไร่นาได้เดินทางกลับบ้านและอพยพออกจากพื้นที่ แต่ระหว่างทางได้เจอกับกลุ่มทหารพม่า มีรายงานว่า ชาย 3 คน ถูกทหารพม่าจับกุมตัวไป เช่นเดียวกับผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งถูกทหารพม่าไล่ให้กลับไปในไร่ที่ตั้งอยู่ตามป่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมและสร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านที่ทราบข่าว หวั่นว่าชาวบ้านทั้งหมดจะไม่ได้รับความปลอดภัย
ทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร SSPP/SSA วิเคราะห์สถานการณ์สู้รบล่าสุดว่า สาเหตุน่าจะมาจากที่กองทัพพม่าไม่พอใจที่ต้องสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก ระหว่างที่สู้รบกับทหารไทใหญ่ SSPP/SSA ในเขตเมืองจ้อกเมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การกลับมาโจมตีทหารไทใหญ่ SSPP/SSA เชื่อว่าน่าจะมาจากสาเหตุที่ทหารไทใหญ่ไม่ยอมถอนทัพออกจากดอยเจ้และดอยลาง ในเมืองต้างยาน เขตยุทธศาสตร์สำคัญทางทหาร ใกล้แม่น้ำสาละวิน ตามที่กองทัพพม่าสั่งภายในวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีการวิเคราะห์ว่า หากทางกองทัพพม่าสามารถยึดพื้นที่นี้ได้ ก็จะง่ายต่อการเข้าไปรบในเขตของกองทัพว้า อย่างเช่นที่เมืองป๋างซาง ซึ่งว้าเป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุด
นอกจากในพื้นที่นี้แล้ว ในพื้นที่อื่นๆทางเหนือของรัฐฉานยังพบการทำสงครามกันระหว่างทหารไทใหญ่ RCSS/SSA หรือ SSA ใต้ ภายใต้การนำของเจ้ายอดศึก และระหว่างทหารปะหล่อง TNLA กับทหารพม่า โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีรายงานข่าวสู้รบในพื้นที่รัฐอื่นๆระหว่างทหารพม่าและทหารคะฉิ่น KIA ในรัฐคะฉิ่น และทหารพม่ากับทหารยะไข่ หรือกองทัพอาระกัน (Arakan Army)ในรัฐอาระกัน โดยปัญหาความขัดแย้งในพม่าเป็นอีกปัญหาท้าทายสำหรับรัฐบาล NLD ขณะที่ 3 กระทรวงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชายแดนและทหารทั้งหมด ถูกควบคุมโดยกองทัพ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2008 (2551)
ที่มา เว็บไซต์ข่าวไทใหญ่ Panglong/สำนักข่าวชายขอบ