เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมหารือการดำเนินการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง 13 หลังบริเวณป้อมมหากาฬ โดยในที่ประชุมได้มอบหมายให้กองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา จัดเจ้าหน้าที่พร้อมคนงานจำนวน 90 คน จัดทำบัญชีทรัพย์สินที่จะขนย้ายออกจากโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งจัดหาเครื่องมือ อาทิ ค้อน เลื่อย บันได ฯลฯ
สำหรับการรื้อย้ายดังกล่าวจะมีการจัดรถบรรทุก 6-10 ล้อ จำนวน 5 คัน เครื่องมืออุปกรณ์ในการรื้อถอน รวมทั้งจัดตั้งเต็นท์ 5 หลังตั้งเป็นศูนย์อำนวยการบริเวณสวนสาธารณะหลังป้อมมหากาฬ ซึ่งจะดูแลความสะดวกด้านการจราจรและรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักงานเขตพระนคร จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจร่วมปฏิบัติการ 20 นาย สน.สำราญราษฎร์ จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นาย กองบังคับการปราบปราม จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นาย และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ทหารชุดป้องกันและปราบปรามเหตุจราจลจำนวน 20 นายร่วมดำเนินการ
ทั้งนี้ชุมชนที่แจ้งความประสงค์ให้กทม. เข้ารื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างขณะนี้มีจำนวน 13 หลัง โดยในการรื้อย้ายระยะแรก กทม. จะจัดเจ้าหน้าจำนวน 5 ชุดเข้ารื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 3 กันยายน เวลา 09.30 น. จำนวน 5 หลัง โดยจะประสาน การไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวงดำเนินการตัดไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นรายหลังเฉพาะที่ทำการรื้อย้ายเท่านั้น
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายในการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างชุมชนบริเวณป้อมมหากาฬ ที่ผ่านมาได้ชี้แจงและขอความร่วมมือชุมชนทั้ง 56 หลังมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีชุมชนจำนวน 13 หลังที่แจ้งความประสงค์ขอให้กทม.ช่วยดำเนินการรื้อย้าย โดยกทม. จะดำเนินการรื้อย้ายในวันที่ 3-4 ก.ย. นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 วัน ส่วนชุมชนที่เหลืออีก 43 หลัง กทม. จะขอความร่วมมือในการรื้อย้ายต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินรื้อย้ายชุมชนทั้งหมดบริเวณป้อมมหากาฬภายในสิ้นปีนี้
“กทม. มีสิทธิในการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชนได้ตามกฎหมาย แต่เราเป็นคนไทยด้วยกันจึงอยากใช้วิธีการพูดคุย เจรจา ขอความร่วมมือกันมากกว่า จึงอยากขอวิงวอนพี่น้องชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่ยืนยันไม่ยอมย้าย ให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของชาติ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ยังไงกทม.ก็ต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตามอยากจะฝากไปยังนักวิชาการให้เห็นใจ กทม.บ้าง เพราะกทม.ไม่ได้ทำตามหลักนิติศาสตร์เพียงอย่างเดียว เราพยายามที่จะใช้หลักรัฐศาสตร์ด้วย”รองผู้ว่าฯกทม.กล่าว
นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การจัดระเบียบนั้นไม่จำเป็นต้องรื้อย้ายก็ได้ ต้องมีการทำแผนแม่บทอนุรักษ์สำหรับพื้นที่ตรงนี้เพื่อกำหนดพื้นที่เป็นสาธารณะและโบราณสถาน แต่ไม่จำเป็นต้องรื้อย้ายชุมชนที่อยู่มานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จากการทำงานวิจัยในหลายพื้นที่พบว่า ชุมชนเก่าแก่สามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้โดยต้องมีการจัดตั้งกฎกติการ่วมกันในการดูแลรักษาพื้นที่
ด้านนายเกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากทม.กล่าวถึงกรณีข้อเสนอจากกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง ให้มีการตั้งคณะกรรมการพหุภาคี เพื่อเป็นตัวกลางในการร่วมหาทางออกในการจัดการชุมชนป้อมมหากาฬว่า ขณะนี้สภากทม.จะเข้าไปยุ่งกับการทำงานของฝ่ายบริหารไม่ได้ หากยังไม่มีปัญหาเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูในวันที่ 3 ก.ย. ซึ่งเป็นวันแรกที่จะมีการรื้อถอนบ้านเรือนชุมชนป้อมมหากาฬ ในฐานะที่เรามีส่วนในการตรวจสอบติดตามการทำงานของฝ่ายบริหาร แต่ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาใด หากเข้าไปยุ่งก็จะกลายเป็นการแทรกแซงฝ่ายบริหาร