ฉากหนึ่งในหนัง “Salam Neighbor” ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้อพยพจากสงครามในประเทศซีเรียมายังค่ายลี้ภัยซาอาทารี ประเทศจอร์แดน ค่ายผู้ลี้ภัยสงครามที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นหนังเปิดตัวเทศกาลหนังผู้ลี้ภัยโลก ปี 2559 เรียกน้ำตาผู้ชมอย่างมากด้วยคำพูดของเด็กชายราอูฟ ที่ฝันอยากเป็นหมอ ทั้งที่ปัจจุบันเขาเป็นแค่เด็กลี้ภัยซึ่งไม่เคยไปโรงเรียนในค่ายเลยสักครั้ง โดยให้เหตุผลว่า การไปโรงเรียนในที่ใหม่จะเป็นความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีด้วยระเบิดอีกครั้ง เหมือนอย่างโรงเรียนเก่าในประเทศซีเรียและเขากับครอบครัวต้องหนีตายอีกรอบ
“ผมไม่อยากไป อย่าบังคับผมไปเลย ผมจำได้วันที่โรงเรียนระเบิด มีฝุ่นตลบ มีไฟลุก ตอนนั้นผมใจสลายและไม่รู้จะหาโรงเรียนที่ไหนได้แบบนั้น ผมขอร้องอย่าให้ผมไปเรียนเลย ผมจะช่วยทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ไปเรียน” ราอูฟกล่าวกับผู้กำกับชาวอเมริกันทั้งน้ำตา
แม้บทหนังเรื่อง Salam Neighbor จะถูกเล่าเรื่องโดยการตั้งคำถาม และแสดงทัศนคติจากตัวละครที่เป็นผู้กำกับคนอเมริกันก็ตาม แต่ทุกคำพูดของตัวละครรายอื่นซึ่งเป็นผู้ลี้ภัย ณ ขณะนั้นเป็นความรู้สึกจริง ๆ
จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบันมี ผู้ลี้ภัยเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 60 ล้านคนทั่วโลก และประมาณ 160,000 คนอยู่ในประเทศไทย ส่งผลให้นานาชาติต้องเร่งสร้างความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง UNHCR จึงต้องเร่งรณรงค์และจัดกิจกรรมหลายด้านเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและระดมทุนช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผู้ลี้ภัยผ่านสื่อทุกรูปแบบ การเปิดรับอาสาสมัครที่มาเป็นตัวแทนของบุคคลสาธารณะเพื่อรณรงค์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัย ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง และรวมไปถึงกิจกรรมพิเศษอย่างเช่น ภาพยนตร์แนวสารคดีที่สร้างจากเรื่องจริงของผู้ลี้ภัยบางคน บางครอบครัวที่ต้องสูญเสียโอกาสหลายด้านจากการมีสถานะผู้ลี้ภัยของโลก
เนื่องในวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันผู้ลี้ภัยโลก อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุน UNHCR ประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเทศกาลภาพยนตร์ปีผู้ลี้ภัยว่า ในปีนี้ทาง UNHCR ได้คัดเลือกภาพยนตร์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและอธิบายปัญหาผู้ลี้ภัยโลกมาฉายในรอบพิเศษในเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัยครั้งที่ 6 The 6th Refugee Film Festival Bangkok 2016 ที่โรงภาพยนตร์พารากอนซินีเพลกซ์ ระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายน 2559 ซึ่งแก่นเรื่องของภาพยนตร์ในปีนี้ทาง UNHCR เรียกคำว่า With Refugee หรือ With You เพื่อสื่อสารให้คนไทยเข้าใจการอยู่ร่วม ยอมรับ ผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่กำลังลำบาก และตระหนักว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นอาศัย เพื่อหลบหนีความรุนแรงจากสงคราม และความขัดแย้งในพื้นที่
“คือหลายพื้นที่ที่ดิฉันและเจ้าหน้าที่ UNHCR ไปสัมผัสมา เราได้พบว่า ผู้ลี้ภัยเป็นกลุ่มที่อ่อนไหว และแต่ละเรื่องราวที่สื่อสารเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย บางครั้งเป็นเรื่องยาก เช่น เราไม่อยากจะนำเสนอภาพความรุนแรงเพราะไม่เป็นผลดีต่อเด็กและเยาวชนที่จะเห็นภาพสงครามที่น่ากลัว แต่เราพยายามคิดโจทย์เสมอว่า จะนำเสนออย่างไรให้รู้ว่า ผู้ลี้ภัยเจอเรื่องรุนแรงในชีวิต เจอภัยที่หนักหนา เช่น ที่ซีเรีย ที่อิรัก ปากีสถาน และสงครามในประเทศอย่างพม่า ดังนั้นเมื่อผู้กำกับหนังบางคนเขาสนใจสาระของผู้ลี้ภัย เขาก็ตัดสินใจลงไปคลุกคลี จนซึมซับปัญหามาในที่สุดแล้วนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวที่ดูง่าย และสื่อภาพยนตร์ก็เป็นสื่อที่ไม่น่าเบื่อ หลายเรื่องที่เราเลือกมาก็เข้าชิงรางวัล เช่น เรื่อง Salam Neighbor เป็นหนังของอเมริกา เข้าชิงรางวัลใน The American Film Institute’s Annual Documentary Film Festival เป็นประสบการณ์ของผู้กำกับที่ได้ลงพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุด ชื่อว่า ค่ายซาทารี ประเทศจอร์แดน เพื่อตามรอยชีวิตผู้ลี้ภัยตั้งแต่แรกเข้าค่ายว่า พวกเขาต้องใช้ความพยายามแค่ไหนเพื่อความอยู่รอดของชีวิต และหนังเรื่องนี้ก็สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนในการอยู่อย่างมีความหวัง สอนการปรับตัวเพื่ออยู่ในชุมชนแห่งใหม่ที่การใช้ชีวิตเปลี่ยนจากความสุขเล็ก ๆ ระดับครอบครัวไปเป็นตัวแทนชุมชนที่มีน้ำใจต่อกัน ซึ่งถ้าดูแล้วเราจะค้นพบว่า บางครั้งชีวิตเราที่ว่าลำบาก อาจไม่ลำบาก เราจะเห็นคุณค่าของน้ำใจจากเพื่อนมนุษย์มากขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าไม่มีใครอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ” อรุณี อธิบายตัวอย่างหนังในเทศกาล
ผู้จัดการฝ่ายระดมทุนระบุด้วยว่า ภาพยนตร์ครั้งนี้เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคคลทั่วไปและนักเรียน นักศึกษา ซึ่งหากมาเป็นหมู่คณะ ห้องฉายภาพยนตร์จะเป็นเหมือนห้องเรียนย่อยด้านมนุษย์ศาสตร์สังคมศาสตร์ ที่สอนให้เยาวชนไทยมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจปัญหาระดับโลก ทั้งนี้นอกจากการฉายภาพยนตร์เพื่อสร้างความเข้าใจในสังคมแล้ว ทาง UNHCRยังมีแผนจะรณรงค์ให้ประชาชนลงชื่อแสดงจุดยืนช่วยเหลือผู้ลี้ภัยผ่าน www.unhcr.or.th/supportrefugees ซึ่งทาง UNHCR จะนำรายชื่อดังกล่าวเสนอแก่ที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติที่จะจัดขึ้น ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 19 กันยายน นี้
สำหรับมุมมองของผู้กำกับละครซิทคอมของไทย อย่าง ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ ย้ำว่า ภาพยนตร์เป็นสื่อที่สามารถเข้าใจไดง่าย และเชื่อว่าหากคนไทยได้ดูหนังในเทศกาลนี้แล้วอาจจะเปลี่ยนความเข้าใจ หรือ Perception ที่เคยมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นภาระของประเทศ มามองพวกเขาใหม่ว่าเป็นแค่คนค้นหาความปลอดภัย ทั้งที่โอกาสหลายอย่างถูกตัดทอนมากกว่าครึ่งของคนทั่วไปที่มีสถานะปกติในประเทศบ้านเกิดของตนเอง หรือประเทศที่ตนเลือก เพราะจากประสบการณ์ที่ไปค่ายผู้ลี้ภัยในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ค้นพบว่า เด็กก็ต้องเรียนในที่ที่จำกัด บางคนก็ต้องพรากจากครอบครัว คือถ้าพูดออกไปเฉย ๆ อาจไม่เข้าใจ แต่ถ้าดูภาพยนตร์อาจจะมีอารมณ์ร่วม หรือมองคนลี้ภัยในทัศนคติด้านบวก มากกว่านั้นอาจมีใจอยากช่วยเหลือพวกเขาบ้างก็ได้
“คือ หลายคนมองว่า หนังต้องบันเทิง ต้องโลกสวยหรือได้หัวเราะ เบาสมอง แต่ในส่วนตัวของเราแม้ว่าจะทำซิทคอมก็ยังชอบหนังแนวสารคดี และมองว่า ความบันเทิงที่ได้อย่างแท้จริงจากหนัง คือ เราดูหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะนานแค่ไหน แต่เรายังจำตัวละครได้ จำชีวิต จำฉาก จำแก่นเรื่องได้อย่างแม่นยำ นั่นแหละคือความบันเทิงถาวร สำหรับในแง่ของมุมมองต่อผู้ลี้ภัยทุกคน เราเชื่อว่า ไม่มีใครหรอกอยากจะหนีตาย หนีสงคราม ต่อสู้ความหิวไปตลอดชีวิต เขาแค่นักเดินทางคนหนึ่งที่แทบไม่มีสิทธิ์เลือกเส้นทางของตัวเอง ดังนั้นใครที่ชอบหนัง และอยากเข้าใจปัญหาผู้ลี้ภัยง่าย ๆ ควรไปร่วมเทศกาลหนังในครั้งนี้ และคุณอาจจะพบว่า สิ่งที่คุณเรียกว่าความทุกข์ในชีวิตของคุณ มันอาจเป็นความสุขที่ผู้ลี้ภัยอยากจะได้มาก็ได้ อย่างน้อยหนังอาจจะเปลี่ยนความคิดของคุณที่มีต่อตัวเองให้มองชีวิตแง่บวกมากขึ้นและมีน้ำใจต่อคนที่เดือดร้อน ที่เผชิญกับความรุนแรงจากสงครามโดยคิดแค่ว่า เขาก็มนุษย์เหมือนเรา” ผู้กำกับหนัง ทิ้งท้าย
กิจกรรมเปิดงานฉายหนังเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยครั้งนี้มีนางเอกสาว “ ปู” ไปรยา สวนดอกไม้ ร่วมเป็นผู้รณรงค์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยด้วย โดยนางเอกสาวได้ร่วมถ่ายสปอร์ตประชาสัมพันธ์ให้ UNHCR และเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนบางส่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
ดาราสาว กล่าวว่า ตนอยากเชิญชวนให้คนไทยหันมาศึกษาปัญหากลุ่มผู้ลี้ภัยมากขึ้น สำหรับคนที่ชอบหนังน่าจะเป็นโอกาสดีในการศึกษาความรู้ ไปพร้อมกับความบันเทิงจากหนัง โดยส่วนตัวเคยลงพื้นที่ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย
“ที่มาของการร่วมรณรงค์ คือ ช่วงหนึ่งปูอ่านข่าวกลุ่มโรฮิงญา เห็นใจเขา และสงสารมาก อยากหาทางช่วย เลยติดต่อ UNHCR ทางเว็บไซต์จากนั้นเวลาผ่านไป 1 ปีก็เริ่มวางแผนทำโครงการ เรียกว่า Namjai for refugees ปูเป็นคนออกแบบเสื้อกับพี่สัญชัย ดีไซน์เนอร์ชื่อดังของเมืองไทย จากนั้นก็รณรงค์เผยแพร่ข้อมูลเรื่อย ๆ ปูมองว่า ผู้ลี้ภัยเขาน่าสงสารมาก บางคนถูกข่มขืน บางคนถูกทำร้าย บางคนมีจากครอบครัว นึกไม่ออกค่ะ ว่าถ้าเกิดกับเราจะเป็นยังไง จะรับมือยังไง พอมาทำกิจกรรมหลายอย่างมาดูหนัง มาอ่านข้อมูลก็พบว่า ผู้ลี้ภัยบางคนเขาพร้อมจะต่อสู้ไม่ว่าจะเจอเรื่องเลวร้ายยังไง ขอแค่เพื่อนร่วมโลกอย่างเรา ๆ ช่วยให้กำลังใจ ยอมรับเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์และหากมีกำลังทรัพย์ก็อาจจะบริจาคช่วยถ้าไม่มีอย่างน้อยก็อย่ามองเขาแบบลบ หรือแง่ร้าย ให้นึกเสมอว่า ถ้าเราเจอเหตุการณ์แย่ ๆ แบบนั้นเราจะสู้ไหวมั๊ย ปูว่าเขาน่าสงสารเลยหันมาเริ่มทำเรื่องนี้ช่วยได้ไม่มากแต่อยากจะมีส่วนร่วม”นางเอกสาวเล่าที่มา
ทั้งนี้สำหรับรายชื่อภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในปีนี้ มี5เรื่องได้แก่ Salam Neighbor , Women in Gold , Boxing for freedom, He named me Malala และ Facing Extinction ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งได้ที่ facebook UNHCR Thailand อ่านรายละเอียดและบทแนะนำหนังได้ที่ https://www.unhcr.or.th/news/RFF2016
////////////////////