เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ค่ายเลวา ศูนย์บัญชาการใหญ่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(เคเอ็นยู) จังหวัดพะอัน ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมสภากะเหรี่ยง พล.อ.บอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.สส.)เคเอ็นแอลเอ ได้แถลงถึงท่าทีในการส่งกลับผู้ลี้ภัยตามศูนย์อพยพต่างๆชายแดนไทยกลับคืนสู่พม่า ว่าจริงๆแล้วการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศในสัญญาหยุดยิงนั้น เพื่อให้เกิดความสงบสุขในประเทศพม่าและเพื่อให้ผู้ลี้ภัยฝั่งไทยและผู้พลัดถิ่นในประเทศพม่าได้กลับไปสู่พื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง แต่หลังจากมีรัฐบาลใหม่ การทำงานของคณะทำงานเรื่องหยุดยิงก็ยังไม่มีความคืบหน้า อาจเป็นเพราะช่วงเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลและดำเนินการภายใต้กองทัพ ทั้งๆที่เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ
พล.อ.บอ จ่อ แฮ กล่าวว่าเคเอ็นยูควรมีคณะกรรมชุดหนึ่งที่ทำงานร่วมกับผู้ลี้ภัยฝั่งไทยเพราะหลังจากมีกระแสข่าวว่ามีการเตรียมพื้นที่รองรับผู้ลี้ภัยกลับประเทศบ้านเกิด ตนได้พบกับประธานผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง(เคอาร์ซี) ซึ่งได้เดินทางไปพบตัวแทนรัฐบาลพม่าเมื่อไม่นานนี้ เมื่อเขาถามถึงแผนรองรับของทางการพม่ากลับไม่มีการเตรียมการใดๆ เมื่อเคเอ็นยูได้ข้อมูลเช่นนี้ จึงมองว่าการจัดตั้งคณะกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เคเอ็นยูควรรับผิดชอบ
รองผบ.สส.กล่าวว่า ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1976-7 กองทัพพม่าเริ่มนโยบายตัด 4 ตัดซึ่งเปลี่ยนจากการรบกับทหารเป็นการรบกับชาวบ้าน ขณะนั้นประชาชนเริ่มต้องหนีออกจากหมู่บ้านของตัวเอง และเคเอ็นยูเป็นฝ่ายประสานให้ชาวบ้านลี้ภัยเข้ามาอยู่ประเทศไทย ขณะนี้ถึงเวลาส่งกลับแล้ว ในเมื่อเราประสานตั้งแต่ต้นก็ต้องเตรียมการให้เขากลับด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าในขณะที่รัฐบาลไทย และรัฐพม่า รวมถึงยูเอ็นเอชซีอาร์มีคณะกรรมดูแลเรื่องผู้ส่งกลับ แล้วเคเอ็นยูจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร พล.อ.บอจ่อ กล่าวว่ารัฐบาลไทยและพม่าก็ทำไป แต่ในส่วนของเคเอ็นยูก็ต้องมีการจัดตั้งคณะทำงานด้านนี้เพื่อทำงานร่วมกัน โดยประสานกับรัฐบาลไทย รัฐบาลพม่า และยูเอ็นเอชซีอาร์
“สิ่งสำคัญคือตอนนี้แม้จะมีการลงนามหยุดยิงกันแล้ว แต่กองทัพพม่ายังไม่ได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่บางส่วนของรัฐกะเหรี่ยง ขณะเดียวกันก็มีการปรับโครงสร้างทหารพม่าให้ใหญ่ขึ้น บางพื้นที่มีการเสริมกำลัง บางพื้นที่มีการทำฐานที่มั่นให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเหมือนการปลูกต้นไม้ ที่เรายังไม่เห็นการเติบโตชัดเจน แต่หากปล่อยไปก็เหมือนต้นไม้ที่ใหญ่ขึ้น และสุดท้ายยากที่จะแก้ไข ดังนั้นง่ายนิดเดียวหากกองทัพพม่าถอนกำลัง ก็จะสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้ชาวบ้านที่จะกลับไป”พล.อ.บอ จ่อ แฮ กล่าว
รองผบ.สส.กล่าวว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยในการรับผู้ลี้ภัยกลับประเทศคือ 1.ความปลอดภัย 2.การจัดการด้านการศึกษา 3.การจัดการด้านสาธารณสุข เพราะขณะที่ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ต้องการกลับไปยังบ้านเดิมตัวเอง แต่สิ่งที่รัฐบาลพม่าจัดสรรตอนนี้คือไม่ใช่พื้นที่บ้านเกิดของพวกเขาซึ่งก็เหมือนการย้ายผู้ลี้ภัยจากที่หนึ่งไปยังที่ใหม่ ถ้ามีคณะกรรมการที่จะเกิดขึ้นของเคเอ็นยู ซึ่งก็จะมีการหารือกันว่าจะจัดสรรให้กลับไปอยู่ถิ่นเดิมของตัวเอง แต่บางพื้นที่ที่เปลี่ยนสภาพเช่นมีการสร้างเขื่อน เราก็จะจัดพื้นที่ที่เหมาะสมใกล้เคียงกับพื้นที่เดิมที่เคยอยู่ และสุดท้ายเมื่อการเตรียมการเสร็จก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยได้เข้าไปเยี่ยมชมดูก่อนเพื่อตัดสินใจเองโดยไม่ใช้กระบวนการบังคับ ขณะเดียวกันผู้ลี้ภัยที่อยู่ในไทย บางกลุ่มอยู่กว่า 40 ปีแล้ว ดังนั้นคณะกรรมต้องคัดกรองว่าเป็นผู้หนีภัยสงครามมาตั้งแต่เบื้องต้นและยังมีถิ่นที่อยู่เดิมหรือไม่ เพราะรูปแบบการลี้ภัยอยู่ในค่ายระยะหลังเปลี่ยนไป
“เรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนที่เคเอ็นยูต้องดำเนินการ เพราะหากไม่ทำอะไรก็เหมือนเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ต่อประชาชนของตัวเอง” พล.อ.บอ จ่อ แฮ กล่าว และว่าในส่วนกรณีความคืบหน้าเรื่องการรวมกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆของกะเหรี่ยงให้เป็นหนึ่งเดียวนั้น เมื่อเดือนก่อนได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างกลุ่มต่างๆที่จะทำงานร่วมกัน แต่การจะให้เป็นหนึ่งเดียวกันนั้น ยังต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกัน
———————–