เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 นายวิศรุต สำลีอ่อน รองคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางคณะทราบว่ามีเยาวชนไทใหญ่ซึ่งมีความสามารถในการเล่นกีฬาฟุตบอลและมีความสนใจอยากเรียนนิติศาสตร์ จึงนำเรื่องไปปรึกษามหาวิทยาลัยรังสิตและมีข้อเสนอทางออกสำหรับเยาวชนไทใหญ่ให้สมัครขอรับทุนการศึกษาประเภทมีความสามารถทางการกีฬา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยยินดีรับสมัคร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เรียนเอง ซึ่งหากตัดสินใจมาเรียนแล้วทางมหาวิทยาลัยยินดีต้อนรับ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากเยาวชนไทใหญ่ว่าจะตกลงมาเรียนหรือไม่ ซึ่งหากต้องการจะดำเนินการเมื่อใดก็สามารถติดต่อมาได้ในเวลาราชการ และทางคณะอาจารย์ในคณะยินดีช่วยเหลือ
“ทุนดังกล่าวเป็นใครก็ขอได้ ไม่ได้เป็นทุนพิเศษหรือเราเลือกที่เฟ้นหาใครเป็นพิเศษเลย แต่เป็นเรื่องทั่วไปที่มหาวิทยาลัยทำมานานแล้ว ยังไงก็เถอะผมฝากประชาสัมพันธ์ไปยังบุคคลทั่วไปที่สนใจจะเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใด เชื้อชาติใด หากคุณเป็นเยาวชนที่ถือบัตรอะไรก็ตามและมีความรู้ ความเข้าใจ มีความสามารถด้านกีฬา คุณมีสิทธิรับทุน แต่ต้องมาสมัครทุนนี้ด้วยตนเอง และเรียนในมหาวิทยาลัยรังสิตเท่านั้น ตัวอย่างการรับทุนของนักศึกษาทีไม่ใช่คนไทยที่ทางมหาวิทยาลัยเสนอให้ทุนประเภทต่างๆ อย่างเช่น นักศึกษาไทยพลัดถิ่นที่เคยเข้ามาเรียนและเรียนจบไปโดยมหาวิทยารังสิตสนับสนุน แต่เป็นทุนคนละประเภท หรือล่าสุดเป็นกรณีหม่อง ทองดี อดีตเยาวชนแข่งเครื่องบินกระดาษ ก็มีข้อเสนอให้ทุนตามความสามารถเช่นกัน ดังนั้นเรื่องการศึกษาเป็นสิทธิของทุกคน” นายวิศรุต กล่าว
นายวิศรุต กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่า เหตุผลที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีการจัดสรรทุนการศึกษาเช่นนี้เพราะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เน้นการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าเรียน โดยไม่ผ่านระบบการสอบแข่งขัน และเห็นด้วยที่มหาวิทยาลัยไม่มีการแบ่งแยกสัญชาติ เชื้อชาติ แม้กรณีของเต้อ (นามสมมติ) เยาวชนไทใหญ่ที่มีความสามารถในการเล่นฟุตบอลจะยังไม่ชัดเจนว่า เขาจะมารับทุนหรือไม่ เพียงแค่มหาวิทยาลัยคุยข้อมูลเบื้องต้นแล้วอยากจะช่วยสนับสนุนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เต้อกับหม่อง ทองดี ต่างเป็นกรณีที่มหาวิทยาลัยพร้อมช่วยเหลือ ขอเพียงประสานงานเข้ามาอย่างเป็นทางการ และอีกประเด็นที่อยากให้คนในสังคมรับรู้ก็คือว่า สิทธิการศึกษาเป็นของทุกคน
นายเต้อ อายุ 21 ปี กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่ได้มีผู้ใหญ่ใจดีให้โอกาสทางการศึกษา แต่ขอเวลาในการคิดใคร่ครวญก่อน เพราะตนเองแม้จะมีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอล แต่ก็ติดเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ละทิ้งการงานเพื่อไปเรียนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องรับผิดชอบครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยปัจจุบันตนถือบัตรเลข 0 หรือบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน และอยู่ระหว่างการช่วยเหลือของทีมนักกฎหมายในการยื่นขอเป็นต่างด้าวที่มีถิ่นฐานอาศัยในประเทศไทย
นายเต้อ กล่าวด้วยว่า ตนย้ายมาจากหมู่บ้านปางแลง เมืองซู่ รัฐฉาน โดยอพยพเข้าประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัยสงคราม เมื่อ2540 และใช้เวลาว่างในการฝึกฟุตบอล ความฝันสูงสุดคือการเป็นนักบอลมืออาชีพ ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งทีมฟุตบอลขึ้นมาชื่อว่า “ทีมแฟมิลี่” ตนเล่นอยู่ในกองกลาง และเดินสายแข่งขันตามทัวร์นาเม้นท์เล็กๆ ตามโอกาส แต่ลึกในใจก็อยากจะเป็นนักกฎหมายเพื่อจะได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพในอนาคต
“ผมไม่รู้หรอกว่า จะสำเร็จไหม แต่ผมรักฟุตบอล ผมยังสับสนพอสมควรว่าผมจะเรียน หรือจะไปต่อแบบนี้ แล้วไปรอความหวังการโอนสัญชาติ แต่ตอนนี้ผมต้องทำงานหาเงิน ผมรับจ้างเป็นพนักงานในโรงแรมที่เชียงใหม่ รายได้ก็พออยู่ได้ แต่เรื่องการเข้าแข่งขันบอลเท่านั้นที่มีปัญหา” นายเต้อ กล่าว
อนึ่ง เต้อเคยเป็นหนึ่งในเยาวชนที่มีความสามารถโดดเด่นในสโมสรฟุตบอล “น่านเอฟซี” ซึ่งประธานสโมสรเคยออกมาร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นายเต้อได้เข้าเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ เพราะติดปัญหาที่นายเต้อไม่ใช่ผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมายจึงไม่ได้รับสิทธินั้น
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมกับข่าวนายเต้อ เยาวชนผู้มีความสามารถด้านฟุตบอลได้ที่ https://transbordernews.in.th/home/?p=10953 .)
//////////////////////////////////