เมื่อวันที่ 26 เมษายน พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (25 เมษายน) ตนได้ประชุมร่วมกับ นายสรเดช สุนทรารชุน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล, นายบุญเติมภู รองเลื่อน นายอำเภอเมืองสตูล, นายปณพล ชีวะเสรีชล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา, ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชาวเล ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาการรุกล้ำที่สาธารณะของเอกชน บนเกาะหลีเป๊ะที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างชาวเลเอกชนและรัฐ โดยมีประเด็นความคืบหน้าอยู่ 2 ประเด็นคือ 1 ขณะนี้ตนได้รับรายงานการสำรวจที่ดินและการใช้ประโยชน์จากทุกฝ่ายอันประกอบด้วยฝ่ายชาวเลที่ทำแผนที่ทำมือและข้อมูลการอยู่อาศัย ฝ่ายคณะกรรมการชาวเล และ ฝ่ายอุทยานแห่งชาติ กับทหารเรือ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้มีการสำรวจ ซึ่งข้อมูลแต่ละฝ่ายพร้อมแล้ว โดยจะใช้แนวทางดูภาพถ่ายจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ตลอดจนการนับอายุผลอาสิน อาทิ ต้นมะพร้าวที่มีอายุเฉลี่ย 74-75 ปี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นหลักฐานในการร่วมพิจารณา โดยมติประชุมเห็นชอบตามแนวทางการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งจะพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ ต่อไป คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จากนั้นก็จะใช้ภาพถ่ายทางอากาศปี 2493 เป็นแกนหลักในการเปรียบเทียบ ศึกษาดูว่าใครมาอยู่ก่อนหรือหลัง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นด้วยและยินดีให้ความร่วมมือกับกรณีนี้
“อย่างที่ผมบอกทุกครั้ง มันต้องเอาความจริงมากางแล้วคุยกัน ผมเชื่อว่าทุกกลุ่มมีผิด มีถูก แต่เรื่องที่ดินนี้หากใครโกง ใครก็รู้ได้จากหลักฐานอยู่แล้ว ทีนี้หากผลพิสูจน์เสร็จสิ้น มันจะต้องมีที่ดินเหลืออยู่บนเกาะแน่ ๆ ที่ดินที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ซึ่งที่ดินนี้จะให้หน่วยงานยึดก็ไม่ได้ ทุนก็ไม่ได้ ผมบอกที่ประชุมว่า ที่ดินส่วนที่เหลือมาต้องให้ชาวเลเท่านั้น เพราะหลายคนไม่มีที่จะอยู่ ส่วนกรณีที่นายทุนฟ้องไล่ที่ชาวเลนั้นต้องว่าไปเป็นคดี ซึ่งทราบว่ามีอยู่ไม่กี่คดีที่อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ผลออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ แต่ผลที่ว่าต้องเป็นผลพิสูจน์ที่เป็นธรรมไม่ใช่โกงกัน” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
พลเอกสุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ 2 กรณีที่ดินเกาะอาดัง ที่ประชุมตกลงกันว่า ที่ดินแปลงเก่าแก่ซึ่งมีพืชผลอาสินที่ชาวเลปลูกไว้ ทำไว้จุดใดบ้างให้ชาวเลอาศัยอยู่ต่อไปโดยไม่มีการไล่รื้อ เพราะถือว่าชาวเลใช้ทำประโยชน์มานาน ซึ่งพิสูจน์ได้จากแผนที่ทางอากาศเช่นกัน ประเด็นนี้ก็เพื่อลดข้อพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติฯ กับชาวเล ดังนั้นสิทธิในฐานะคนอยู่มาก่อนก็ต้องมี แต่ว่าต้องไปตกลงกันในเงื่อนไขห้ามบุกรุกเพิ่ม เพราะบางครั้งชาวเลก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือเบิกทางที่ดินเพื่อขายแก่เอกชน และเรื่องเช่นนี้มักมีการเรียกรับสินบน จึงได้ฝากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบตรงนี้ด้วย และหากแนวทางดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยดี คาดว่าความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะจะดีขึ้น และสามารถหาข้อยุติได้บ้างเพื่อให้ปัญหาคลี่คลายลง