Search

ชงนายกฯ เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทับชุมชนชาวเลราไวย์ยกกระบิ-เยียวยาความเสียหายเอกชน ส่วนหลีเป๊ะแนะใช้ภาพถ่ายทางอากาศ 2493 พิสูจน์ จัดทำหมู่บ้านวัฒนธรรม-ส่งเสริมการท่องเที่ยว

received_1146567852053165

เมื่อวันที่ 12 นายสุริยัน เดชรักษา ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า หลังจากทางศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดสตูลได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวเลเกาะหลีเป๊ะ กรณีเอกชนปิดทางเข้า-ออก สถานีอนามัยและโรงเรียน และทางเข้าออกสาธารณะในเกาะหลีเป๊ะเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนนั้น ตนได้ประสานงานให้ฝ่ายท้องถิ่นเข้าไปเจรจากับเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอาดังแล้ว พบข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายทราบว่าทางเข้า-ออกสถานีอนามัยและโรงเรียน ขณะนี้มี 2 เส้นทางสัญจรทางบก ที่เป็นทางผ่านในที่ดินของเอกชนทางที่1คือหลังสถานีอนามัย เส้นทางดังกล่าวชาวเลและทุกคนบนเกาะหลีเป๊ะสามารถสัญจรได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาและรถทุกประเภทก็เข้าได้ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งอยู่ทางด้านข้างโรงเรียนซึ่งหากใครจะผ่านมาสถานีอนามัยต้องผ่านหน้าโรงเรียนมาก่อน แต่บริเวณดังกล่าวเอกชนเจ้าของที่ดินตัดสินใจนำเสาปูนวางพาดเส้นทางเข้า-ออก ด้วยเหตุผลว่า ช่วงที่ผ่านมามีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ผ่านเข้า-ออกบ่อยครั้ง ทางผู้บริหารโรงเรียนมีความกังวลเรื่องอุบัติเหตุจากรถและมลภาวะทางเสียงที่รบกวนนักเรียนเวลาเรียนหนังสือ ทางผู้อำนวยการโรงเรียนยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการเสนอของทางโรงเรียนเองและทางเอกชนก็ให้ความร่วมมือปิดเส้นทาง ตามข้อเสนอ ตนจึงได้ทำหนังสือแจ้งกับชาวเลให้รับทราบ

received_1146567562053194

“เบื้องต้นที่ชาวเลต้องเข้าใจ คือ ที่ดินส่วนมากบนเกาะหลีเป๊ะ มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง การทำอะไรก็ตามหน่วยงานรัฐไม่สามารถทำเกินสิทธิ์ได้ การขอที่เอกชนไม่ใช่เรื่องง่าย ขนาดที่หลวงที่ชาวบ้านและเอกชนบุกรุกปลูกสร้างอาคาร และที่ทำกินยังขอคืนยากมาก ที่ไหนมีเอกสารสิทธิ์ชัดเจน เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ผมเชื่อว่าทั้งชาวเล ทั้งเอกชนมีความเข้าใจและแบ่งปันกัน เกาะหลีเป๊ะเป็นเกาะเล็กๆ ส่วนมากเป็นที่ส่วนบุคคลทั้งสิ้น การอยู่บนเกาะก็เป็นไปแบบพึ่งพาอาศัยกัน กรณีทางเข้าไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเอกชนไปได้ปิดทุกทาง อีกทั้งกรณีการสัญจรทางเรือนั้นหน้าโรงเรียนมีชายหาดกว้าง เชื่อมโยงสู่ทะเล ทุกคนก็สามารถใช้ได้ตามปกติ กรณีที่มีการสัญจรทางเรือสามารถนำเรือจอดบริเวณหน้าหาดดังกล่าวได้” นายสุริยัน กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากกรณีทางสาธารณะแล้ว ชาวเลหลีเป๊ะได้ร้องเรียนเรื่องพื้นที่จอดเรือเพิ่มเติม ซึ่งทางสำนักงานเจ้าท่าจังหวัดสตูลได้ดำเนินการเจรจาและวางเงื่อนไขการจอดเรือไปแล้ว อย่างไรก็ตามทางผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีการร้องเรียนของชาวเลทุกเรื่อง และอาจจะมีการลงพื้นที่ไปเยี่ยมชุมชนชาวเลและประชุมร่วมกับเอกชน ผู้ประกอบการเพื่อขอข้อมูลเกาะหลีเป๊ะเพิ่มเติม แต่ต้องรอให้ผ่านพ้นช่วงมรสุมเสียก่อน

พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณากรณีชาวเลชุมชนราไวย์ จังหวัดภูเก็ต และชุมชนหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยมีมติว่า 1.การแก้ปัญหาชาวเลในชุมชนราไวย์นั้นต้องใช้ข้อเท็จจริงทั้งทางลึกและทางกว้างประกอบกับกฎหมายเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินเป็นของใคร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าชุมชนชาวเลราไวย์อยู่กันมาไม่น้อยกว่า 400 ปี แต่ภายหลังมีบุคคลภายนอกมาแจ้งสิทธิ สค.1ดังนั้นจึงต้องสืบค้นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หากพบว่าชาวเลอยู่มาก่อนก็ควรยกเลิกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด อย่างไรก็ตามรัฐควรเยียวยาความเสียหายให้กับเอกชน

“เมื่อมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ถูกต้องแล้ว สมควรจัดพื้นที่ให้เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ โดยจัดระบบสาธารณูปโภคอย่างเหมาะสมและมีความมั่นคง และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม” พลเอกสุรินทร์ กล่าว

พลเอกสุรินทร์กล่าวว่า 2.ในส่วนของหลีเป๊ะนั้น ปัญหาเรื่องที่ดินมีความสลับซับซ้อน และมีการละเมิดสิทธิชาวเล แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ควรใช้ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2493 เป็นหลักในการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยที่นี่มีการแจ้งการครอบครองที่ดินทับกันเองระหว่างชาวเลด้วยกัน รวมทั้งเอกชนกับชาวเล ดังนั้นเมื่อมีการพิสูจน์สิทธิ์ได้แล้ว จะเหลือที่ดินซึ่งเป็นของรัฐพอที่จะจัดสรรให้ชาวเลได้อาศัยอยู่

“ตอนนี้ข้อเสนอของคณะกรรมการฯได้ผ่านไปที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว กำลังเสนอไปที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักฯ ซึ่งท่านเคยรับปากว่าเรื่องนี้ต้องส่งถึงมือนายกรัฐมนตรี” พลเอกสุรินทร์ กล่าว

วันเดียวกันที่รัฐสภามีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานข้อเสนอปฏิรูปเพื่อส่งเสริมชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เข้มแข็ง ซึ่งเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2553 เรื่องเร่งแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้ชาวเลอันดามัน 3 กลุ่ม ได้แก่ มอแกน มอแกลน และอุรักลาโว้ย โดย สปท.เสนอให้รัฐบาลปรับกลไกดูแลแก้ปัญหานี้ใหม่ โดยให้ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความสงบภายในราชอาณาจักรภาค4 (ผอ.กอ.รมน.ภาค4) เป็นประธานกรรมการอำนวยการ ทำหน้าที่บูรณาการทุกภาคส่วนราชการเข้ามาทำงานแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง

///////////////////////

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →