Search

ฟ้องอีกชุมชน 100 ปีเมืองตรัง ข้อหาบุกรุกป่าเทือกเขาบรรทัด นักวิชาการม.เกษตรพร้อมเป็นพยานยืนยัน เผยพบต้นไม้ใหญ่ชี้ชัดอยู่กันมานาน

tree2

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 นายสุทิน บรมเจต นักกฎหมายจากสภาทนาย ที่ปรึกษาและให้การช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนบ้านตระ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งถูกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดฟ้องร้องข้อหาบุกรุกที่ดินและครอบครองที่ดินรัฐ เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ศาลจังหวัดตรังจะพิจารณาไต่สวนพยานบุคคลครั้งสุดท้ายกรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และอุทยานแห่งชาติเขาปู่ย่า ฟ้องร้องชาวบ้านตระ ในเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท)ปัจจุบันคือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)  ได้แก่ 1 นายอัมมร บรรถะ 2 นายเรวัตร อินทร์ช่วย 3 นายสมพร อินทร์ช่วย ข้อหาบุกรุก ก่อสร้าง แผ้วทางป่า ยึดถือครอบครอง กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งดำเนินการฟ้องตั้งแต่ปี 2549 แต่ทาง คปท.ยื่นเรื่องขอชะลอคดีความไว้เป็นเวลาเกือบ 10 ปี จนมาถึงปี 2559 ทางศาลจึงได้นัดไต่สวนเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องได้นำเอกสาร หลักฐาน และนำพยานไปให้ปากคำต่อศาล ซึ่งในการสอบพยานเพิ่มเติมวันสุดท้ายนี้ตนจะนำพยานชำนาญการ คือ รศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการอาวุโสประจำมหาวิทยาละเกษตรศาสตร์ ผู้เคยทำวิจัยความสมบูรณ์ในบ้านตระและป่าเทือกเขาบรรทัดขึ้นไปเป็นพยานให้การต่อศาลด้วย โดยส่วนตัวคาดว่าคำให้การของพยานบุคคลท่านี้จะเป็นประโยชน์กับการต่อสู้คดีของชาวบ้าน

นายเรวัตร อินทร์ช่วย อายุ 52 ชาวบ้านตระ ตำบลปะเหลียน หนึ่งในผู้ถูกฟ้อง กล่าวว่าชุมชนบ้านตระ อยู่ทางทิศตะวันออกของเทือกเขาบรรทัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ราบหุบเขา มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านที่นี่อยู่กันมา 100 ปีแต่ยังยึดอาชีพดั้งเดิมคือ ทำสวนยาง สวนผลไม้จำพวกทุเรียน มังคุด สะตอ บ้านผมมีพื้นที่ 20 ไร่ในหมู่ 2 และอยู่ใจกลางเทือกเขาบรรทัดก็จริง ก็ทำสวนยางผสมกับสวนผลไม้เป็นหลัก ไม่ได้ขยายพื้นที่เพิ่มเติม มีแต่จะรวมตัวกันดูแลป่ามาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งแม้จะดูแลป่ากันแต่ก็ยังโดนรัฐจับอยู่เรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องเรียกร้องสิทธิในการดูแลป่าด้วยการทำเป็นโฉนดชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ไร่ ซึ่งการจัดการที่ดินในแบบโฉนดชุมชนช่วยให้ตนและชาวบ้านได้พึ่งพาที่ดินจากการทำเกษตรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยรักษาป่าไว้อย่างสมบูรณ์

tree
“สมาชิกในเครือข่ายที่ทำโฉนดชุมชน มีด้วยกัน 75 ครัวเรือน วางกติกาจัดการป่าไว้อย่างดิบดี เช่น ห้ามทำลายป่าสมบูรณ์ ห้ามล่าสัตว์ที่กำลังสูญพันธุ์ และล่าเพื่อการค้าอย่างเด็ดขาด ปลูกป่าทดแทน ส่วนการจัดการที่ดิน เช่น หากจะโค่นยางพาราที่หมดสภาพเพื่อปลูกทดแทนให้โค่นปีละไม่เกิน 5 หย่อมบ้านละไม่เกิน 10 ไร่และต้องไม่เป็นแปลงติดกัน นอกจากนี้ยังมีกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อควบคุมให้มีการเปลี่ยนมือที่ดินเฉพาะภายในชุมชนและใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร ด้วยแต่แล้ววันหนึ่งเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปตรวจและดำเนินการฟ้องแต่ตอนนั้นชาวบ้านเองก็เข้มแข็งพอสมควรเพราะมีเครือข่ายที่ดี จึงยื่นเรื่องขอชะลอคดีทำให้ผมและเพื่อนๆ คปท. ไม่ถูกตัด ฟัน พืชผล แต่ยังไม่กล้าคิดว่าหลังศาลสืบพยานเพิ่มแล้วนัดพิพากษาจะมีผลออกมาอย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อมันในนักวิชาการที่เคยไปทำวิจัย และยืนยันว่าชาวบ้านต้องการที่ทำกินในบ้านเกิดเท่านั้น หากโดนรัฐยึดที่แล้วไม่รู้จะอาศัยแผ่นดินตรงไหนอยู่อาศัยและทำกิน จึงคิดว่าในเมื่อชาวบ้านตระไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่มีเอกสารใดๆ ก็ขอเอาโฉนดชุมชนนี่แหละเคลื่อนประเด็นจัดการที่ดินที่เกิดประโยชน์แก่ทุกคน และการที่ชาวบ้านตระทำกินตรงนั้นก็ช่วยรักษาป่าโดยรอบด้วย ป่าโดยรอบที่ว่า คือ ป่าต้นน้ำซึ่งชาวบ้านไม่เคยบุกรุกเพิ่มเติมเลย” นายเรวัตร กล่าว

นายเรวัตร กล่าวด้วยว่า การปลูกยางของชาวบ้านตระ มีต้นยางแก่ๆ อย่างสวนของตนบางต้นก็อายุราว 50 ปีแล้ว ส่วนตัวนั้นมีที่ดินที่ทำกินตกทอดมาจากพ่อแม่มีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ปลูกยางผสมกับไม้ผลอื่นๆ สลับกันไป โดยตนทำกินบนซึ่งป่าเทือกเขาบรรทัดนับได้ว่าเป็นป่าสมบูรณ์ มีไม้ใหญ่ อย่างเช่นตะเคียนอยู่ทั่วป่า มีต้นไม้เก่าแก่ เช่น ต้นทุเรียนอายุร้อยปียังมีอยู่ และยังไม่มีการปล่อยสัมปทานครั้งใหญ่ การฟ้องร้องดำเนินคดีกับตนและชาวบ้านบางส่วนเหมือนกับจุดเริ่มต้นของการเปิดป่าเพื่อประโยชน์ด้านอื่นของรัฐหรือเปล่า เช่น การเปิดสัมปทานเหมืองแร่ใหม่ในเขตเทือกเขาบรรทัด ซึ่งหากมีเอกชนมาขอสัมปทานภายหลังต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปีอาจจะต้องถูกโค่นลง ส่วนนี้ตนอดทนจะไม่มองรัฐบาลอย่างมีอคติไม่ได้

ด้าน รศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และผู้วิจัยความสมบูรณ์ในเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ตนทำวิจัยและเดินสำรวจป่าเทือกเขาบรรทัดหลายที่ ยืนยันว่าชุมชนบ้านตระมีการตั้งถิ่นฐานมานานนับร้อยปีและกรมแผนที่ก็ทำแผ่นที่ไว้ในปี 2457 จากการสัมภาษณ์ สอบถามชาวบ้านอายุ 80-90 ปีก็พาไปดูต้นไม้ เช่น ต้นยางพารา ต้นทุเรียน ต้นกระท้อนใหญ่ราว 2-3 คนโอบ และจากการวิจัยเมื่อปี 2553 โดยการคำนวณอายุต้นไม้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ป่าก็พบว่าอายุต้นไม้ พืชผล อาสินธุ์ที่ชาวบ้านปลูกมีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี อีกทั้งจากการวิจัยยังพบด้วยว่าการทำเกษตรของชุมชนบ้านตระเป็นระบบเกษตรที่ทำให้โลกเย็น อย่างไรก็ตามตนจะนำเสนอผลวิจัยดังกล่าวต่อศาลเพื่อยืนยันว่าชาวบ้านตั้งรกรากมานานแล้ว

อนึ่งข้อมูลจากการวิจัยของชาวบ้านร่วมกับฝ่ายวิชาการระบุว่า ชุมชนบ้านตระตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของ 3 จังหวัดคือ ตรัง สตูล และมีต้นยางพาราพันธุ์พื้นเมืองอายุระหว่าง 60-100 ปี อยู่ในชุมชนประมาณ 1,000 ต้น
//////////////////////////////////////////

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →