Search

ชี้รัฐบาลพม่าจับมือจีนสร้างเขื่อนสาละวิน แฉเร่งตัดไม้มหาศาล-สร้างเขตหวงห้าม เชื่อโหมกระพือการสู้รบรุนแรงขึ้น

received_10210341090139539
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2559 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “แลฮะ สาละวิน” ที่คณะนิติศาสตร์โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน เป็นประชาชนจากลุ่มน้ำสาละวินทั้งใน จ.แม่ฮ่องสอน และรัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านจากเครือข่ายลุ่มน้ำต่างๆ อาทิ แม่แจ่ม แม่ยม และแม่น้ำโขง นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้สนใจ

received_10210341091219566

กิจกรรมเริ่มในเวลา 9.00 น. โดยมีการแสดงของเยาวชนกลุ่มเสียงสาละวินจากบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และการฉายวีดิทัศน์ เขื่อน สงคราม สาละวิน โดยนายซอโพชี นักสิ่งแวดล้อมชาวกะเหรี่ยงได้นำเสนอสารคดีจากการลงพื้นที่สร้างเขื่อนสาละวินบริเวณโครงการเขื่อนฮัตจี (Hat Gyi Dam) ในพื้นที่กองพลที่ 7 ของกองกำลังสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ได้เข้ามาโจมตีพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พศ.2552, พศ.2554 และพศ.2557 กองกำลังทหารพม่าเข้าโจมตีและยึดถนนได้ ต่อมาสถานการณ์ในประเทศพม่าเริ่มเปลี่ยน และมีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่กลับมีการพยายามแทรกแซงของกองกำลังพม่าเพื่อเข้ามาอยู่ในหัวงานเขื่อน

นายซอโพชีตั้งข้อสังเกตการณ์ว่า ความพยายามดังกล่าวเกี่ยวข้องการผลักดันสร้างเขื่อนและมีความเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวบ้านในพื้นที่ 3,000 กว่าคนเข้าไปอยู่ในเขตกองกำลังพม่า และชาวบ้านบางส่วนก็หลบอยู่ในป่า สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือ มีการปะทะกันในพื้นที่ประปรายและไม่เป็นข่าว ปัจจุบันเห็นได้ว่าสถานการณ์การเมืองในพม่าเปลี่ยนไปอย่างมาก มีทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปในพม่า ธนาคารโลกก็เข้าไปดำเนินการกับกรมไฟฟ้าพลังน้ำของพม่า โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีการประกาศว่าจะดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนฮัตจีในปี 2561

received_10210341187301968

นายซอ ต่าโพ ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำกะเหรี่ยง (Karen River Watch) กล่าวว่า สถานการณ์การสู้รบช่วง พศ. 2555 ที่เริ่มกระบวนการสันติภาพระหว่างกองกำลัง KNU และกองทัพพม่า ช่วง พศ.2556 รัฐบาลพม่าประกาศเดินหน้าโครงการเขื่อนสาละวิน 5 แห่งในรัฐฉาน รัฐคะเรนนี และรัฐกะเหรี่ยง กำลังผลิตติดตั้งรวมประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ โครงการที่มีความคืบหน้ามากคือเขื่อนกุ๋นโหลง (Kunlong Dam) ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ มีการเริ่มกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และตัดถนนเข้าไปในพื้นที่สร้างเขื่อนแล้ว แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ก่อนที่นางซูจีจะเดินทางไปเยือนประเทศจีน มีการทำข้อตกลงว่าต้องสร้างสะพานและโรงพยาบาลในเขตกุ๋นหลง ส่วนโครงการเขื่อนหนองผา (Nong Pha Dam) อยู่ในพื้นที่กองกำลังว้า (UWSA) โครงการเขื่อนมายตง (Mong Ton Dam) หรือเดิมคือโครงการท่าซาง พบว่าในพื้นที่มีการทำไม้จำนวนมากโดยบริษัทเอกชน และพบว่ามีการขนไม้ออกจากพื้นที่เขื่อนมหาศาล และไม้ที่ยังไม่ขนก็ยังมีอีกมาก มีการเข้มงวดเกี่ยวกับการตรวจเอกสารบุคคลที่จะเข้าพื้นที่ แม้จะเป็นคนพม่ามีบัตรประชาชนก็ตาม สำหรับโครงการเขื่อนยะวาทิต (Ywatith Dam) มีบริษัทจีนเข้าไปสำรวจพื้นที่แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

“ที่น่าเป็นห่วงมากคือโครงการเขื่อนฮัตจี เพราะเป็นหนึ่งในโครงการที่ต้องผลักดันให้เข้าระบบพลังงานของพม่าในปี 2563 แต่ล่าสุดมีการปะทะกันในพื้นที่แนวถนนสู่หัวงานเขื่อน มีการยิงปืนใหญ่วันละ 100-130 ครั้ง มีการย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่แนวถนน และตลอดแนวแม่น้ำสาละวินมีการเกณฑ์ชาวบ้านออกจากพื้นที่น้ำท่วม การปะทะครั้งนี้ทำให้เกิดผู้หนีภัยสงครามประมาณ 6,000 คนใกล้ชายแดนไทย เขตอ.ท่าสองยาง จ.ตาก เด็กและผู้หญิงกลายเป็นผู้อพยพมากที่สุด” นายซอ ต่าโพ กล่าว

นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เดิมเขื่อนสาละวินจะก่อสร้างบริเวณชายแดนไทยพม่า แต่ประชาชนคัดค้านกันมาก และมีกฎหมายและข้อตกลงที่ต้องปฏิบัติมากมาย ทำให้โครงการเขื่อนต้องขยับออกไปในพม่า แต่ก็เป็นแม่น้ำสายเดียวกัน ผลกระทบย่อมถึงคนจ.แม่ฮ่องสอนแน่นอน ขณะนี้กระบวนการสร้างสันติภาพในพม่ายังไม่ยุติ มีการเจรจาต่อรองในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับรัฐบาลพม่า

“ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขณะนั้นเห็นว่าเราห่วงเพียงประเทศไทยไม่ได้ หากเรานิ่งเฉยเราก็ยิ่งทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งไม่ใช่เพียงสงคราม แต่รวมถึงการทำลายวิถีชีวิต ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และผู้ก่อสร้างโครงการ กสม.จึงไม่ได้นิ่งนอนใจ ในปี 2548 มีข้อเสนอให้ยุติการก่อสร้างไว้ก่อน ต่อมาในปี 2554 สำนักนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีข้อเสนอให้ทำการศึกษาผลกระทบใหม่ และตั้งคณะกรรมการติดตามเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ เนื่องจากไม่มีเปิดเผยข้อมูลให้แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ ต่อมามีการรัฐประหารทำให้คณะกรรมการเหล่านั้นหมดอำนาจไป อย่างไรก็ตามเราได้เตือนไว้แล้วว่า การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งคือเมื่อปี 2553 มีเจ้าหน้าที่กฟผ.ที่ลงสำรวจพื้นที่ต้องเสียชีวิต”นางสุนีกล่าว

อดีตกสม. กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลไทยจะอ้างข้อเสนอของกสม. เรื่องประชาธิบไตย การเลือกตั้งและข้อตกลงหยุดยิงในพม่า พบว่าสถานการณ์จริงในพื้นที่ยังไม่สงบ ซึ่งไม่ควรที่จะสร้างเขื่อน รัฐบาลไทยมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยไทยต้องเป็นตัวตั้งในการทบทวนการสร้างเขื่อนฮัตจี และต้องช่วยประคับประคองความเดือดร้อนของพี่น้องชาติพันธุ์ต่างๆ และยึดหลักรัฐธรรมนูญไทยให้โอกาสเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และประชาชนที่อยู่ใน จ.แม่ฮ่องสอนก็มีสิทธิที่จะเคลื่อนไหว และสามารถร่วมมือกับชาวบ้านในฝั่งพม่าได้

ดร.นัทมน คงเจริญ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าปัญหาของเขื่อนฮัตจีและเขื่อนสาละวินมีประเด็นแตกต่างจากที่อื่นคือ มีการใช้ความรุนแรงเพื่อย้ายคนออกจากพื้นที่ เพื่อลดปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย มีการใช้กำลังปราบชุมชนในพื้นที่ เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความรุนแรงเป็นหลักการเพื่อให้ผลประโยชน์ หากเราจะต้องต่อสู้คือ ต้องใช้หลักการทางด้านมนุษยธรรมและหลักการทางสิ่งแวดล้อม หลักการด้านสิทธิในด้านอำนาจการตัดสินใจ การได้รับข้อมูล การปรึกษา สิทธิชนเผ่าดั้งเดิม

นางสาวจ๋ามตอง ตัวแทนเครือข่ายแม่น้ำรัฐฉาน กล่าวว่าบริเวณรอบๆ โครงการเขื่อนกุ๋นโหลง มีการสู้รบในเขตกลุ่มโกกั้ง ทำให้มีชาวบ้านจำนวนมากต้องอพยพหนีเข้าไปในจีน

“ในรัฐฉานเวลานี้แม่น้ำหลายสายที่กำลังจะถูกสร้างเขื่อนมีบริษัทต่างประเทศที่ให้ทุนในกระบวนการสันติภาพในพม่า แต่กลับมีแผนจะไปลงทุนสร้างเขื่อนในแม่น้ำต่างๆ ทำให้ประชาชนในรัฐฉานมีความตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก เมื่อรัฐบาลพม่าที่นำโดยพรรค NLD ประกาศจะสร้างเขื่อน นางอองซานซูจี ครั้งเมื่อเดินทางไปจีน มีการคุยกันเรื่องพลังงาน เครือข่ายภาคประชาสังคมคาดว่าจะมีการเจรจาเปลี่ยนให้จีนมาสร้างเขื่อนสาละวินแทนเขื่อนแม่น้ำอิรวดี ซึ่งชาวพม่าคัดค้าน อย่างไรก็ตามพวกเรามีสส.รัฐฉาน ที่ออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนสาละวิน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการสร้างสันติภาพในพม่าอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้” นางสาวจ๋ามตอง กล่าว

On Key

Related Posts

นายจ้างสีขาว-ลูกจ้างต่างด้าวหวั่นข้อมูลลงทะเบียนแรงงานหลุดถึงมือรัฐบาลพม่า-เชื่อถูกนำไปเช็คบิลแน่หลังรัฐบาลทหารพม่าถังแตกสั่งเรียกเก็บภาษี 25% ชาวมอญตื่นสั่งลูกเลิกเรียนแห่กันเข้ามาขุดทองในไทย

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 นางนิลุบล พงษ์พะยอม ตัวRead More →

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →