เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2559 ที่บริเวณชุมชนหาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ได้มีการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 7 ซึ่งบรรยากาศภายในงานเริ่มต้นด้วยพิธีเปิดด้วยการแสดงรองแง็งถวายอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะที่รอบๆ มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายวิถีชีวิตของชาวเล รวมทั้งจัดแสดงภาพและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่ชาวเลต้องเผชิญ
เวลา 09.30 น.นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการเปิดงาน โดยกล่าวว่ายูเนสโก้ (UNESCO) ได้เสนอแนวคิดเรื่องนโยบายด้านวัฒนธรรมที่เรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับเรื่องการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมและเสรีภาพทางวัฒนธรรม อีกทั้งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ได้ยกเรื่องวัฒนธรรมเป็นประเด็นสำคัญ มีหัวข้อรายงานว่า เสรีภาพทางวัฒนธรรมในโลกแห่งความหลากหลาย อีกทั้งให้ความเห็นว่าเสรีภาพทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอิสรภาพของมนุษย์และเป็นรากฐานสำคัญของการทำให้คนมีศักยภาพ มีโอกาสเลือก และทำให้เกิดการพัฒนาคนอย่างแท้จริง ประเทศไทยเองได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมืองที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2007 สิทธิหลักๆ ของชุมชนพื้นเมือง ได้แก่ สิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากร สิทธิในการกำหนดตนเอง สิทธิในการมีฉันทามติโดยอิสระ ล่วงหน้า
“ผมทราบดีว่า วันนี้ชาวเลยังมีปัญหาอีกหลายประการที่ ทั้งเรื่องที่ดินที่ทำกินในทะเล พื้นที่ประกอบพิธีกรรม สุสาน และยังมีชาวเลที่ไร้สัญชาติอีกประมาณ 400 คน เพราะปัญหาของชาวเล เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายๆ กระทรวง ดังนั้น การที่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลมาพบกันในวันนี้ และมาประชุม ปรึกษาหารือ ทำข้อเสนอ หรือแนวทางในการแก้ปัญหา ต่อรัฐบาล ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องที่ดีเป็นกระบวนการที่สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ผลสรุปของการประชุมปรึกษาหารือในวันนี้ ผมยินดีที่จะรับไปพิจารณา หากสิ่งใดที่ทางจังหวัดดำเนินการได้ก็จะทำให้ทันที แต่หากที่ต้องเสนอระดับนโยบายประเทศ ผมก็ยินดีที่จะร่วมผลักดันให้บรรลุผล” นายสนิท กล่าว
ภายหลังพิธีเปิดงานได้มีเวทีเสวนา “เรื่องทำไม? ต้องคุ้มครองทางวัฒนธรรม โดยมีตัวแทนนักวิชาการ ทนายความ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) ตัวแทนภาคประชาชน และตัวแทนชาวเลเข้าร่วมทั้งนี้นายคมสันต์ โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หลังจากการต่อสู้มาเนิ่นนานของชาวเล หลายฝ่ายมีการหารือกันเพื่อหาช่องทางคุ้มครองชาวเลอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ หลายฝ่ายร่วมกันร่าง พระราชบัญญัติ (พรบ.) เกี่ยวกับเขตวัฒนธรรมพิเศษ ขึ้นมา โดยตนทำหน้าที่ด้านกฎหมายและวางโครงสร้างคร่าวๆ แล้วเพื่อใช้ให้ครอบคลุมกับทุกชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม เบื้องต้นใช้ชื่อประมาณว่าพรบ.ส่งเสริมการคุ้มครองเขตวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ โดยวางโครงร่างไว้ และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นก่อนจะระบุเนื้อหาอีกครั้งเพื่อผลักดันต่อไป ขณะนี้ยังไม่ได้ชัดเจนมากนัก
“เหตุที่ต้องมีกฎหมายเพราะมติคณะรัฐในตรี (ครม.)มีไว้ไม่ทำกัน อย่างคดีปู่คออี้ แก่งกระจานที่อยู่มานาน เห็นชัดว่ามติ ครม. 19 มิถุนายน 2553 ใช้ไม่ได้เพราะอุทยานแห่งชาติไม่ยอมรับการมีอยู่ของปู่และกะเหรี่ยงหลายคนที่อยู่มาก่อน มติ ครม.จะใช้ยากมาก โดยเฉพาะใช้บังคับหน่วยงานรัฐ เลยคิดว่าแนวทางการผลักดันพรบ.ฉบับนี้จะช่วยได้บ้าง แต่ตัวสำคัญที่ต้องพูดให้ชัด คือ คำว่า ชาติพันธุ์ ซึ่งต้องฟังฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มาช่วยให้นิยามความหมายก่อน เนื้อหากฎหมายจะได้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ในตัวโครงสร้าง คือ จะวางหลักการว่าจะกำหนดแนวทางเช่นไร หลายคนมองแค่ว่า พื้นที่ที่จะคุ้มครองต้องเป็นจังหวัดไหนบ้าง อำเภอ ชุมชน แต่จริงๆ มันมีมากกว่านั้น แม้แต่การแสดงออก พื้นที่สาธารณะ และปัจจัยอื่นๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน จึงต้องลงรายละเอียดมากหน่อย” นายคมสันต์ กล่าว
นายนิรันดร์ หยังปาน ตัวแทนชาวเลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เห็นด้วยกับการยกร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองเขตวัฒนธรรม เพราะนานกว่า10 ปีแล้วที่ชาวเลต้องต่อสู้กับปัญหาหลายด้าน แต่การแก้ปัญหาก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ดังนั้นจึงต้องมีเขตวัฒนธรรมที่ชัดเจน เพื่อยืนยันว่าพี่น้องชาวเลมีมีสิทธิ์เท่าเทียม พลเมืองรายอื่นในประเทศไทย โดยปัญหาใหญ่ คือ ความชัดเจนเรื่องที่ดินและที่ทำกิน ส่วนตัวเสนอว่า น่าจะมีการทำข้อมูลออกสู่สาธารณะหน่อย โดยเฉพาะข้อมูลที่ชาวเลได้ทำเอง เช่น กรณีได้รับทุนวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) ทำวิจัยความสัมพันธ์ของชุมชนชาวเลราไวย์ซึ่งพบว่า ชาวเลราไวย์พัฒนาชุมชนจากการเป็นญาติกันและมักสร้างบ้านใกล้ๆ กันเพราะมีความสัมพันธ์ทางครอบครัวที่ใกล้ชิด ซึ่งชาวบ้านได้ทำผังเครือญาติไว้เป็นตัวอย่างแล้ว หากมีการเผยแพร่ออกไปก็อาจจะช่วยให้คนนอกรู้ว่าลักษณะครอบครัวชาวเลเป็นอย่างไร
นางแสงโสม หาญทะเล ชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูลกล่าวว่า เหตุผลที่ต้องมีการคุ้มครองเขตวัฒนธรรม เพราะว่าชาวเลมีตัวตนอยู่แต่ถูกลิดรอนทั้งตัวตนของชาวเล วิถีชีวิตของชาวเลในการทำมาหากิน ทั้งที่มีการทำมายาวนาน แต่สังคมกลับไม่ยอมรับ เช่น ชาวเลมีการแช่หวายไว้ในทะเลเพื่อเตรียมเอามาสานไซดักปลา ก็ถูกห้าม ว่ารุกที่ทะเล ชาวเลจะประกอบกิจกรรม พิธีอันใด ก็ไม่กล้าทำ เพราะต้องเกรงใจนักท่องเที่ยว ชาวเลต้องหลบซ่อน ดังนั้นสนับสนุนให้มีการคุ้มครองเขตวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้มีกฎหมายคุ้มครองเขตวัฒนธรรม แต่ในการเขียนกฎหมายนั้นต้องพยายามสร้างกฎหมายที่ช่วยให้คนมีจิตสำนึกที่ดีด้วย คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิตยินดีอย่างยิ่งจะสนับสนุนนักกฎหมาย เพื่อส่งเสริม ให้เกิดการยกร่างกฎหมายที่ดีสำหรับทุกชาติพันธุ์
“ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่เพิ่งผ่านมา หลายครั้งที่นักกฎหมาย นักวิชาการท้วงติง โดยเฉพาะประเด็นที่หลุดไปจาก รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งหลายฝ่ายพยายามช่วยกันแก้ไขให้คุ้มครองชุมชน, ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตามลักษณะพลเมืองไทยที่ตั้งชุมชนแตกต่างกันไป ช่วงนี้เป็นสูญญากาศ เพราะผมคิดว่าต้องเร่งทำแล้ว และที่สำคัญการร่างกฎหมายครั้งนี้หากทำจริงจัง และรอบครอบจะได้เปรียบเพราะรัฐธรรมนูญใหม่หากใครฝ่าฝืนกฎหมาย จะสามารถฟ้องร้องได้ทันที โดยไม่ต้องไปศึกษากฎหมายลูก เพราะกฎหมายสิทธิชุมชนนั้นอยู่ในบัญญัติรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว” ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา กล่าว
นางสาวพรสุดา ประมงกิจ ตัวแทนชาวเลแหลมตง กล่าวว่า คาดว่าใน 2560 ชาวเลแหลมตง อาจจะไม่มีที่อยู่อาศัยแล้ว เพราะพยายามปรับตัวรับการท่องเที่ยว โดยขณะนี้ชาวเลมีความสามารถปรับตัวทั้งเรื่องการฝึกภาษาต่างประเทศ จีน อังกฤษ จนสามารถเป็นไกด์สมัครเล่นได้แล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดมาบอก มาอนุญาตให้ชาวเลสามารถใช้ทักษะดังกล่าวเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างถูกต้อง และพอชาวเลปรับตัวมากๆ ที่ดินที่อยู่กลับหายไปช้าๆ ขณะที่ภาษาอูรักลาโว้ยก็หายไปเช่นกัน ซึ่งชาวเลพยายามทำโครงการสอนภาษาอูรักลาโว้ยที่ใช้ภาษาอูรักลาโว้ยอยู่ ถ้ามีการคุ้มครองจะดีมาก
ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคมจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การคุ้มครองภายใต้กฎหมายเท่ากับการพิสูจน์สิทธิของชาวเลไปในตัว ทั้งนี้ในการร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีกระทรวงอีกหลายแห่งเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา เพราะการประกาศเขตวัฒนธรรม ไม่ใช่คุ้มครองแค่พื้นที่ แต่เราต้องคุ้มครองวิถี การดำรงชีพแบบยั่งยืนด้วย
“วัฒนธรรมไม่ใช่แค่แต่งตัว ใช้ภาษา คือ วัฒนธรรมการทำกิน พิธีเกิด พิธีตอนตาย พิธีตอนอยู่ด้วย เช่น การแช่หวายในทะเล การวางลอบ การจอดเรือ การเล่นของเด็กๆ ชาวเลที่ตอนนี้ยังทำได้ แต่ถ้ามีโรงแรมเข้ามาก็ทำไม่ได้ เพราะการท่องเที่ยวพูดถึงปริมาณเงินที่เข้ามา จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาแต่ละปี ไม่พูดถึงความพอเพียง รัฐบาลพูดเสมอว่า ชาวเลทำตัวพอเพียง กินอยู่พอดีแล้ว แต่แปลกที่กลับเปิดโอกาสให้โลกภายนอกมาเบียดเบียนความพอเพียง นอกจากนั้นแล้ววัฒนธรรมยังหมายถึง ศูนย์รวมจิตใจ คือ ไม่ใช่แค่เรือก่าบาง ไม่ใช่แค่ชุด ภาษา ที่อยู่ แบบบ้าน แต่หมายถึงปรัชญาการดำรงชีวิตด้วย และการดำรงชีวิตของชาวเลก็พอดีจริง” ดร.นฤมล กล่าว
พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณชาติพันธุ์ชาวเล กล่าวว่า คนพื้นเมืองที่ภูเก็ต ไม่ใช่คนไทยที่ไม่มีเชื้อชาติ แต่เป็นชาวเลและซาไก ข้อมูลนี้ได้มาจากหนังสือของจังหวัดเอง และหนังสือของต่างประเทศก็พบว่าชาวเลอยู่มากว่า 400 ปี ก็มีการอยู่มานานแล้ว ดังนั้นวัฒนธรรมชาวเลต้องยังอยู่ เพราะวัฒนธรรม คือ สิ่งที่บอกตัวตนของทุกเรื่อง ถ้าสูญหายไปแล้วจะไม่เหลืออะไรเลย
“ก่อนการประกาศเขตคุ้มครองวัฒนธรรม ผมอยากเสนอภาครัฐที่พยายามจะซื้อที่ดินชุมชนราไวย์ให้ชาวเลอยู่ หลังพบว่าออกเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผมอยากให้เปลี่ยนจากซื้อมาเป็นจ่ายเงินเยียวยาเจ้าของโฉนดแทน แล้วปล่อยชาวเลเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีเวลาอีกครึ่งปีจะครบ 10 ปี ของการเป็นสมาชิกที่ลงนามกับสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิชนพื้นเมืองทั่วโลก ซึ่งชาวเลที่ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย พม่า และอินโดนีเซียฯลฯ ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างต้องมีการคุ้มครองเขตวัฒนธรรมแก่ชนพื้นเมือง จึงเห็นด้วยให้มีกฎหมายคุ้มครองเขตวัฒนธรรม