สำนักข่าวอิรวดีได้เผยแพร่บทความวิเคราะห์ ชี้แม้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กองทัพพม่ายังคงมีอิทธิพลเหนือสื่อมวลชนในประเทศ โดยยกตัวอย่างกรณีกองทัพได้ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ 7 Day Daily กรณีที่เผยแพร่ตีพิมพ์ข้อความของนายฉ่วยมานอีกครั้ง ที่เรียกร้องให้เพื่อนทหารหันทำงานเพื่อรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง โดยกองทัพยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เนื่องจากหวั่นว่าจะทำให้เกิดความแตกแยกภายในกองทัพพม่าด้วยกันเอง
หลังมีการเผยแพร่บทความออกไป ทางกองทัพพม่าได้ยื่นฟ้องหัวหน้าบรรณาธิการและผู้เขียนบทความดังกล่าวทันทีเมื่อเดือนที่แล้ว โดยอ้างว่า บทความดังกล่าวจะสร้างความแตกแยกในกองทัพและอาจส่งเสริมให้เกิดการก่อกบฏ โดยหากตัดสินว่ามีความผิด ผู้ที่ถูกฟ้องร้องอาจถูกดำเนินคดีจำคุกถึง 10 ปี อย่างไรก็ตามทางกองทัพได้ยกเลิกฟ้องร้องหลังสามารถตกลงเจรจากันได้ โดยทางหนังสือพิมพ์ 7 Day Daily ได้ตีพิมพ์ข้อความขอโทษต่อกองทัพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบนเว็บไซต์ ขณะที่เรื่องนี้ถูกมองว่า เป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่ออีกทางหนึ่ง เนื่องจากสื่ออาจถูกฟ้องร้องได้หากสร้างความไม่พอใจแก่กองทัพ แม้ข้อมูลที่นำเสนอออกมาจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องก็ตาม
“ทัศนคติของกองทัพก็ยังคงเหมือนในอดีต พวกเขาไม่ชอบให้เราแตะต้องพวกเขา” นายโก่ตีฮา บรรณาธิการจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า รัฐบาล NLD จำเป็นจะต้องทำให้กองทัพเปลี่ยนแปลงทัศนคติเพื่อให้ความสัมพันธ์กับสื่อในประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น
นอกจากนี้ยังมีกรณีเกี่ยวกับการสั่งถอดหนัง “สิ้นแสงฉาน” หรือชื่อในภาษาอังกฤษ “Twilight over Burma” จากเทศกาลหนังในย่างกุ้งโดยคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของพม่า เพราะเกรงว่าหนังเรื่องนี้จะทำลายภาพลักษณ์ของกองทัพพม่าและกระทบความปรองดองกับชาติพันธุ์นั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างนาย โม ทะเว แสดงความคิดเห็นว่าเป็นการกระทำที่น่าเกลียด และยังกล่าวเสริมว่า การละเมิดเสรีภาพสื่อเป็นสัญญาณในด้านลบในขณะที่กำลังเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
“ไม่ว่ากองทัพ ชาติพันธุ์หรือใครเคยทำผิด ก็ควรได้รับการเปิดเผย สาธารณชนมีสิทธิ์ที่ควรจะรู้ การเปิดเผยสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต จะทำให้เราไม่ทำผิดซ้ำอีกในอนาคต” นาย โม ทะเว กล่าว นอกจากสื่อในประเทศและหนัง “สิ้นแสงฉาน” ที่ถูกคุกคามโดยกองทัพพม่าแล้ว องค์กรภาคประชาชนก็เป็นอีกกลุ่มที่เป็นเป้าหมายถูกคุกคาม เหมือนกับกรณีขององค์กรสตรีดาระอั้ง (Ta’ang Women’s Organization) ที่ถูกบังคับสั่งห้ามแถลงข่าวรายงานเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารพม่าทางเหนือของรัฐฉานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ด้านเยหน่าย ผู้อำนวยการจากโรงเรียนสื่อมวลชนย่างกุ้ง กล่าวว่า เสรีภาพสื่อและเสรีภาพของการแสดงออกควรได้รับการยอมรับในขณะที่ประเทศไปสู่ประชาธิปไตย “ผู้นำกองทัพพม่าเคยกล่าวว่าจะร่วมทำงานและสนับสนุนการถ่ายโอนอำนาจไปสู่ประชาธิปไตย แต่มันจะเป็นไปไม่ได้เลย หากขาดเสรีภาพสื่อ” เขากล่าว
ทั้งนี้ แม้พม่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่รู้จักกันในรัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) นั้นร่างโดยรัฐบาลทหารเผด็จการทหาร และการที่จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ทำได้ยาก เนื่องจากที่นั่งในสภา 25 % เป็นของกองทัพ ซึ่งสามารถออกเสียงคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากนี้กองทัพยังยึดกระทรวงสำคัญ 3 กระทรวงอย่าง กระทรวงกลาโหม กระทรวงด้านชายแดนและกระทรวงมหาดไทยไว้อีกด้วย
ที่มา Irrawaddy
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ