เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 นายสมัย ภักดิ์มี รักษาการประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง (อบต.เขาหลวง) อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เปิดเผยว่า วานนี้ที่ประชุมสภาอบต.เขาหลวงที่จะมีการพิจารณาวาระการต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ยกเลิกการประชุมเนื่องจากชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ตำบลเขาหลวง ได้เข้าพบนายอนุพงศ์ คำภูแก้ว นายอำเภอวังสะพุงที่พึ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พร้อมกับพ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผกก.สภ.เมืองเลย เพื่อขอให้ยุติการประชุมสภาอบต. ทำให้ในที่สุดจึงไม่มีการประชุม
นายสมัยกล่าวว่า ก่อนหน้านั้นชาวบ้านได้เคยยื่นเรื่องไปยังอำเภอวังสะพุงและสำนักงานจังหวัดเลยหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล เพราะฝ่ายบริหารราชการท้องถิ่นหลายฝ่ายยังต้องการให้ที่ประชุมนำวาระดังกล่าวเข้าพิจารณาเสมอมา เพียงเพราะผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มและยังมีฝ่ายหนุนเหมืองทองคอยเสนอประเด็นถอดถอนตนออกจากตำแหน่งเรื่อยมาโดยอ้างว่าตนไม่ทำหน้าที่ประธานสภา อบต.เพราะไม่ยอมรับวาระเหมืองทองคำขอใช้พื้นที่เข้าที่ประชุมเพื่อให้สมาชิกร่วมพิจารณา
“ผมและชาวบ้านค้านหลายครั้งแล้วว่าจะมีการประชุมสภา อบต.ไม่ได้ หากสมาชิก อบต.ยืนยันจะเอาวาระนี้มาโหวต เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าการเมืองท้องถิ่นเป็นยังไง เมื่อวานนี้ชาวบ้านก็ยื่นหนังสือกับผมเช่นเดิม อ่านแถลงการณ์เรื่องเดิมว่าเราไม่เอาเหมืองทองแล้ว เราอยากรักษาที่ดินและป่าเอาไว้ ก่อนหน้านายอำเภอคนใหม่จะเข้ามา ผมทำหนังสือส่งหลายครั้ง แต่ไม่มีนายอำเภอคนใดเข้ามารับหนังสือและเรื่องราวร้องเรียนก็เงียบหายไปหมด ผมไม่รู้ว่าความหวังของพวกเราไปอยู่ตรงไหน แต่เมื่อผมยังมีอำนาจในหน้าที่นี้ ผมไม่ยอมเด็ดขาดที่จะเอาเวลาบริหารของท้องถิ่นมาพูดคุยเรื่องให้เปิดที่ป่าทำเหมืองหรือไม่ เราเป็นตัวแทนชาวบ้านต้องเอาประโยชน์ชาวบ้านมาก่อนอยู่แล้ว ประโยชน์ที่ว่า คือ ประโยชน์ด้านความมั่นคงของชีวิต ความปลอดภัยของสุขภาพ ความสะอาดของสิ่งแวดล้อมชุมชน” นายสมัย กล่าว
นายสมัย กล่าวด้วยว่า ในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน นี้ตนจะส่งเอกสารทั้งหมด เรื่องราวร้องเรียนและความทุกข์ร้อนของชาวบ้านในการยื่นเรื่องต่อภาคราชการจังหวัดเลย ส่งให้นายอำเภอคนใหม่ตามที่นายอำเภอขอความร่วมมือมา นอกจากนี้ทางนายอำเภอเองยังแสดงความประสงค์จะลงพื้นที่สำรวจชุมชนและเหมือง ส่วนตัวและชาวบ้านพร้อมให้โอกาสเข้ามาดูเต็มที่ แต่อยากให้นายอำเภอทำหน้าที่อย่างตรงไป ตรงมา และทำในเรื่องที่ถูกต้อง
ด้านนางพรทิพย์ หงส์ชัย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ภายหลังการเข้าพบนายอำเภอชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน โดยตนและชาวบ้านร่วมอ่านแถลงการณ์มีใจความโดยสรุปว่า สมาชิก อบต.บางคนที่เป็นตัวแทนของชาวบ้าน ควรเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ประชาชน ควรที่จะนึกถึงบทบาทหน้าที่ในฐานะ สมาชิก อบต. ดังนั้นกรณีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เรียกร้องขอสิทธิชุมชน ตัวแทนสมาชิก อบต.ก็ควรทำตามข้อเรียกร้องของชุมชน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมต่อนายอำเภอและตัวแทนฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้องอีกว่า ชาวบ้านยืนยันเจตนารมณ์เดิม คือขอให้ปิดเหมืองทองคำถาวรและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
นางพรทิพย์ กล่าวว่า ในการประชุมสภา อบต.แต่ละครั้งนั้น จะมีสมาชิก อบต. เขาหลวงทั้งหมด 26 คน จาก 13 หมู่บ้าน แต่ช่วงที่ผ่านมาหลังการก่อตั้งเหมืองแร่นั้น สมาชิก อบต. มีความแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุนเหมืองและฝ่ายค้าน ชาวบ้านเรียกว่าเป็นกลุ่มโซนบนและโซนล่าง (พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่) ซึ่งชุมชนในโซนล่างที่ได้รับความเดือดร้อนมี 6 บ้าน มีสมาชิก อบต.จำนวนทั้งสิ้น 10 คน
อนึ่ง วานนี้ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.3756/2558 ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและบุคลากรของไทยพีบีเอสในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและโทรทัศน์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 พร้อมความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 และ 16 เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558
ศาลได้วินิจฉัยว่า เรื่องปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ฉะนั้น การทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเผยแพร่รายการนักข่าวพลเมือง ตอนค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ และในฐานะผู้สื่อข่าวได้มีการนำเสนอข่าวไปตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นการสร้างข้อเท็จจริงขึ้นเอง และเป็นการนำเสนอที่มีประโยชน์ต่อสาธารณชน ประชาชนมีสิทธิที่จะติชมวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้