สื่อพม่ารายงานว่า เมื่อที่ 3 กรกฎาคม ชาวพุทธในรัฐอาระกัน หรือ รัฐยะไข่ หลายพันคนได้ออกมารวมตัวประท้วงรัฐบาลใหม่ NLD ที่ประกาศเปลี่ยนคำเรียกชาวโรฮิง เป็น “ชุมชนชาวมุสลิมในรัฐอาระกัน” โดยเหตุการณ์ประท้วงเมื่อวันอาทิตย์เกิดขึ้นใน 15 เมือง จากทั้งหมด 17 เมืองของรัฐอาระกัน ขณะที่ความขัดแย้งด้านศาสนาในพม่าส่อเค้าตึงเครียดอีกครั้ง เนื่องจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีสุเหร่า 2 แห่งในเขตพะโคและในเมืองผากั้น รัฐคะฉิ่น ถูกเผาและถูกทำลายเสียหายภายใน 1 สัปดาห์
การออกมาประท้วงครั้งนี้ ชาวพุทธในรัฐอาระกันปฏิเสธที่จะยอมรับการประกาศดังกล่าวของรัฐบาล แต่ยืนยันให้เรียกชาวมุสลิมโรฮิงญาว่าเป็นชาวเบงการลี หรือผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศแทน “เราปฏิเสธที่จะใช้สิทธิร่วมใดๆกับชาวโรฮิงญา” ผู้นำประท้วงในเมืองชิตต่วยกล่าว โดยในเมืองหลวงชิตต่วยนั้นมีประชาชนเข้าร่วมประท้วงมากกว่า 1,000 คน เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ที่ประชาชนเข้าร่วมประท้วงนับพันคน รวมถึงพระสงฆ์ที่ได้เข้าร่วมประท้วงด้วย ชาวพุทธที่เข้าร่วมประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ร้องตะโกนระหว่างเดินประท้วงว่า “ปกป้องรัฐอาระกัน” ด้านผู้ประท้วงบางส่วนยังถือป้ายที่มีข้อความว่า “รัฐอาระกันเป็นของคนอาระกัน” หรือป้ายข้อความว่า “คนเบงกาลีก็ต้องถูกเรียกว่า คนเบงกาลี” เป็นต้น
ขณะที่ผู้ร่วมประท้วงอีกคนหนึ่งอย่าง นายเต็งซาน กล่าวว่า มีเพียงชาวพุทธยะไข่ (อาระกัน) เท่านั้น ที่ควรถูกยกให้เป็นชาวพื้นเมืองในรัฐอาระกัน นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า ไม่ยอมรับคำเรียก “ชุมชนชาวมุสลิมในรัฐอาระกัน” ซึ่งชาวอาระกันชาตินิยมในเมืองชิตต่วยยังมีการล่ารายชื่อราว 500 ชื่อ ส่งไปยังประธานาธิบดีอูถิ่นจ่อ และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเพื่อคัดค้านคำประกาศดังกล่าว
ย้อนกลับไปที่เหตุความขัดแย้งทางศาสนาในรัฐอาระกันเมื่อปี 2555 ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตหลาย 10 ราย และประชาชนราว 140,000 คน ต้องถูกบังคับให้ทิ้งบ้านเรือน ไปอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา โดยคาดว่า มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในรัฐอาระกันราว 1 ล้านคน ขณะที่การเยือนของนางยาง ฮี ลี ทูตพิเศษฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เรียกร้องให้รัฐบาล NLD ยุติการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐอาระกันเป็นงานเร่งด่วน
ความตึงเครียดระหว่างศาสนาเกิดขึ้นอีกครั้งไม่เฉพาะแต่ในรัฐอาระกัน ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดเหตุเผาทำลายสุเหร่า 2 แห่ง ที่เขตพะโค และที่เมืองผากั้น รัฐคะฉิ่นทางตอนเหนือของประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เกิดเหตุการณ์บานปลาย โดยเจ้าหน้าที่ระบุสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
ที่มา Irrawaddy/DVB/Myanmar Times
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ