Search

มอง “ก่าบาง” ลำสุดท้าย ผ่านภาพยนตร์ชาวเล “No Word for Worry”

kabang

ในความเป็นรัฐไทยที่ยังห่วงกังวลเรื่องป่าไม้ ทะเล ภูเขา และหาดทราย โดยวิธีการรณรงค์อนุรักษ์พื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสงวนไว้ให้กลายเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติเป็นสมบัติของสาธารณะ ที่หลายคนให้การสนับสนุน มีบางชาติพันธุ์ถูกกีดกันให้กลายเป็นอื่นและไม่มีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรดังกล่าว ไม่มีสิทธิใช้ ไม่มีสิทธิจะพูดถึง ไม่มีสิทธิออกกฎใดๆ ทั้งสิ้นทั้งที่ชาติพันธุ์นั้นๆ มีวิถีชีวิตนานนับร้อยปี ก่อนกฎหมายอนุรักษ์จะเกิดขึ้น

มอแกน เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวเล ที่กำลังประสบปัญหาอย่างเดียวกัน เพราะพวกเขากำลังกลายเป็นชาติพันธุ์ที่ถูกลืม และถูกยัดเยียดให้เป็นอื่น อย่างกรณีมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา พวกเขาได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกเมื่อเป็นกลุ่มหนึ่งที่รอดชีวิตจากคลื่นสึนามิ เมื่อปี 2547 ด้วยความรู้ที่บรรพบุรุษส่งต่อกันมาเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน เขากำลังถูกสังคมไทยบีบให้กลายเป็นชาติพันธุ์ที่ไร้สิทธิ์ ไร้เสียง โดยถูกห้ามตัดไม้ทำเรือก่าบาง (เรือบ้าน) ทั้งที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม ถูกอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์จำกัดพื้นที่ทำกิน และกำลังถูกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแย่งชิงการประกอบอาชีพส่งผลให้ชาติพันธุ์มอแกน กลายเป็นแค่ “ชุมชนประดับการท่องเที่ยวเท่านั้น” แต่ในแง่อาชีพ และวัฒนธรรมดั้งเดิม ชาวมอแกนไม่มีสิทธิแสดงออกด้วยซ้ำ ยังไม่รวมอีกสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ ถูกอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินจากเอกชน, การจ้างงานผิดกฎหมาย รวมถึงอคติและมายาคติทางชาติพันธุ์ อีกมากมายทีเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้มอแกน ค่อยๆ ถูกวัฒนธรรมส่วนใหญ่กลืนกินจนแทบไม่เหลือพื้นที่ และสิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้ คือ “ปล่อยวาง” อย่างคนที่ไม่รู้จักคำว่า “กังวล”

14359814_1195954983781118_1464842659_o

ในการฉายหนังสารคดีเฉพาะกิจเรื่อง No Word for Worry ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดควบคู่กับการเสวนาเรื่อง “บางวัฒนธรรมไม่มีกรรมสิทธิ์ บางวัฒนธรรมไม่มีคำว่ากังวล?” ที่ร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิตยสาร สารคดี และองค์กรพันธมิตร ที่นำเสนอผลงานการกำกับของ “ยูนาร์ จา วิกค์” (Runar Jarle Wiik ) จากประเทศนอร์เวย์ ที่ใช้เวลาในการผลิตนานเกือบ 10 ปี เป็นสื่อประเภทหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวเลมอแกนได้อย่างประทับใจ และสามารถคว้ารางวัลมากมายจนทำให้ชาวแสกนดิเนเวียร์ รู้จักมอแกนไทยในฐานะผู้สร้างเรือก่าบาง แต่กลับถูกกีดกันไม่ให้ตัดไม้ระกำเพื่อสร้างเรือด้วยข้ออ้างการอนุรักษ์ป่าไม้ให้สมบูรณ์ของทางการไทย ทำให้ปัจจุบันชาวมอแกนต้องอาศัยอยู่บนเกาะและไม่สามารถล่องเรือก่าบางในทะเลได้อีก (อ่านรายละเอียดหนังเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังและชมตัวอย่างได้ที่http://projectmoken.com/no-word-for-worry-2/ )

ฮุก” สุริยัน กล้าทะเล ชาวเลมอแกน จังหวัดพังงาจึงได้จัดโครงการมอแกน ( Project Moken)พร้อมกับการอนุรักษ์เรือก่าบาง 2 ลำสุดท้าย หนึ่งลำตั้งไว้ที่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการล่องเรือแบบวิถีดั้งเดิมของมอแกน และอีกหนึ่งลำตั้งไว้ที่คอนติกิ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยเรือก่าบางดังกล่าวได้เคยแล่นโชว์พร้อมกันกับเรือไวกิ้ง ของชาติพันธุ์ไวกิ้ง ของนอร์เวย์ อันเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่ซึ่งมีวิถีชีวิตคล้ายมอแกนไทย

“ สุริยัน” เล่าถึงที่มาของการทำหนังสารคดีเรื่อง No words For worry ว่า เริ่มแรกเกิดจากความคิดทีเล่น ทีจริงของตนและนักท่องเที่ยว ที่สนใจเรื่องมอแกน โดยผู้กำกับและทีมงานได้รับแรงบันดาลใจช่วงที่ เข้ามาเที่ยวในหมู่เกาะสุรินทร์แล้วเห็นเรือก่าบางของมอแกน ทำให้พวกเขานึกถึง ชาวไวกิ้ง ที่นอร์เวย์ซึ่งเป็นชนเผ่าที่ถูกลืมเพราะวัฒนธรรมใหม่เข้ากลืนกิน แต่รัฐบาลนอร์เวย์หันมาส่งเสริมองค์ความรู้อีกครั้งโดยการเผยแพร่ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ภาษา และประเพณีอื่นๆ สู่สังคมนอร์เวย์ จนเป็นที่สนใจของคนในประเทศ พวกเขาจึงเกิดความคิดอยากเชื่อมร้อยวัฒนธรรมของไทยกับนอร์เวย์ จึงได้ริเริ่มถ่ายทำซึ่งใช้เวลานานพอสมควรในการเก็บข้อมูลเชิงลึกและทยอยถ่ายทำทีละเล็กละน้อย เมื่อมีการนำฉายครั้งแรกทีมถ่ายทำก็ได้รับรางวัลมากมาย และเป็นชื่นชมของชาวนอร์เวย์ ทางสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ นำโดยดร.นฤมล อรุโณทัย จึงได้เสนอให้มีการนำมาฉายในประเทศไทย เป็นครั้งคราวเพื่อสื่อสารเรื่องราวมอแกนออกไปอย่างกว้างขวาง หวังจะประกาศให้คนไทยรับรู้เรื่องราวของมอแกน เพราะคนมอแกนเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่แทบจะถูกลืมแล้ว

“ตอนทำหนังนั้น เกาะสุรินทร์มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวแล้ว แต่ฝรั่งกลุ่มนี้ เขามองเห็นบางอย่างของพวกเรา มองไปมากกว่าการเป็นแค่ชนเผ่าหนึ่งที่สร้างสีสันให้การท่องเที่ยว ตอนนั้นคนไทยหลายคนก็ตื่นเต้นกับมอแกน ขณะที่บางคนคิดไปว่าเราคือพม่า แต่ฝรั่งกลุ่มนี้เขากลับเห็นเรือที่ตั้งอยู่ เลยเข้ามาถามแล้วผมก็เล่าให้เขาฟัง เขาก็เลยชวนทำหนังสารคดีเลย ผมก็เอาละสิ เข้าทางเพราะส่วนตัวก็ยอมรับว่า ผมเองก็ไม่มีเงินมากนักแต่เพราะพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า เรามีญาติทั้งอันดามันในประเทศไทยและประเทศพม่า ผมเลยเสนอว่า ไหนๆ ก็ไหนแล้ว ผมอยากจะลองต่อเรือแล้วล่องไปพม่าสักครั้ง เลยลองทำกับพ่อแต่มันไม่ได้มาตรฐานมากนักเพราะผมคนรุ่นใหม่ล่องเรือไม่ถนัดมาก ทีมงานเลยใช้เรือเร็ว ตามไปช่วยลากเป็นบางช่วง พอตอนเข้าฉากก็ปล่อยเรือก่าบางล่องไป มันสนุกด้วยเศร้าด้วย ที่คนมอแกนโดนจำกัดพื้นที่ทั้งไทย ทั้งพม่า ผมเลยคิดว่าน่าจะดีนะ ถ้าเราลองเดินทางไปตามหาญาติทางชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาเหมือนเราและมีเรือก่าบางเหมือนเรา แล้วพบว่า บางพื้นที่ที่เคยมีมอแกน ทหารพม่าเข้ายึดทะเลหมดเลย” สุริยัน อธิบาย

การล่องเรือก่าบางครั้งแรกจากทะเลอันดามันประเทศไทย ไปถึง เกาะ วิ ลำปิ ยาลัม แห่งพม่า ของหนุ่มมอแกนครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงการล่องเรือประกอบฉากในหนังสารคดีก็ตาม แต่การเดินทางหลายคืนวันนี้ ท้ายที่สุดเขาพบว่า “มอแกนถูกคุกคามจากสังคมสมัยใหม่จริงๆ”

14360433_1195954987114451_769471092_o
“ทุกวันนี้ที่เกาะสุรินทร์ พ่อผม ญาติผมที่มีเรือหางยาวก็แทบไม่ได้ใช้แล้วนะ เพราะบริษัทท่องเที่ยวเขาเริ่มหาเรือรับจ้างมาไว้ที่เกาะเองแล้ว เขาบริการทั้งเรือspeed boat และเรือหางยาวที่พาคนไปดำน้ำ พร้อมกันเลย คือ ซื้อบัตรครั้งเดียว บริการครบชุด คนหนุ่มมอแกนจึงทำได้แค่ไปรับจ้างเป็นลูกเรือ ผมเองยังไม่รู้เลยว่า ก่าบางลำสุดท้ายที่ตั้งไว้เกาะสุรินทร์ มันจะอยู่อีกนานไหม แต่อย่างที่ผมบอกเราไม่มีเวลาไปคิดถึงการประคองวัฒนธรรมอะไรหรอก เมื่อสังคมไม่ให้โอกาสเรา เราก็ทำอะไรไม่ได้ แม้จะแสดงตัวตนของตัวเองออกมายังยาก” สุริยันกล่าวอย่างปล่อยวางกับทุกสิ่ง

ความผูกพันต่อวัฒนธรรมมอแกน ที่สุริยันได้ถ่ายทอดออกมาผ่านหนังสารคดี เป็นแค่ภาพเชิงสัญลักษณ์หนึ่งที่เล่าเรื่องราวมอแกนเท่านั้น แต่สุริยันไม่กล้าหวังอะไรกับสังคมไทยทั้งสิ้น เพราะที่ผ่านมาคนกลุ่มใหญ่มอแกนก็เคยล่ารายชื่อขอตัดไม้ระกำทำเรืออีกสักลำ ก็ยังทำไม่ได้ อีกทั้งการขอพื้นที่เพื่อทำการท่องเที่ยวแบบท้องถิ่นก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายใดของทางการไทย

“มอแกนไม่มีคำกล่าวว่าสวัสดี ไม่พูดว่าขอบคุณและไม่มีคำบอกลา” สุริยัน ยืนยันว่า คำทักทายทั่วไปที่หลายคนชอบตั้งคำถาม ไม่มีบัญญัติไว้ในคำบอกเล่าของมอแกน
“เราเจอหน้ากันเราก็ เอิ้ว !! คือ ส่งเสียงไปว่า เห้ยฉันมาแล้ว หรือพูดอะไรก็ได้ ที่ส่งเสียงให้คนรู้ว่าเราต้องการทักทาย สวัสดี แต่ไม่มีคำทางการนะ พม่ายังมีมิงกลาบา ไทยมีสวัสดี แต่เราไม่มี”

หนุ่มมอแกนในวัย32ปี ให้เหตุผลว่า อาจเป็นเพราะชีวิตมอแกนอยู่แบบวันต่อวัน ไม่เคยวางแผนอนาคต แต่เลือกจะอยู่กับความจริงที่เปลี่ยนผ่านไป ยอมรับวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ จึงไม่คิดคำอะไรที่ให้ความรู้สึกว่าพบเจอ ซาบซึ้ง ผูกพัน และจากลา ดังนั้นมอแกนวันนี้จึงไม่มีอะไรให้คิดหรือห่วงหา แม้แต่ที่ดิน ที่นา ทะเล และเรือ ที่สำคัญกับชีวิตมอแกนก็ตาม ดังนั้นการขออยู่อาศัยบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติจึงเป็นเพียงการขออยู่ชั่วคราวไม่คิดครอบครอง

ขณะที่ดร.นฤมล อนุโณทัย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงความเป็นอยู่ของชาวมอแกนที่ย่อมรู้จักเกาะสุรินทร์เป็นอย่างดีว่า มอแกนเติบโตที่นั่นมาทั้งชีวิตและมีรกรากประเพณีอันยาวนาน ซึ่งแสดงผ่านชื่อเกาะที่เป็นภาษามอแกนมากกว่าภาษาไทย ฟ้องชัดถึงความผูกพันของชาวมอแกนต่อพื้นที่นั้นๆ อย่างแนบชิด แต่ความผูกพันอันไร้ลายลักษณ์อักษรเช่นนี้ แน่ชัดอยู่แล้วว่าย่อมไม่เป็นที่รองรับของกฎหมายไทย

ปัจจุบันสามารถแบ่งชาวเลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ อูรักลาโว้ย, มอแกลน และ มอแกน พวกเขาอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลหรือเกาะต่างๆ เป็นนักว่ายน้ำที่เชี่ยวชาญ มีความรู้เรื่องทิศทางลมและเรือแพอยู่ในระดับฝังเข้าเส้นเลือด และก็ด้วยภูมิปัญญาอันล้ำลึกเช่นนี้เองที่ทำให้พวกเขาอาศัยอยู่กับธรรมชาติโดยไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด
“ชาวเลรู้จักพื้นที่ใกล้ทะเลเหล่านั้นมากกว่าไกด์นำเที่ยว เพียงแต่ก็แนะนำได้ไม่ดีเท่าหรือพูดภาษาต่างประเทศไม่ได้”

สิ่งหนึ่งที่ ดร.นฤมล มองเห็นและคิดว่าเป็นวิกฤติ คือ การล่มสลายของวัฒนธรรมชาวเล ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่า สังคมไทยมักยอมรับว่า มีชาติพันธุ์อยู่เพราะมองเห็นเครื่องแต่งกายหรืออาหาร แต่ด้านอื่น กลับไม่มอง ทั้งที่ภูมิปัญญาของมอแกนเองก็มีมากมาย แต่กลับไม่ถูกยอมรับ เช่น การมีส่วนร่วมในการดูทิศทางลม ทิศทะเล การพยากรณ์อากาศ หากรัฐยอมรับชาวมอแกนและชาวเลทั้ง3กลุ่มจะได้มีพื้นที่แสดงออกแน่นอน แต่เพราะรัฐไม่เคยยอมรับ แผนที่และชื่อเกาะจึงถูกเปลี่ยนไปตามหลักฐานแบบใหม่ที่เน้นการบันทึกเรื่องราว ส่วนหลักฐานที่ชาวเลได้วางไว้ไม่ว่าจะเป็นตำนาน เรื่องเล่า ความจำ กลับไม่มีใครให้ความสำคัญ

ความเหลื่อมล้ำอีกอย่างที่ปรากฏในประเทศไทย คือ สิทธิของชาติพันธุ์ในการถือครองที่ดิน ซึ่ง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวไว้ว่า ในอดีตการอยู่รวมหมู่กับชาวเล ถือเป็นการครองที่ดินเพื่ออยู่แล้ว แต่ปัจจุบันรัฐไทยคือว่า การมีกระดาษโฉนด และ นส.3 คือการมีกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนบุคคล ขณะที่ดินหลวง หรือ สาธารณะก็จะมีเอกสารสิทธิ์ประเภทอื่นแตกต่างกันไป

kabang2

 

ประเทศไทยมีการแบ่งที่ดินนั้นเริ่มขึ้นในสมัยที่มีศักดินา โดยก่อนหน้านั้นไม่อาจระบุได้ว่าพื้นที่ไหนเป็นของใคร ผู้คนใช้ประโยชน์จากที่ดินร่วมกัน เรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทีหลัง และด้วยระบบศักดินานี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงความเป็นเจ้าของ การยึดครอง ซึ่งมีการรังวัดกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ ซึ่งก็มีแต่เหล่าขุนนางหรือคนในเมืองที่ทราบเรื่องเหล่านี้และมาลงทะเบียนเพื่อครอง แต่คนที่อยู่รวมหมู่แบบชาวเล เขาอยู่ไกลเกินกว่าจะเข้าถึงสิทธิดังกล่าว ทำให้ไม่ได้มาลงทะเบียนและพลาดการจับจองเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งตนและบรรพบุรุษอยู่มาหลายร้อยปี

“เราควรไปเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน ไม่ใช่พยายามไปเปลี่ยนเขา” ดร.อมรากล่าว ก่อนขยายถึงประเด็นความแตกต่างในความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของคนแต่ละพื้นที่ แต่ละสมัยว่ามีมาเสมอ ซึ่งอดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ย้ำว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจยอมรับว่า ชาวบ้านเขาคิดเป็น ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเป็น วิธีการมองเรื่องธรรมชาติและทรัพยากรของหลายคนกับชาวบ้านนั้นต่างกันมาก จนนำมาสู่จุดที่เป็นความขัดแย้งต่อกัน ซึ่งอมราเสนอว่า การจะเปลี่ยนมุมมองได้นั้นต้องคิดในระดับปัจเจก, ระดับความสัมพันธ์และโครงสร้าง โดยทางการต้องมองว่าความสัมพันธ์ของเขาเป็นอย่างไร คนที่อยู่มาดั้งเดิมเขาสัมพันธ์อย่างไรกับพื้นที่ กับคนที่อยู่ปัจจุบันแล้วมีเอกสารสิทธิ ซึ่งแน่นอนว่าชาวเลเองก็ต้องทำความเข้าใจคนที่มาอยู่ใหม่ด้วยเช่นกัน

ขณะที่นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นว่าในทรรศนะของสังคมไทยแล้ว สังคมไทยยังมักมองชาวเลในลักษณะผู้ไร้อำนาจ และไม่เคยเห็นลักษณะพิเศษบางประการของพวกเขา

“ชาวเลนั้นดำน้ำได้ลึกและทนจนเป็นธรรมชาติ เพียงแต่เราไม่เคยอยากเรียนรู้จากพวกเขาเท่านั้นเอง ทั้งนี้การปรากฏตัวเป็นข่าวของชาวเลเกิดขึ้นในปี 2547 เมื่อเกิดคลื่นสึนามิขึ้นที่ประเทศไทย พวกเขาเป็นกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มที่มองออกว่าการที่น้ำลดเหือดไปค่อนทะเลเช่นนี้ย่อมนำความพินาศมาสู่พื้นดิน และนั่นทำให้พวกเขาตัดสินใจพานักท่องเที่ยวบางกลุ่มหนีออกมาได้ทันเวลาก่อนที่น้ำทะเลจะกลืนกินผู้คนหายไปกับเกลียวคลื่น”

น่าเสียดายที่หนังสารคดีมอแกนเรื่อง No words for worry จัดฉายเป็นรอบพิเศษเพื่อเผยแพร่ในบางโอกาสเท่านั้น ไม่มีการนำมาฉายในโรงภาพยนตร์สู่สายตาคนไทย เหมือนหนังจอแก้ว จอเงิน เรื่องอื่น ทว่าอย่างน้อยขณะนี้มอแกนไทยก็ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกโดยเฉพาะคนประเทศนอร์เวย์ ในฐานะชาติพันธุ์ที่มีภูมิปัญญาหลายด้านแต่กลับไม่รู้สึกหวงแหน หรือกังวลว่าใครจะมาแย่งชิงความรู้ ความสามารถที่มี รวมทั้งไม่เคยคิดถึงอนาคตที่ค่อยๆถูกวัฒนธรรมใหญ่กลืนกิน ทางที่ดีประเทศไทยน่าจะตระหนักถึงความสำคัญของมอแกน ชาวเลกลุ่มอื่นและชาติพันธุ์ต่างๆบ้าง อย่างน้อยก็ให้พื้นที่พวกเขามีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรทะเล ป่าไม้ ที่ดิน ให้พวกเขาได้มีตัวตนในยุคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียมกับทุนใหญ่ เพราะทั้งหมดที่กล่าวมามอแกนไม่คิดจะยึดครอง ครอบงำ หรือสร้างอำนาจทางวัฒนธรรม

หากแต่ขออยู่อย่างมีสิทธิและได้รับความชอบธรรมจากสังคมเท่านั้น

——————-
ร่วมรณรงค์ เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของชาวมอแกนในการตัดไม้เพื่อทำเรือก่าบาง คลิก http://www.themokentree.org

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →