เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 เวลา 14.00 น. ที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ชาวบ้านจากอำเภอจะนะประมาณ 100 คน พร้อมดัวยตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการจากจังหวัดสงขลาและปัตตานี เดินทางเข้าพบตัวแทนรัฐบาล เพื่อนำเสนอข้อมูลและข้อเรียกร้องต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือเทพา โดยมีตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมรับฟัง
นายดิเริก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า การลุกขึ้นคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของชาวบ้านนั้น ไม่ได้ต้องการขัดขวางความเจริญหรือการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานแต่อย่างใด เพียงแต่ไม่เห็นด้วยที่นำถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เพราะมีผลกระทบรุนแรงหลายด้าน และยังเป็นการซ้ำเติมให้กับปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ที่กำลังมีการผลักดันการพูดคุยสันติภาพ เนื่องจากเวทีรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้่งที่ผ่านมา ไม่ใช่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ถูกต้อง มีการแจกของ เกณฑ์คน และกีดกันกลุ่มชาวบ้่านที่มีความเห็นขัดค้านไม่ให้เข้าร่วมกระบวนการ รวมถึงการที่ กฟผ.เปิดให้มีการประมูลผู้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างยังขัดต่อข้อกฏหมาย เนื่องจากโครงการนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล
“เมื่อวานวันที่ 18 ที่ชาวบ้านรับร้อยพากันขึ้นรถไฟเพื่อมาร้องเรียนความเดือนร้อนถึงกรุงเทพฯ ปรากฏว่า กฟผ.แอบส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรังวัดที่ดินในชุมชน 250 ครัวเรือน ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่ยินยอมให้เข้าไปรังวัด เพราะถือว่ารัฐบาลยังไม่อนุมัติโครงการ และในเวทีแสดงความคิดเห็นก็มีการขนคน และบอกชาวบ้านว่าเป็นการจัดละหมาดฮายัติ ชาวบ้านที่ไปก็ไม่รู้เรื่องแต่กลับถูกลงชื่อรับรองว่าไปร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น” นายดิเริก กล่าว
นายชายมิต ชายเต็ม ชาวประมงพื้นบ้านจะนะ กล่าวว่า มีความกังวลถึงผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งและป่าชายเลน ที่เป็นแหล่งหากินและพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากหากมีการถมทะเลออกไปเพื่อทำท่าเรือเพื่อลำเลียงถ่านหินออกไปถึง 3 กิโลเมตร ทรัพยากรชายฝั่งต้องหายไปอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านมีรายได้จากการประมงชายฝั่งเป็นหลัก เช่น ช่วงนี้เป็นฤดูที่มีกุ้งเคย เมื่อต้องมากรุงเทพแค่ 2 วันก็เสียงรายได้ไปแล้ว 6,000 บาท จึงอยากรักษาความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้่ไว้ให้ลูกหลาน
นางสาวละม้าย มานะการ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นโครงการที่ไม่เอื้อต่อการสร้างสภาวะสันติภาพต่อพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากชาวบ้านกำลังถูกกดดันให้เสียสละสุขภาพของประชาชน และเป็นโครงการที่จะกระทบต่อความมั่นคง แหล่งความมั่นคงทางอาหาร วิถีประมง และเศรษฐกิจ จึงต้องการเสนอทางเลือกให้รัฐบาลใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อร่วมสร้างสันติภาพในระยะยาวอันจะเป็นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมที่แท้จริง
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีกระแสคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหา ซึ่งพบว่ากระบวนการทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญกลายเป็นเพียงพิธีกรรมที่ต้องทำให้ผ่านเท่านั้น จึงอยากให้รัฐบาลมีการทบทวนกฏเกณฑ์ต่างๆ และลงไปติดตามกระบวนการในพื้นที่ นอกจากนี้ทิศทางการพัฒนาพลังงานทางเลือกของประเทศยังไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง เช่น การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าเสรีที่สามารถลดภาระค่าไฟฟ้าในครัวเรือนได้ รวมถึงต้องการให้เฝ้าระวังด้านสุขภาพ เช่น อาจต้องเก็บตัวอย่างเลือดของชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าเพื่อพิสูจน์ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อปัญหาจริง
อาจารย์เกื้อ ฤทธิ์บูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า ข้อมูลวิชาการในรายงานอีไอเอของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในคลอง 3 สาย เช่น พันธุ์ปลาที่อีไอเอระบุพบแค่ 5 ชนิด คือปลานิล ปลากระดี่หม้อ ปลาเข็ม ปลาหมอไทย และปลาช่อน ซึ่งไม่ใช่ปลาที่สามารถอยู่ได้ในสภาพคลองน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม จึงเป็นข้อมูลที่ไม่สะท้อนถึงความสมบูรณ์ที่แท้จริง เนื่องจากเราพบว่าเฉพาะคลองตุหยงแห่งเดียว มีปลามากถึง 27 ชนิด นอกจากนี้เมื่อสำรวจป่าชายเลนพบพืชถึง 14 ชนิด อีไอเอระบุแค่ 4 ชนิด และสัตว์หน้าดินสำรวจเฉพาะทากทะเลกลุ่มเดียวพบมากว่า 20 ชนิด แต่อีไอเอระบุพบสัตว์หน้าดินทั้งหมดเพียง 8 ชนิด และที่สำคัญกุ้งเคยหรือแพลงตอนที่พบมากแถบนี้ก็ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในอีไอเอ ซึ่งหากมีการลงไปศึกษาอย่างจริงจังเชื่อว่าจะพบความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์มากกว่านี้ อีกทั้งพื้นที่โครงการยังตั้งอยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสุตว์ป่าและป่าสงวนแห่งชาติที่มีสภาพเป็นป่าชายเลนด้วย
ดร.สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ประเทศไทยมีปริมาณแสงแดดสูงกว่าประเทศเยอรมันนีและอีกหลายประเทศ ซี่งสามารถพัฒนาการพึ่งพาพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือกในครัวเรือนให้ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองได้ ซึ่งจะสามารถช่วยลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศให้ลดต่ำลง ซึ่งเท่ากับลดความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้
นายพฤหัส วงศ์เธนศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า พร้อมจะนำข้อมูลทั้งหมดรายงานต่อกระทรวงพลังงานและ กฟผ. ซึ่งต้องขอชี้แจงว่า กฟผ.มีความจริงใจในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งข้อมูลวันนี้ กฟผ.มีความเห็นด้วนในบางเรื่อง แต่บางข้อมูลยังต้องถกเถียงกันอีก โดยเฉพาะเรื่องพลังงานทดแทน
พันเอกคฑาวุธ ขจรกิตติยุทธ หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ศูนย์ปฏิบัติการณ์นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะนำข้อมูลเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป และจะเร่งให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ.ชี้แจงในประเด็นต่างๆ อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะขั้นตอนการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินว่าขัดต่อข้อกฏหมายหรือไม่
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าที่ผ่านมาตัวแทนภาคประชาชนและชาวบ้านได้เดินทางไปที่สำนักงานองค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทย เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงยูเอ็น ขอให้ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยให้ทบทวนและยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หลังยูเอ็นเรียกร้องให้นานาประเทศเร่งแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและระบุเป็รภัยคุกคามใหม่ของโลก ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาปารีส ซึ่งเป็นข้อตกลงลดสภาวะโลกร้อนและจำกัดการใช้ถ่านหิน