Search

ชาวแม่สอดฟ้องแล้ว กรมธนารักษ์-กรมที่ดินร่วมกันออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบเอาใจทุนตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชาวบ้านวอนเห็นใจหัวอกคนทำมาหากิน จู่ๆถูกรัฐยึดที่ดินไปให้เอกชน

received_1239106422799307

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ที่ศาลปกครองพิษณุโลก ชาวบ้านกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 6 ราย ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และสำนักงานที่ดินแม่สอด กรมที่ดิน ฐานออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หลังได้รับผลกระทบจากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษตามคำสั่ง คสช. ที่ 17/2558 ประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 โดยมีชาวบ้านกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่นกว่า 60 คนเดินทางมาให้กำลังใจ

received_1239106276132655
นางพรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ ตัวแทนกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่นและหนึ่งในผู้ฟ้องคดี ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า การฟ้องศาลในวันนี้ได้รับกำลังใจจากหลายฝ่าย เนื่องจากแผนเศรษฐกิจพิเศษเป็นแผนระดับชาติและจะส่งผลกระทบวงกว้าง ไม่ใช่แค่ที่ดินในพื้นที่บ้านวังตะเคียนเท่านั้น ทั้งนี้ภายหลังจากการยื่นฟ้องแล้ว ทางสมาชิกจะติดตามสถานการณ์ต่อไป กรณีที่ศาลนัดไต่สวนเพิ่มเติม

นางพรภินันท์ กล่าวด้วยว่า หลังการยื่นฟ้องตัวแทนชาวบ้านและเครือข่ายภาคีได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรื่อง“ทำไม ? เราต้องโดนพรากที่ดินทำกิน ถิ่นอาศัย” “ทำไม ? เราต้องเป็นเหยื่อของเขตเศรษฐกิจพิเศษ” เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับนโยบายพัฒนาความมั่นคงทางที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ที่เฉลี่ยทุกข์สุขกับประชากรทุกกลุ่ม มากกว่าเลือกแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเอื้อแค่ทุนใหญ่เท่านั้น

ทั้งนี้เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า จากที่รัฐบาลประกาศคำสั่งที่ 17/2558 เรื่องการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 ได้กำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว หนองคาย ตราด อีกทั้งยังมีการผลักดัน พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษต่างๆ เอื้อประโยชน์ต่อทุนเอกชน โดยเฉพาะการจะให้สิทธิการเช่าที่ดินถึง 99 ปี ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ ทุนต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของแผ่นดินไทย ในขณะที่ประชาชนในประเทศส่วนใหญ่ไม่มีแม้กระทั่งที่ดินทำกินหรืออยู่อาศัย ซ้ำร้ายนโยบายดังกล่าวยังได้พรากเอาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและสิทธิของชุมชนไปอย่าง ไม่เป็นธรรม

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากเป็น 1 ใน 10 ของพื้นที่ดำเนินการ มีจำนวนพื้นที่ 2,183 ไร่ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่เป็นชุมชน ซึ่งมีประวัติศาสตร์การใช้ที่ดินอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคก่อรูปชุมชนในปี พ.ศ.2400 แต่วันนี้ชีวิตพวกเขากำลังถูกภัยจากนโยบายรัฐคุกคาม แม้กว่า 1 ปี 5 เดือน ที่ผ่านมา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและ “กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น” จะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากการสูญเสียที่ดินของตนเอง ท่ามกลางการถูกกดดัน ข่มขู่ อ้างการ ใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดกับผู้ที่คัดค้านและไม่เคยเหลียวแลแก้ไข ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม วัฒนธรรม วิถีชุมชน และการไร้สิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินชะตาชีวิตของคนในชุมชน

“กรณีชาวบ้านวังตะเคียน ได้ถูกดำเนินการเร่งออกโฉนดโดยอ้างถึงคำสั่งที่ 17 /2558 ตามมาตรา 44 เพื่อนำพื้นที่พัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมและพยายามยื่นคัดค้านกับสำนักงานที่ดินตาก สาขาแม่สอด แต่ก็ไม่เป็นผล ภาวะความกดดัน ความกลัวต่ออำนาจรัฐทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องยอมถอนการคัดค้าน วันนี้เหลือเพียงเหลือชาวบ้านเพียง 6 รายที่ไม่ถอนการคัดค้านและตัดสินใจต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ต่อศาลปกครอง เราจะยังยืนหยัดเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อสู้กับผลกระทบจากนโยบายรัฐที่ไม่เห็นความสำคัญกับชีวิตของชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้รัฐบาลและสังคมไทยได้เห็นว่าพวกเราคือหนึ่งในผู้เดือดร้อน เราคือผู้ที่กำลังถูกพราก ที่ดินทำกิน ถิ่นอาศัย เราเป็นเหยื่อของเขตเศรษฐกิจพิเศษและประวัติศาสตร์สังคมไทยจะต้องจารึกเรื่องราวของพวกเราให้แก่สังคมและลูกหลานในอนาคตได้รับรู้” ในแถลงการณ์ ระบุ

ด้านนางราตรี เสนทา 1 ในผู้ฟ้องกล่าวว่า ตนและครอบครัวมีที่ดินทำกินไร่ 8 ไร่ 3 งาน เป็นที่ดินแปลงเดียว และแปลงสุดท้ายเท่านั้น ที่ตนทำกินมาหลายสิบปี ภายใต้เอกสารสิทธิ์ ภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) ซึ่งเดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของชาวบ้านรายหนึ่งที่เป็นคนสูงอายุ และเคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปชาวบ้านรายดังกล่าวตัดสินใจขายที่เพราะไม่ได้กำไร ประกอบกับสุขภาพแย่ ตนจึงได้ขอซื้อมา หวังว่าเป็นทุนให้ลูกหลานได้ปลูกบ้าน และทำกิน โดยตนเริ่มปรับปรุงคุณภาพดิน และหันมาปลูกมันสำปะหลัง และจ่ายเงินภาษีมาโดยตลอด กระทั่งถึงปี 2550 อยู่เขาก็ให้หยุดจ่าย และต่อมา ปี 2558 กรมธนารักษ์ ก็ออกประกาศยืนยันว่าเป็นที่หลวง ที่ราชพัสดุ พยายามจะออกโฉนดและยึดคืน ซึ่งส่วนนี้ทำให้ตนและครอบครัวต้องใจสลาย เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวที่หาเลี้ยงชีพสมาชิกครอบครัวทั้ง 5 คน ทั้งพ่อของตนที่อายุมาก สามี และลูกอีก 2 ยังอยู่ในวัยศึกษา หากแม้ที่ดินถูกยึดก็จะไม่เหลืออะไรแล้วในการทำกินส่งลูกเรียนหนังสือ การฟ้องศาลวันนี้จึงเป็นความหวังสุดท้ายของชาวบ้าน

“จะยึดคืนยังไงก็ขอให้เหลือให้เราบ้าง จะยึดไป 5 ไร่ เหลือให้เรา 3 ไร่ก็ยังดีนะ ไม่มีอะไรแล้วจริงๆ ในชีวิตนี้ และถ้ายึดคืนไปทำอย่างอื่น ที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนรวม เราก็ไม่ว่า แต่นี่ยึดไปให้เอกชนเช่า มันก็ดูเขาไม่เห็นพวกเราคนจนในสายตาเลย เอกชนที่มีทุนให้ มีการลดภาษี มีการเก็บดอกต่ำ หลายๆ อย่าง แต่ทำไมเราไม่มีทางได้รับสิทธิ์อะไรเลยจากรัฐบาล เราไม่รู้จริงๆว่า จะเอาเงินแสนไปทำไม ถ้าเขาจะจ่ายเพื่อแลกกับที่ดิน มันไม่คุ้มหรอก คนส่วนใหญ่ของประเทศเขามีที่ดินเพื่อลงทุนระยาวที่สร้างผลผลิตที่ดี มั่นคง ไม่ใช่ให้เอกชนลงทุนเพื่อสร้างอุตสาหกรรม ซึ่งเช่า 99 ปีแล้วไม่รู้มลพิษจะอยู่กับชาวบ้านโดยรอบกี่ปี ” นางราตรี กล่าว

///////////////////////////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →