
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณากรณีข้อพิพาทของชาวเลหาดราไวย์ โดยหยิบยกคำพิพากษาศาลภูเก็ตยกฟ้องชาวเล 4 ราย หลังจากถูกเอกชนฟ้องร้องให้ออกจากที่ดินบริเวณหาดราไวย์ ซึ่งศาลเชื่อว่าชาวเลอยู่มาก่อนโดยมีหลักฐานต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเรื่องนี้ในที่ประชุมเห็นว่า กรมที่ดินควรเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกไป โดยก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการฯ เคยทำเรื่องเสนอให้อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจเพิกถอน แต่ได้รับคำตอบว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ถูกต้องแล้ว ดังนั้นเมื่อมีผลคำพิพากษาออกมาอีก จึงจะทำเรื่องไปถึงอธิบดีกรมที่ดินอีกครั้งโดยแนบคำพิพากษาของศาลไปด้วย
พลเอกสุรินทร์กล่าวว่า เดิมที่คณะกรรมการฯ เสนอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์นั้นจำนวน 19 ไร่ แต่คำพิพากษาของศาลภูเก็ตเมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา เป็นการยกฟ้องชาวเล 4 รายในพื้นที่ 12 ไร่ ดังนั้นจึงน่าจะดำเนินการส่วนนี้ได้ก่อนเพราะเป็นที่ดินซึ่งยังไม่เปลี่ยนมือ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เคยเสนอไปแล้วว่าเมื่อมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ หากมีเอกชนที่ซื้อที่ดินต่อ ๆ มา รัฐบาลก็ควรเยียวยาเอกชนเหล่านี้

“ในที่ประชุมพูดกันว่า หากอธิบดีกรมที่ดินยังกลัวเรื่องการถูกฟ้องร้องอีก ก็ควรเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อเป็นเกราะให้กับท่านอธิบดี แต่เรื่องนี้คงต้องไปดูกันในรายละเอียดข้อกฎหมายด้วย” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมยังได้พิจารณาความเดือดร้อนของชาวเลบนเกาะพีพีที่กำลังถูกไล่ออกจากพื้นที่ โดยผู้แทนกรมที่ดินได้นำเอกสารใหม่มาแจ้งให้ทราบว่า เมื่อปี 2519 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เคยพระราชทานที่ดินจำนวน 2 ไร่ ให้เป็นที่อยู่ของชาวเลนั้น หมายความว่ามีพื้นที่จำนวน 2 ไร่ที่ไม่ใช่ที่ดินเอกชน แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นผืนไหน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีใครทราบมาก่อน ดังนั้นจึงได้บอกให้ผู้แทนกรมที่ดินไปค้นหารายละเอียดกลับมารายงานอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ พบว่าที่ดินที่เคยเป็นที่อยู่ของชาวเลเกือบทั้งหมด ขณะนี้ถูกเอกชนเข้าจับจองและออกเป็นเอกสารสิทธิ์ โดยสร้างเป็นโรงแรมและที่พักสำหรับรองรับนักท่องเที่ยว โดยชาวเลส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่กันอย่างแออัดประมาณ 200 คนในชุมชนแหลมตง เนื้อที่ราว 2 ไร่ โดยที่ดินผืนนี้เป็นของชาวเลรายหนึ่งที่ได้รับมรดกมาจากพ่อ อย่างไรก็ตามล่าสุดชาวเลได้รับข่าวว่า อาจไม่มีที่อยู่อีกต่อไปเพราะที่ดินผืนนี้อาจนำไปให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะนี้ชาวเลแหลมตงบนเกาะพีพี นอกจากกำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีปัญหาอื่นอีกหลายประการ เช่น เส้นทางเดินเท้าไปโรงเรียนของเด็ก ๆ ที่เคยใช้มานานถูกเอกชนปิดกั้นจนต้องเดินอ้อมไปทางอื่น เช่นเดียวกับปัญหาสุสานหรือหลุมฝังศพที่ถูกบุกรุก

ทั้งนี้จากข้อมูลประวัติชุมชนของชาวเลบ้านแหลมตงระบุว่า บรรพบุรุษของชาวเลกลุ่มนี้เคยอาศัยอยู่บนเกาะไห เกาะกระดานและเกาะลันตา ฯลฯ ก่อนที่จะตั้งรกรากแบบถาวรบนฝั่งตะวันตกของเกาะพีพีซึ่งเป็นหาดทรายราวตลอดแนว ซึ่งในอดีตชาวเลต่างอยู่กันกระจัดกระจายทั่วไปในพื้นที่กว่า 200 ไร่ จนกระทั่งเมื่อ 30-40 ปีก่อน เริ่มมีบุคคลภายนอกเข้ามา ทำให้ชาวเลต้องถอยร่นไปเรื่อย ๆ เพราะโดยนิสัยแล้ว ชาวเลมักไม่สุงสิงกับคนภายนอกเพราะรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย
ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้มีคนภายนอกเข้ามากว้านซื้อที่ดินของชาวเล แต่ส่วนใหญ่เป็นการหลอกขาย เช่น เอาเหล้ามาแลกแล้วให้ชาวเลเซ็นชื่อ บ้างก็ใช้วิธีข่มขู่หรือจ่ายเงินให้เพียงไม่กี่หมื่นบาท ขณะเดียวกันยิ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากเท่าไหร่ ชาวเลก็ยิ่งลำบากเพราะถูกรุกไล่ให้ออกจากพื้นที่ ที่สำคัญชาวเลยังถูกห้ามประกอบอาชีพจับปลาหรือสัตว์ทะเล เพราะพื้นที่ในทะเลจำนวนมากถูกกำหนดจุดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ในที่สุดชาวเลจึงหาทางออกด้วยการรับจ้างขับเรือบริการนักท่องเที่ยว และเป็นพนักงานตามโรงแรมหรือรีสอร์ทต่าง ๆ