ชุมชนชาวคะฉิ่นที่ตั้งอยู่ในบริเวณเหมืองหยกผากั้นได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดระเบียบการทำเหมืองหยกในรัฐคะฉิ่น ทางเหนือของประเทศ ร้องเรียนเหมืองหยกส่งผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ในพื้นที่ ชี้ช่วงหลายปีที่ผ่านมีภูเขากว่า 50 ลูก ในรัศมี 30 กิโลเมตรถูกทำลายเสียหาย นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดดินถล่มในพื้นที่หลายครั้ง เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตของคนท้องถิ่น
“ในอดีตนั้น ภูเขาสูงกว่าหมู่บ้านของเรา แต่เดี๋ยวนี้ภูเขากลับถูกทำลายลง ความสูงลดลงราว 122 – 152 เมตร เรานอนไม่หลับ เพราะกลัวดินถล่ม” นางเยลเจอ วัย 58 ปี จากหมู่บ้าน ไส่จ่าโบ่นกล่าว โดยยังกล่าวร้องเรียนว่า หน่วยงานท้องถิ่นไม่ทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองที่ก่อให้เกิดดินถล่ม หญิงวัย 58 รายนี้ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2532 ถูกสั่งให้ย้ายที่แล้ว 4 ครั้ง
เมื่อเร็วๆ นี้ นักเคลื่อนไหวและชุมชนท้องถิ่นชาวคะฉิ่นที่ได้รับผลกระทบได้ออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการทำเหมืองหยก โดยเรียกร้องให้รัฐบรรเทาผลกระทบอย่างหนักที่เกิดต่อสิ่งแวดล้อมและยื่นผลประโยชน์บางส่วนให้กับชุมชนบ้าง
เหมือนเช่นเมื่อวันที่ 25 มีนาค ที่ผ่านมา 10 องค์ภาคสังคมจากรัฐคะฉิ่นและย่างกุ้งได้จัดแถลงข่าวที่เมืองผากั้น เรียกร้องให้รัฐบาลระงับการทำเหมืองหยกทั้งหมด จนกว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถบังคับใช้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ โดยเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเปิดเผยเจ้าของแต่ละบริษัท รวมถึงเปิดเผยรายได้ของแต่ละบริษัท อีกทั้งเรียกร้องให้ตรวจสอบว่าบริษัทที่มาประกอบการได้ทำตามกฎระเบียบหรือไม่เป็นต้น
ด้าน Mike Davis ผู้อำนวยการองค์กร Global Witness’ Asia กล่าวว่า ประชาชนท้องถิ่นเรียกร้องให้ระงับการทำเหมืองหยกจนกว่าจะมีการปฏิรูป เนื่องจากกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม ซึ่งนาย Mike Davis กล่าวว่า เห็นด้วยกับความคิดนี้ ขณะที่รัฐบาล NLD รับปากจะปฏิรูปการทำเหมืองหยกในพม่า โดยในช่วงที่ผ่านมาเริ่มระงับการออกใบอนุญาตประกอบการเพิ่ม
ส่วน นาย ลามา ลาทอง ผู้อำนวยการจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแห่งชาติคะฉิ่น (Kachin National Development Foundation) ชี้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีภูเขามากถึง 50 ลูก ในรัศมี 30 กิโลเมตรถูกทำลายลง และนับตั้งแต่ปี 2548 บริษัทต่างๆเริ่มใช้เครื่องมือหนักเพื่อเร่งสกัดเอาหยก ตามรายงานเมื่อเร็วๆนี้ ในปี 2558 มีแรงงานที่ทำงานตามกองดินขยะของเสียจากเหมืองราว 300,000 คน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานที่ไม่มีความปลอดภัย
โดยนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ดินถล่มแล้ว 13 ครั้งที่เหมืองหยกผากั้น มีร่างของแรงงานเหมืองจำนวน 114 คนถูกฝังอยู่ใต้ดินถล่ม นอกจากนี้ปัญหามลพิษ ปัญหายาเสพติด อาชญากรรมก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญ
ที่มา Hted Khaung Linn/Myanmar Now
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ