
นาย Hong Liang เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่าและนักลงทุนจากบริษัท China Power Investment (CPI)ได้เดินทางเยือนเมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้เดินทางพบกับรัฐบาลท้องถิ่น รวมไปถึงนักการเมืองในพื้นที่ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมทำให้ประชาชนหันกลับมาสนับสนุนโครงการเขื่อนมิตส่ง บนต้นน้ำอิรวดี ระบุ หากโครงการนี้เกิดขึ้นจะทำให้ท้องถิ่นมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
มีรายงานว่า คณะเอกอัครราชทูตจีนได้หารือกับรัฐบาลท้องถิ่นเกี่ยวกับการพัฒนาบริเวณชายแดน ประเด็นเรื่องสันติภาพและการค้า เป็นต้น โดยทางคณะจีนได้บอกกับรัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมภาคประชาชนให้หันกลับมาสนับสนุนโครงการเขื่อนมิตส่ง ที่ถูกระงับไว้หลังถูกต่อต้านอย่างหนักในยุคของรัฐบาลเต็งเส่ง ขณะที่ทางรัฐบาลท้องถิ่นกล่าวกับทางจีนว่า เรื่องโครงการเขื่อนมิตส่งนั้นจะให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเอง
นาย Hong Liang กล่าวว่า เขาอยากให้โครงการเขื่อนมิตส่งดำเนินต่อไปและต้องการที่จะสื่อสารกับประชาชน ในโอกาสเยือนรัฐคะฉิ่น มีรายงานว่า จีนได้พบกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ด้วย อย่างไรก็ตาม นายจายเต็ง จากชุมชนไทใหญ่ในรัฐคะฉิ่นแสดงความคิดเห็นว่า ชุมชนของเขาไม่ทราบเกี่ยวกับโครงการ เพราะรัฐบาลและบริษัทไม่มีการแจ้งให้ทราบ ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำอิรวดีในรัฐคะฉิ่น ต่างรู้สึกกังวลใจหากโครงการเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดผลกระทบใดบ้างตามมา
ขณะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพม่าอย่าง ดร.จ่อทุ แสดงความคิดเห็นว่าโครงการเขื่อนไม่ควรจะดำเนินการต่อ และในขณะนี้ทุกคนต่างมีความหวังที่จะเห็นสันติภาพภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ นอกจากนี้ยังกล่าวว่า จีนไม่ได้ทำตัวเป็นเพื่อนบ้านที่ดีนัก โดยยกตัวอย่างเช่น จีนสามารถช่วยได้ในเรื่องของการเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นว้าและความขัดแย้งด้านกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ดร.จ่อทุน ระบุว่า จีนอาจจะต้องเปลี่ยนนโยบายทางการทูตกับพม่าใหม่
ด้านกลุ่มเครือข่ายสีเขียวพม่า (Myanmar Green Network) มีท่าทีชัดเจนที่จะต่อต้านโครงเขื่อนมิตส่ง “พวกเราต่อต้านโครงการนี้มาตลอด มีทางเลือกมากมายที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างในพื้นที่แห้งแล้งก็สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้จากโซล่าเซลล์ เราไม่ต้องการเขื่อนขนาดใหญ่ หากโครงการดำเนินต่อไป ก็จะไม่มีการหารือสันติภาพ” เดไว ตาน ซิน จากกลุ่มเครือข่ายสีเขียวพม่ากล่าว
อีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า ระหว่างที่คณะเอกอัครราชทูตจีนเยือนมิตจีนา มีประชาชนบางส่วนอกมาประท้วงการมาเยือนของเจ้าหน้าทื่จีน พร้อมกับชูป้ายไม่เอาเขื่อนและขับไล่คณะของเอกอัครราชทูตจีนและเจ้าหน้าที่บริษัท CPI ออกจากรัฐคะฉิ่นอีกด้วย
ทั้งนี้ พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนมิตส่งอยู่บริเวณต้นนำอิรวดี จุดที่มีแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำเมขะและแม่น้ำมาลิขะไหลมารวมกัน เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญด้านมรดกวัฒนธรรมของชาวคะฉิ่น เขื่อนมิตส่งบนต้นน้ำอิรวดีไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อคนต้นน้ำในรัฐคะฉิ่นเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบต่อชุมชนคนท้ายน้ำ ชุมชนชาวพม่าที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำอิรวดีด้วย โครงการเขื่อนมิตส่งถูกยกเลิกไปในปี 2554 ในยุครัฐบาลเต็งเส่ง หลังถูกต่อต้านอย่างหนักจากภาคประชาชน
ที่มา Eleven Media Group
แปลและเรียบโดย สำนักข่าวชายขอบ