Search

พม่าศตวรรษใหม่

หมู่บ้านามเวชอง ซึ่งชาวบ้านออกมาคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้ามะริด จนรัฐบาลพม่ายินยอมชะลอ/ ภาพโดย วิชัย จันทวาโร
หมู่บ้านามเวชอง ซึ่งชาวบ้านออกมาคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้ามะริด จนรัฐบาลพม่ายินยอมชะลอ/ ภาพโดย วิชัย จันทวาโร

———-

โดยภาคภูมิ ป้องภัย
คอลัมน์โลกนี้มีรากหญ้า
————–

“พม่ากำลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นพม่าในศตวรรษใหม่”

ประโยคนี้ไม่ใช่คำพูดของผม แต่เป็นคำพูดของตัวแทนภาคประชาชนแห่งเมืองมะริด ประเทศเมียนมา ในนาม “กลุ่ม 88” (กลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1988) ระหว่างร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทีมข่าว “Tranbordernews” เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา

มีหลายหัวข้อน่าสนใจ ทั้งเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการเมือง แต่ผมขอหยิบเรื่องการเมืองเมียนมาในยุคเปลี่ยนผ่านมาเล่าสู่กันฟังก่อน ส่วนเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมขอไปว่าพร้อมกับเรื่องชัยชนะของชาวมะริดในการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในสัปดาห์หน้า

ที่หยิบยกเรื่องนี้มาก่อน เพราะรู้สึกทึ่งกับการเมืองพม่าในศตวรรษที่ 21 ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบการเมืองไทยวันนี้และอีก 1 ปีข้างหน้าแล้ว ถึงบ้านเรากำลังไปได้สวย แต่ใจยังรู้สึกอิจฉาเขานิดๆ

3 ตัวแทนภาคประชาชนมะริด เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจ การดิ้นรนปรับตัวของกลุ่มทุนยักษ์เมียนมาให้เข้ากับนโยบายใหม่ของรัฐบาล “ออง ซาน ซูจี” ใครไม่ปรับตัวก็ตกขบวน และโดนเช็กบิลย้อนหลัง ยกตัวอย่าง อู ลา ตัน (U Hla Than) ประธานหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมะริด เพิ่งโดนกรรมาธิการรัฐสภาตรวจสอบการได้มาซึ่งที่ดินทำสวนปาล์มขนาดมหึมาในภาคตะนาวศรี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังที่ประชุมรัฐสภาสั่งให้บริษัทมาเลเซียรายหนึ่งยุติการรุกป่าและเรือกสวนไร่นาเพื่อขยายสวนปาล์ม

เมืองมะริด/ ภาพโดย วิชัย จันทวาโร
เมืองมะริด/ ภาพโดย วิชัย จันทวาโร

“รัฐบาลใหม่มีแนวโน้มไม่สานต่อโครงการที่เกิดขึ้นในรัฐบาลเก่า และไม่ผลักดันโครงการอะไรที่ขัดขวางเจตจำนงของประชาชนเมียนมาแน่นอน” กลุ่ม 88 กล่าวอย่างมั่นใจ

ทีมข่าว Tranbordernews (www.tranbordernews.in.th) สงสัยว่า ขั้วอำนาจฝ่ายทหารมีท่าทีอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า นายพลตานฉ่วย (อดีตประธานาธิบดี) ชรามากแล้ว อำนาจบังคับบัญชาทั้งหมดอยู่ที่นายพลมิน อ่อง หล่าย แต่ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จทั่วประเทศอีกแล้ว พวกเขามั่นใจว่า กองทัพจะไม่มีอำนาจเหนือประชาชนอีกต่อไป การเลือกตั้งปี 2558 ชี้ให้เห็นแล้วว่า ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ข้างพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)

แกนนำกลุ่ม 88 เล่าอีกว่า ภายหลังการเลือกตั้งมีบริษัทต่างชาติแห่มาลงทุนมากมาย แต่ทั้งหมดต้องทำตามเจตจำนงของประชาชนที่สร้างขึ้นใหม่ ต้องทำตามกรอบกติกาใหม่ทั้งหมด

“ไม่มีประชาชนเมียนมาคนไหนชอบทุนที่สัมพันธ์กับกองทัพ เพราะทุนเหล่านี้คือเสาข้างหนึ่งที่ค้ำจุนเผด็จการทหาร ทำให้ทหารอยู่ได้นาน ดังนั้น รัฐบาลใหม่ต้องคำนึงและระวังให้มาก”

ผมยังถามถึงแนวโน้มการประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-4 กันยายนนี้

กลุ่ม 88 ตอบอย่างมั่นใจว่า การประชุมน่าจะสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไปมาก ถ้าเมียนมาไม่เปลี่ยนแปลงวันนี้ จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เมียนมาอยู่ระหว่างอินเดียและจีน เป็นจุดสำคัญของภูมิศาสตร์ทางการเมือง ผู้นำประเทศต้องฉลาดพอที่จะอยู่ระหว่าง 2 ขั้วอำนาจใหญ่

“คนพม่าเชื่อในซูจี และจิตวิญญาณของเธอจะนำพาสันติภาพมาสู่เมียนมาได้จริง ปางโหลง 2 น่าจะเป็นไปได้จริง” หนึ่งในแกนนำกลุ่ม 88 บอกกับเรา พร้อมวิงวอนให้ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ลดข้อเสนอต่างๆ ลง เขาใช้ประโยคว่า “ชาตินิยมที่ไม่สมจริงต้องถูกลดลง ไม่ให้สุดโต่งเกินไป”

ถ้าคำพูดดังกล่าวของกลุ่ม 88 หมายถึงให้กลุ่มชาติพันธุ์ยอมรับใน “หนึ่งประเทศ หนึ่งกองทัพ” ตามแนวทางของกองทัพพม่าล่ะก้อ มันคงเป็นไปได้ยาก เพราะการเจรจาที่ยืดเยื้อมายาวนานหลายสิบปีนั้น ประเด็นหลักก็ติดอยู่ตรงนี้

ผมเคยสัมภาษณ์ผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงเคเอ็นยู และผู้นำกองทัพคะเรนนี ทั้งสองยืนยันไม่คิดแยกตัวเป็นรัฐอิสระ แต่ขอแค่ระบอบการปกครองในรูป “สหพันธรัฐ” มีกองกำลังและอาวุธไว้ช่วยกองทัพพม่าปกป้องอธิปไตยแห่งสหพันธรัฐ ทว่าบรรดาผู้นำกองทัพพม่าไม่ยินยอม

การประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 จะหาจุดพบกันครึ่งทางอย่างไร กลุ่มชาติพันธุ์จะลดเงื่อนไขทางการทหารลงตามที่กลุ่ม 88 เรียกร้องหรือไม่ เพราะถ้าลดลงไม่ได้ มันอาจส่งผลให้การเจรจาทางการเมืองการปกครองติดขัดไปด้วย

นี่คือปมใหญ่มากที่ “ซูจี” ต้องค่อยๆ แกะให้ออก ก่อนจะก้าวสู่ศตวรรษใหม่
———–

นสพ.มติชน/23 สิงหาคม 2559

On Key

Related Posts

“สารหนู”น้ำกกพ่นพิษหมู่บ้านท่องเที่ยว“กะเหรี่ยงรวมมิตร”ซบหนักยอดหาย 80% ต้องปล่อยช้างหากินในป่า-เผยชาวบ้านจำนวนมากไม่รู้ข้อมูลยังคงใช้น้ำปนเปื้อนในวิถีชีวิต-ประมงจังหวัดส่งตัวอย่างปลาตรวจ คาดสัปดาห์หน้ารู้ผล

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 นายดา ควานช้างปางช้างบ้Read More →

7 ชุมชมลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา-ปภ.-เครือข่ายค.อ.ก. “คิกออฟ”ระบบเตือนภัยน้ำท่วม-พระอาจารย์มหานิคมเผยป่าต้นน้ำถูกทำลาย-ทำเหมืองทอง เป็นเหตุน้ำเชี่ยวโคลนถล่ม แนะรัฐเร่งเจรจา

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแRead More →