ประเทศไทยเริ่มล้าหลังกว่าประเทศเมียนมาแล้วในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการตระหนักรู้เรื่องสุขภาวะ เห็นได้จาก 2 เรื่อง
1.รัฐบาลใหม่เมียนมาสั่งเลื่อน และยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องเจตนารมย์ของประชาชนที่ไม่ต้องการมัน
2.ภาคประชาชน และชาวบ้านตื่นรู้ และเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่นเร่งแสวงหาทางเลือกใหม่ในการผลิตไฟฟ้า
ตรงข้ามกับรัฐบาลและราชการไทยที่ยังพยายามผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ ไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนท้องถิ่น มิหนำซ้ำยังตั้งข้อหาเป็นปฏิปักษ์กับอำนาจรัฐ และกีดขวางการพัฒนา
เมียนมาเองมิใช่ต้องการพลังงานไฟฟ้ามากกว่าไทยหรอกเหรอ แล้วทำไมรัฐบาลใหม่ถึงกล้าปิดโรงไฟฟ้าที่เกาะสอง (8 เมกกะวัตต์) และรัฐฉานตอนใต้ (250 เมกกะวัตต์)ยับยั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน แสดงว่าเขารู้ซึ้งถึงมลพิษที่คร่าชีวิตผู้คนแบบตายผ่อนส่ง และตระหนักในพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
ยกตัวอย่างชัยชนะของชาวบ้านมเวชอง (Mwe Shawng) จ.มะริด ภาคตะนาวศรี ต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ขนาด 2,640 เมกกะวัตต์
ย้อนไปช่วงก่อนเลือกตั้งเมียนมาราวกลางปี 2558 ทีมข่าวชายขอบ (www.transbordernews.in.th) เดินทางมาหมู่บ้านมเวชองเพื่อเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหว กระทั่งกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เรากลับมาที่นี่อีกครั้งแสดงความยินดี และให้ชาวบ้านเล่าบทเรียนการต่อสู้เพื่อจะได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับที่อื่นต่อไป
ชาวมะริดหลายหมู่บ้านลงขันเป็นทุนส่งตัวแทนไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐฉาน และเกาะสอง พบความผิดปกติหลายอย่างต่างจากที่เจ้าหน้าที่แจ้งไว้ เช่น ควันไฟไม่ลอยไปไหน ฝุ่นตกลงมา มีอัตราการเสียชีวิตสูง สตรีมีครรภ์ได้รับมลพิษทั้งควัน น้ำเสีย ทารกผิดปกติทางร่างกาย มีสุขภาพอ่อนแอ โรงไฟฟ้าปล่อยน้ำเสียลงคลอง เมื่อเอาไปรดต้นไม้และพืชผลต่อเนื่อง พบว่าต้นไม้มีความผิดปกติ มีแต่ก้าน ไม่มีใบ น้ำโดยรอบไม่เหมาะสมกับการปลูกพืช
ทุน จี ชาวบ้านมเวชอง ยกข้อมูลบางส่วนมาเล่าว่า อัตราเด็กแรกเกิดที่รอดชีวิตในพื้นที่โรงไฟฟ้ามีแค่ 3 ใน 10 คนเท่านั้น ตรงนี้น่ากังวลมาก ยิ่งควันไฟลอยไปในอากาศ ชาวบ้านในบริเวณนั้นต้องสูดดมมลพิษเข้าไป ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย
“โรงไฟฟ้าไม่ได้จำเป็นไปกว่าการมีข้าวกิน มีผัก ผลไม้ มีแม่น้ำสะอาด ถ้ามีไฟฟ้า แล้วไม่มีคน จะทำอะไรได้ มีคนเจ็บตาย แต่ไฟฟ้าสว่างไสว จะมีไปทำไม ขอมีคน ไม่มีไฟฟ้าดีกว่า ไม่มีไฟฟ้าก็ใช้เทียนแท่งต่อแท่ง ใช้ไฟธรรมชาติก็อยู่กันไปได้”อาว พุก แกนนำบ้านมเวชองกล่าว
จากนั้นบรรดาแกนนำชาวบ้านพาทีมข่าวชายขอบไปดูบริเวณที่คิดจะสร้างโรงไฟฟ้า ริมแม่น้ำตะนาวศรี ปิดท้ายด้วยการถ่ายรูปชูนิ้วโป่ง “กดไลค์” ประกาศชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำเอาชาวกระบี่ และเทพารู้สึกอิจฉา
————————-
ภาคภูมิ ป้องภัย/นสพ.มติชน