เกิดเป็นกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลและมีการแชร์ในโลกโซเชียลอย่างหนักในวันนี้ (26 ก.ค.) หลังรัฐบาลท้องถิ่นรัฐฉานได้ออกหนังสือมีคำสั่งด่วน ห้ามจัดการประชุมเยาวชนชาติพันธุ์แห่งชาติ (National Ethnic Youth Conference) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 31 กรกฎาคม ที่เมืองป๋างโหลง ทางใต้รัฐฉาน โดยอ้างอาจส่งผลเสียกระทบต่อการประชุม “ป๋างโหลงศตวรรษที่ 21” ที่รัฐบาล NLD เตรียมจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อหารือกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และกระทบต่อการเจรสันติภาพ
ขณะที่ตัวแทนเยาวชนคนหนุ่มสาวชาติพันธุ์จำนวน 600 คนจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ได้เดินมาถึงยังสถานที่จัดประชุมแล้ว อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้จัดงานย้ำจะเดินหน้าจัดประชุมต่อ ระบุไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ให้มีความสามัคคีในชาติ
นายจายอ่องมิ้นอู หนึ่งในผู้เตรียมการจัดงานเปิดเผยกับสำนักข่าวไทใหญ่ป๋างโหลงว่า ขณะนี้ ตัวแทนจากกลุ่มเยาวชนเกือบทั้งหมดได้เดินทางมาถึงเมืองป๋างโหลงแล้ว โดยการประชุมจะดำเนินต่อไปตามกำหนดการเดิม โดยระบุว่า กลุ่มคนหนุ่มสาวที่มาร่วมประชุมทำงานเพื่อสหภาพ และไม่ได้มีอาวุธ มุ่งเน้นทำงานเพื่อสันติภาพและเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ กลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์มีแผนจะหารือกันถึงประเด็นเรื่อง การก่อสร้างสันติภาพและสหพันธรัฐ โดยในการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนคนหนุ่มสาวจากหลากหลายชาติพันธุ์ อาทิ ชาวอินตา อาข่า กะเหรี่ยง คะฉิ่น โกก้าง มอญ ไทใหญ่ ปะโอ ชาวต่องโย ชาวยอและชาติพันธุ์ว้า เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 600 คนมาเข้าร่วมประชุม
นายจายอ่องมิ้นอู ยังเปิดเผยว่า ได้มีการเตรียมงานประชุมใหญ่ครั้งนี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเขากล่าวแสดงความเห็นว่า เหตุที่รัฐบาลมีคำสั่งด่วนห้ามจัดประชุมครั้งนี้ อาจสืบเนื่องมาจากที่กำลังจะมีการประชุมของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธในสัปดาห์หน้าที่เมืองหม่าจ่าหย่าง รัฐคะฉิ่น รวมถึงกำลังจะมีการประชุมใหญ่ “ป๋างโหลงศตวรรษที่ 21” ในปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งนางซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐจะเข้าพบหารือกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยรัฐบาลท้องถิ่นอ้างว่า การประชุมของกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์จะกระทบต่อการเจรจาสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น และเพิ่งได้รับคำสั่งห้ามก่อนหน้าที่จะมีการจัดประชุมเพียง 1 วันเท่านั้น
ขณะที่เยาวชนชาติพันธุ์ได้ลงคะแนนเสียงตามระบอบประชาธิปไตย เห็นพ้องที่จะจัดประชุมในครั้งนี้ที่เมืองป๋างโหง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉานไปเพียง 100 กิโลเมตร และเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจ เพราะเคยเป็นสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งผู้นำพม่า อย่างนายพลอองซานและผู้นำชาติพันธุ์ เช่น เจ้าฟ้าได้เคยหารือทางการเมืองเพื่อเตรียมการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1947 และเป็นสถานที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงร่วมกัน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สัญญาป๋างโหลง” ที่ระบุให้รัฐฉานแยกตัวออกเป็นอิสระได้ หลังได้รับเอกราชและอยู่ร่วมกับพม่าครบ 10 ปี
ที่มา Panglong
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ