เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 นายทานซิน ผู้ประสานงานสมาคมพัฒนาทวาย ประเทศพม่า ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลไทยนำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำนักธุรกิจไทยไปพบกับผู้นำพม่า รวมทั้งนักธุรกิจพม่าเพื่อเชื่อมต่อเรื่องการลงทุน โดยเฉพาะโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่จะมีการลงนามเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อ ว่าเป็นความชัดเจนมากว่ารัฐบาลไทยต้องการสร้างโอกาสทางธุรกิจในช่วงรัฐบาลใหม่ของพม่าที่นำโดยนางอองซานซูจี และไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเป็นความพยายามรื้อโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการสร้างเขื่อน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งประชาชนท้องถิ่นไม่สนับสนุนขึ้นมาใหม่ ขณะที่บริษัทที่ได้รับเชิญในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านอุตสาหกรรม จึงน่ากังวลยิ่งว่าการพัฒนาจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากรภูมิภาคที่นำไปสู่การพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น การแย่งชิงที่ดิน การตัดไม้ และอื่น ๆ โดยอ้างเหตุผลในการพัฒนา
นายทานซินกล่าวว่า คนทวายควรมีพื้นที่ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระดับภูมิภาคเพราะมีบทเรียนมากมายในการพัฒนาแบบบนลงล่างที่ล้มเหลว รวมทั้งเรื่องความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมที่แท้จริงซึ่งสำคัญมากในกระบวนการพัฒนาซึ่งต้องมาจากความต้องการที่แท้จริง ขณะเดียวกัน รัฐบาลกับภาคธุรกิจมักใช้คำพูดว่าเป็นการพัฒนาซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นเพียงการพัฒนาธุรกิจเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลพยายามหาเหตุผลมาอ้างความสำเร็จ ทั้ง ๆ ที่สิ่งสำคัญคือกระบวนการหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยต้องอยู่บนฐานความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
“โครงการระหว่างรัฐต่อรัฐเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือนักลงทุนและรัฐบาลต่างชาติควรฟังเสียงของประชาชนในท้องถิ่นด้วย ควรปฏิบัติให้เกิดความเป็นธรรมทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยยึดตามบทบัญญัติของสากล” นายทานซิน กล่าว
ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า เป้าหมายในการร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงการเคารพ คุ้มครอง เยียวยา สิทธิมนุษยชน เนื่องจากพื้นที่ที่จะมีการลงทุนในพม่า ส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาติพันธุ์และมีความอ่อนไหว จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง จึงควรใช้หลักการมีส่วนร่วมให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งการมาตรการเยียวยาอย่างเป็นธรรมหากไม่สามารถป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้
นางเตือนใจกล่าวว่า ควรนำมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เรื่องรับทราบผลการพิจารณาดำเนินการตามรายงานผลการพิจารณาคำร้องที่มีข้อเสนอแนะนโยบายเรื่องสิทธิชุมชน กรณีการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเขตเศรษฐกิจทวาย ในสหภาพเมียนมา ซึ่งกสม. ชุดก่อนหน้านี้ได้รับคำร้องเรียนและได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าการดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทวาย โดยกสม.ได้มีข้อเสนอแนะต่อ คณะรัฐมนตรี ว่า 1 บริษัทควรดำเนินการชดเลยเยียวยาความเสียหาย โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม 2 ครม. ควรจัดตั้งกลไกและกำหนดภารกิจการกำกับลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนสัญชาติไทย โดยนำหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และหากรัฐบาลประสงค์จะแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในระดับที่สูงขึ้น ควรกำหนดยุทธศาสตร์การลงทุนของประเทศที่มีสาระเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย และทำแผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
“ในปีนี้ กสม. ได้เน้นเป้าหมายหลัก 3 เรื่อง คือ ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงอยากให้รองนายกรัฐมนตรีฯ นำยุทธศาสตร์เหล่านี้ในการพิจารณากรอบการลงทุนในพม่าด้วย” นางเตือนใจ กล่าว