เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2559 นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร พร้อมคณะได้ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล หลังชาวอุรักลาโว้ยได้ร้องเรียนถึงปัญหาข้อพิพาททางที่ดินระหว่างชุมชนชาวเลและเอกชน รวมทั้งปัญหาความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกิน โดยมีชาวเลร่วมให้ข้อมูล
นางแมะบน หาญทะเล อายุ 80 ปี เล่าให้คณะของกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า ปัจจุบันชาวเลบนหลีเป๊ะเผชิญกับความทุกข์หลายด้าน โดยในแต่ละวันมีนายทุนจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่และแจ้งให้ชาวเลรื้อบ้านออกจากที่ดิน โดยครอบครัวของตนพร้อมญาติจำนวน 10 ครัวเรือนต้องเดินทางเข้า-ออกระหว่างเกาะหลีเป๊ะและจังหวัดสตูลเพื่อต่อสู้ทางคดีพิพาทที่ดินอยู่เสมอ เพราะนายทุนฟ้องดำเนินคดีและสั่งหรือถอนบ้าน โบสถ์ รวมทั้งสุสานที่ฝังศพสามีของตนและญาติ ๆ ทั้งที่ชาวเลอยู่มาก่อหลายรุ่น ตนจำได้ดีว่า เมื่อสมัยยังสาวเคยเฝ้าสมเด็จย่า และได้รับพระราชทานนามสกุลมาจนถึงปัจจุบัน จึงอยากจะอยู่อาศัยในที่ดินดั้งเดิม (ชุมชนอูเส็น) และอยากให้กสม. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ชาวเลได้รับความยุติธรรมกลับมา
ด้านนายทวยเทพ หาญทะเล ชาวเลกล่าวว่า นอกจากปัญหาข้อพิพาทที่ดินแล้ว ชาวเลที่ทำอาชีพประมงยังประสบปัญหาเรื่องข้อจำกัดของพื้นที่ทำกินทางทะเลที่อุทยานแห่งชาติได้ประกาศเขตอุทยานและมีการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องก็เริ่มออกกฎเรื่องการจอดเรือทำให้ขณะนี้ชาวเลที่มีอาชีพขับเรือประมงและเรือรับจ้างท่องเที่ยว เผชิญกับความลำบากใจเกี่ยวกับข้อจำกัดที่แต่ละหน่วยงานได้ออกเป็นนโยบายมา
“เรื่องออกเรือของพวกผม ล่าสุดก็เริ่มมีคำสั่งไม่ให้จอดเรือในพื้นที่ดำน้ำของนักท่องเที่ยว ส่วนเรื่องหาปลาในทะเลชาวเลก็หากินได้อย่างไม่เต็มที่เพราะเกรงว่า ถ้าออกหาปลาในพื้นที่ต้องห้าม อาจถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้ ทุกอย่างถูกออกกฎข้อบังคับเพื่อการอนุรักษ์ แต่เป็นเรื่องแปลกนะ เรือเร็วของโรงแรมบางแห่งนำเที่ยวได้ด้วยตนเองทั่วทั้งเกาะ แต่เรือของชาวเลทำไมถึงมีข้อจำกัด ผมอยากให้หน่วยงานรัฐมีความเป็นธรรมกับการบริหารการท่องเที่ยวมากกว่านี้” นายทวยเทพ กล่าว
ด้านนางสายใจ หาญทะเล กล่าวว่า อีกปัญหาของชาวเล คือ การที่นายทุนสร้างอาคารที่พักทับคลองชุมชน และปิดทางเข้าออกสาธารณะที่สามารถเดินไปสู่หาด โดยล่าสุดเป็นการปิดทางใกล้กับโรงเรียนบ้านอาดัง ตนในฐานะตัวแทนชาวเลจึงอยากขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจรจากับนายทุน เพื่อเปิดทางให้ชาวเลได้ใช้สัญจรอย่างปกติ
นางเตือนใจ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้รับทราบปัญหาของชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะหลายด้าน ทั้งการถูกเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ชุมชนเก่าที่อยู่มาแล้วอย่างน้อยประมาณ 4 รุ่น โดยชาวบ้านบางส่วนแจ้งว่า ชาวเลรุ่นก่อนมีการแจ้งครอบครองแบบสค.1 ตั้งแต่ปี 2497 แต่ไม่มีใครออกเป็นเอกสารนส.3 หรือโฉนด และพบว่า ผู้ที่มีเอกสารครอบครองส่วนมากเป็นนักลงทุนจากภายนอกที่มาซื้อที่ดิน หรือทำสัญญาเช่าจากคนในพื้นที่บางรายเท่านั้น อีกทั้งเจ้าของที่ดินบางรายมีการนำเอกสารสค.1 ไปออกเป็นนส.3 รูปลอยที่มีเนื้อที่แต่ละแปลงใหญ่กว่าพื้นที่ตามรังวัดสค.1 นี่คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับชาวเลดั้งเดิม
นางเตือนใจกล่าวว่า ขณะนี้ชาวเลเกาะหลีเป๊ะจึงนับเป็นชุมชนพื้นเมืองที่ถูกละเมิดสิทอย่างรุนแรง กสม.จึงคิดว่าจะนำปัญหานี้ไปประชุมร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ในวันที่ 13 มิถุนายน ทั้งนี้นอกจากการรับฟังปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงบางส่วนในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะแล้ว กสม.อยากจะผลักดันให้ประเทศไทยลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และจัดทำนโยบายคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมืองต่อไป ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้ให้สัตยาบันปฏิญญาสากลดังกล่าว