Search

เล็งผลักดันไทยประกาศ “เขตคุ้มครองวัฒนธรรม” ในงานรวมญาติชาวเลครั้งที่ 7 กระตุกสังคม –การท่องเที่ยวยอมรับวิถีดั้งเดิม หลังพบชาวเลถูกคุกคามชีวิตรุนแรงขึ้นทุกๆปี ด้านชาวราวไวย์เจอนายทุนฟ้องรื้อบ้านเก่าอายุกว่า 30 ปี

15127390_643485905812307_2111897759_o
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ให้สัมภาษณ์ว่า ในงานวันรวมญาติชาวเลครั้งที่ 7 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายนนี้ที่หาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ทางภาคีเครือข่ายได้เชิญตัวแทนจากหลายภาคส่วนเพื่อมาระดมความคิดในการนำเสนอเรื่องราวของชาวเลใน 5 จังหวัดอันดามัน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ตลอดจนผลักดันให้ชาวเลต้องอยู่รอดและอยู่อย่างมีตัวตน มีเกียรติ ในยุคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้สำหรับปัญหาของชาวเลยังคงเป็นเรื่องเดิมๆ คือ ส่วนใหญ่เผชิญกับความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย เพราะไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน สาเหตุหลักก็คือทั้งรัฐและเอกชนต่างอ้างสิทธิเหนือที่ดินของชุมชนเดิม โดยออกเอกสารทับที่ชุมชนและฟ้องขับไล่ชาวเล ปัจจุบันมีชุมชนชาวเลรวม 44 แห่ง มีความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยถึง 28 แห่ง

นางปรีดา กล่าวว่า สำหรับชุมชนชาวเลที่มีเอกชนอ้างสิทธิเหนือที่ดินและมีปัญหาความไม่ชัดเจนในการถือครองที่ดินที่เป็นประเด็นในขณะนี้ ได้แก่ ชุมชนชาวเลอูรักราโว้ยเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านแหลมตง เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ชุมชนเกาะสิเหร่ และชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2452 กรณีของชุมชนเกาะพีพี จังหวัดกระบี่นั้น ปัญหาที่ดินของชาวเลมีแนวโน้มว่าชาวเล 40 ครัวเรือนอาจจะไร้ที่อยู่อาศัยเพราะเอกชนต้องการที่ดินเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว

นางปรีดา กล่าวต่อว่า ขณะที่ชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต มีจํานวน 244 ครัวเรือน มีชาวเลอาศัยอยู่กว่า 2,000 คน ถูกฟ้องขับไล่ 117 ครอบครัว และมีแนวโน้มว่าจะถูกทยอยฟ้องทั้งชุมชน แต่อย่างไรก็ตามอยู่ระหว่างความพยายามต่อสู้เรื่องที่ดินในชั้นศาล ประเด็นเช่นนี้ต้องถูกนำมาพูดควบคู่กับการนำเสนอเรื่องราวชาวเลในมุมของการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ต้องการการปกป้องรักษาธรรมเนียม ประเพณีที่ควรจะสอดรับกับการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ซึ่งการประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวเลก็นับเป็นทางออกหนึ่งประเทศไทยควรให้ความสำคัญ เพื่อไม่ให้การท่องเที่ยวสมัยใหม่กลืนกินวัฒนธรรม แต่ให้การท่องเที่ยวยอมรับวัฒนธรรมเดิมแทน ส่วนตัวเชื่อว่าชาวเลมีดีหลายอย่าง

สภาพบ้านนายมะเหร็น
สภาพบ้านนายมะเหร็น

“ที่ผ่านมาเราเห็นข่าวชาวเลออกในมุมถูกทำร้ายมาตลอด แต่ตอนนี้ต้องบอกให้ได้ว่าพวกเขามีอะไรดี ทั้งในแง่การประมง การแสดงและการเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวที่มีสิทธิแสดงออกอย่างเต็มที่ในทุกด้าน มีสิทธิปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิม และภาคการท่องเที่ยวต้องยอมรับในความเป็นชาวเลและให้เขาอยู่ในพื้นที่ได้ ไม่ใช่ให้พวกเขาถอยออกไปไกล เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามา เมื่อโรงแรมเข้ามา” นางปรีดา กล่าว

นายมะเหร็น บางจาก อายุ 65 ปี ชาวเลอูรักลาโว้ย ชุมชนราไวย์ กล่าวว่า การจัดงานวันรวมญาติชาวเลทุกปีเป็นวันที่ชาวเลทุกคนรอคอย เพราะจะได้เจอกับพี่น้องชาวเลจากหลายพื้นที่ แม้การเจอกันทุกครั้งจะเป็นการเจอเพื่อพูดถึงปัญหาที่ดิน ที่ทำกินก็ตาม แต่ว่าการพบเจอพี่น้องชาวเลมันคือความยินดีที่ได้พบคนมีวัฒนธรรมเดียวกัน มีชะตากรรมคล้ายกัน คือ ต้องย้ายบ้านคล้ายกับการจัดระเบียบโดยรัฐและเอกชน อย่างกรณีของตนนั้นถูกนายทุนฟ้องขับไล่ตั้งแต่ปี 2549 ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาล แต่ตนและครอบครัวก็อยู่อย่างระแวดระวังเพราะถูกกรมบังคับคดีส่งหนังสือให้รื้อถอนบ้านอยู่ต่อเนื่องหลายครั้ง และไม่แน่ใจว่าวันหนึ่งจะโดนใครมารื้อถอนบ้านหรือเปล่าก็ไม่อาจทราบได้ เพราะเมื่อ 3 เดือนที่แล้วตนได้รับการประกันตัวจากศาลพร้อมกับนายอานัน บางจาก ก็ต้องเดือดร้อนหาเงินมาต่อสู้

“บ้านผมหลังหนึ่งอยู่กันราว 14 คน เป็นญาติกันทั้งหมด ทุกคนทำงานรับจ้างรายวัน บางวันต้องงดรับจ้างไปออกเรือเพื่อหาปลา โดยปัจจุบันนี้เรือลำหนึ่งชาวเลต้องนั่งไปกัน 5-6 คนไปหาปลามากิน มาขาย ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากเลยทีเดียว แต่น้ำไฟยังแพง เราต้องเก็บเงินไว้จ่ายอย่างอื่น” นายมะเหร็น กล่าว

นายมะเหร็น กล่าวต่อว่า บ้านหลังดังกล่าวปลูกได้นานกว่า 30 ปีแล้ว หลังจากชาวเลถูกย้ายออกจากบริเวณหน้าหาดราไวย์ มาถึงตอนนี้ตนเองก็ไม่กล้าหวังว่าจะต้องถูกย้ายไปที่อื่นหรือไม่ แต่ถ้าราไวย์สู้แล้วแพ้คงต้องย้ายทั้งชุมชน เพราะชาวเลคนเก่าแก่อย่างตนไม่อยากอยู่ไกลครอบครัวเครือญาติ อย่างไรก็ตาม หากราไวย์ต้องย้ายชุมชนในตอนนี้ค่อนข้างจะย้ายลำบาก เพราะราไวย์เติบโตมากับการรับจ้างขับรถ ขับเรือรับจ้างนักท่องเที่ยว รับจ้างส่งของ และหาสัตว์ทะเลประทังชีวิต ถ้าต้องย้ายออกจากพื้นที่ไปอยู่แบบไม่มีงานเลยจะลำบากมาก ยืนยันว่าตนไม่เคยคิดว่านักท่องเที่ยวเป็นศัตรูและมั่นใจว่าจะอยู่กับระบบการท่องเที่ยวได้หากไม่ถูกไล่ที่ แต่การจะอยู่อย่างมั่นคงต้องมีน้ำ มีไฟใช้เหมือนเอกชนทั่วไป

ทั้งนี้ ในงานวันรวมญาติชาวเลจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2559 ณ หาดราไวย์ โดยจะมีชาวเลจากจังหวัดอื่นเดินทางมาร่วมงานด้วย และมีเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ทำไม ต้องคุ้มครองทางวัฒนธรรม” โดยมีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) นักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ รวมทั้งตัวแทนชาวเลเข้าร่วมเสวนาด้วย พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรองเง็งถวายอาลัยในหลวงด้วย

////////////////////////////////////////////////

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →