
คณะกรรมการและตัวแทนและที่ปรึกษาของรัฐอาระกันที่ได้เดินทางไปเยือนบังกลาเทศ เพื่อเยี่ยมดูสภาพความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมโรฮิงญา พบว่า ชาวโรฮิงญาที่หนีการปราบปรามการกวาดล้างของกองทัพพม่า มีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายอย่างหนัก โดยเปรียบเทียบมีสภาพความเป็นอยู่เลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์
คณะที่เดินทางเยือนบังกลาเทศครั้งนี้ มีทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยนชนพม่า และองค์กรศาสนาเพื่อสันติภาพ (Religions for Peace Myanmar) รวมไปถึงอดีตที่ปรึกษาเลขาธิการยูเอ็น โดยทางบังกลาเทศได้นำคณะจากพม่าเดินทางเยือนตามค่ายหลายแห่งที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ ทั้งในเมืองเทคนาฟและเมืองคอกซ์บาซาร์
โดยขณะนี้ ทางการบังกลาเทศได้แบ่งชาวโรฮิงญาออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย กลุ่มที่อาศัยอยู่ในเพิงที่สร้างขึ้นชั่วคราวและเป็นค่ายที่ไม่ได้รับการยอมรับจากบังกลาเทศ และกลุ่มชาวโรฮิงญาที่เพิ่งเดินทางข้ามมาบังกลาเทศ จากเหตุการณ์ปราบปรามกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐอาระกันเมื่อเร็ว ๆ นี้
มีการเปิดเผยจากคณะที่เยือนบังกลาเทศครั้งนี้ ระบุว่า ชาวโรฮิงญากลุ่มใหม่ที่เพิ่งเดินทางถึงบังกลาเทศมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายมาก “สถานที่ที่พวกเขาอยู่ไม่เหมาะสม แม้แต่จะให้สัตว์อยู่ก็ตาม ไม่ต้องพูดถึงให้คนอยู่ ผมถามเด็กคนหนึ่งว่า กินข้าวหรือยัง เด็กคนนั้นกลับร้องไห้ออกมาทันที” Al Haj U Aye Lwin กล่าว
จากรายงานของสหประชาชาติล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพัน์ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้มีประชาชนชาวโรฮิงญาทั้งสิ้น 92,000 คน ที่ต้องอพยพและกลายเป็นผู้พลัดถิ่น นับตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีที่แล้ว ในจำนวนนี้ กว่า 69,000 คน ได้หนีข้ามชายแดนไปยังบังกลาเทศ และกำลังเผชิญกับการขาดแคลนด้านอาหารและไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล อีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า ทางการบังลาเทศมีแผนที่จะย้ายชาวโรฮิงญาไปอยู่ยังเกาะที่ชื่อ Thengar Char ในอ่าวเบงกอล ซึ่งเป็นเกาะเกิดใหม่อายุเพียง 10 ปี ที่ไม่มีผู้คนอาศัอยู่และมีน้ำท่วมมิดในช่วงฤดูมรสุม
ที่มา Irrawaddy
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ