Search

แฉใช้ฐานข้อมูลเก่าเกิน 10 ปีวิเคราะห์รายงานผลกระทบเขื่อนปากแบง พบข้อบกพร่องอื้อ ผู้แทนภาคประชาชนเขมร-ไทยโวยไม่ฟังเสียงชาวบ้านริมแม่น้ำโขง


เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสองวันก่อนที่โรงแรมลาวพลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ได้มีการจัดเวทีผู้มีส่วนได้เสียระดับภูมิภาค ครั้งที่ 2 กรณีโครงการเขื่อนปากแบง โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน อาทิ ตัวแทนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) แห่งชาติ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนบริษัทไทย จีน ที่เกี่ยวข้องในการลงทุนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง การจัดเวทีครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลรายงานการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคต่อรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง โดยคณะทำงานของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Secretary of Mekong River Commission)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาทางเทคนิคของเขื่อนปากแบง มีการพิจาณาประเด็นสำคัญ ๆ 5 ด้านคือ ระบบน้ำและการระบายตะกอน การประมงและทางปลาผ่าน ความปลอดภัยของเขื่อน การเดินเรือ และผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ จากการศึกษาผู้เชี่ยวชาญได้พบว่า รายงานจำนวน 20 เล่มที่ บริษัทต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนลพาวเอร์ ร่วมกับรัฐบาลลาวส่งให้กับเอ็มอาร์ซี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่ามีข้อบกพร่องจำนวนมากในรายงานการศึกษาดังกล่าว เช่น กรณีเกี่ยวกับการประมงและปลา พบว่า มีการเก็บข้อมูลเพียง 2 ช่วงคือ ฤดูแล้ง เดือนมกราคม และฤดูฝน เดือนกรกฎาคม 2554 และมีจุดเก็บตัวอย่างของชนิดพันธุ์ปลาเพียง 6 จุดใกล้ ๆ กับบริเวณก่อสร้างโครงการเขื่อนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเก็บตัวอย่างที่จำกัด และผลการศึกษาเรื่องชนิดพันธุ์ปลาที่พบนั้นน้อยกว่าข้อมูลของเอ็มอาร์ซีที่เคยศึกษาไว้ และกรณีทางปลาผ่าน (Fish passage) ซึ่งออกแบบมาอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการอพยพของปลาได้

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวได้เสนอให้มีทางเลือกไว้ 2 ทางคือ ขอให้ออกแบบทางปลาผ่านใหม่ เพื่อให้ปลาสามารถผ่านไปได้หลายทาง ทั้งทางเครื่องผลิตไฟฟ้า ทางเรือผ่าน และต้องออกแบบให้สอดคล้องกับทางปลาผ่านของเขื่อนไซยะบุรี ทางเลือกที่ 2 คือ เสนอให้รอผลว่าการทดลองใช้ทางปลาผ่านของเขื่อนไซยะบุรีว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ จึงค่อยก่อสร้างทางปลาผ่านของเขื่อนปากแบง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญเรื่องผลกระทบท้ายน้ำ(Back water effect) ของเขื่อนปากแบง ต่อแก่งผาได และบริเวณบ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย และแม่น้ำงาว และแม่น้ำอิง ลำน้ำสาขาของเขตประเทศไทย และรายงานเหล่านี้ใช้ฐานข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 1960 -2007 มาเป็นใช้วิเคราะห์รายงานครั้งนี้ ในขณะที่มีโครงการพัฒนาต่างๆเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงจำนวนมาก โดยเฉพาะเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีน และแม่น้ำสาขาในเขตประเทศลาว

นายอินทะวี ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและเหมืองแร่ ประเทศลาว กล่าวว่า เขื่อนปากแบง ระดับน้ำของแม่น้ำโขงในช่วงหน้าฝนอยู่ที่ 340 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล (ม.รทก. ) และหน้าแล้ง ระดับน้ำโขงจะอยู่ที่ 335 ม.รทก. เพื่อให้น้ำท่วมบริเวณแก่งผาได ในเขตประเทศไทย และการลดระดับการกักเก็บน้ำของเขื่อนนี้จะทำให้ เขื่อนปากแบงต้องสูญเสียการผลิตพลังงานปีละ 400 เมกะวัตต์ โดยตนเชื่อว่าเขื่อนปากแบงจะไม่กระทบถึงเขตประเทศไทย

นายเต็ก วันนารา ผู้อำนวยกานองค์กร NGO Forum on Cambodia ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า เป็นที่น่าแปลกใจที่เวทีนี้ไม่มีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนนี้เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้เลย ขณะที่เวทีระดับภูมิภาคของเขื่อนดอนสะโฮง มีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่และชาวบ้านจากกัมพูชาได้เข้าร่วมเวทีดังกล่าว รวมไปถึงรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนที่ไม่มีการศึกษาความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในลาว ไทย และกัมพูชา เข้าไปด้วย ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้เป็นพื้นที่วางไข่และเพาะเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญของปลาในแม่น้ำโขง

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ตัวแทนภาคประชาสังคมจากไทย ได้กล่าวในเวทีว่า เวทีนี้มีผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ด้านเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่ในเวทีมีการพูดถึงผลกระทบทางสังคมต่อชาวบ้านน้อยมาก และไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเวทีปรึกษาหารือล่วงหน้า หรือ PNPCA ของแต่ละประเทศว่า มีข้อกังวลอย่างไรบ้าง ขณะที่ประเทศไทยมีการจัดเวทีไปแล้ว 3 ครั้ง และประเทศไทยมีความกังวลเรื่องผลกระทบท้ายน้ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากมีการยกระดับน้ำขึ้นเพียง 50 เซนติเมตร -1 เมตร ก็จะทำให้เกิดผลกระทบแน่นอน ชาวบ้านเป็นกังวลว่าน้ำจะท่วมถึงไหน เขื่อนจะกักเก็บมากขนาดไหน เพราะตอนนี้ช่วงที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำมาในช่วงฤดูแล้งก็ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังแล้ว และถ้าหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงขึ้น ชาวบ้านก็เท่ากับอยู่ตรงกลางของ 2 เขื่อน จึงมีข้อเสนอแนะว่า ข้อเสนอแนะและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในวันนี้ อยากให้เจ้าของโครงการได้มีการปรับปรุงและนำไปเสนอผลกับแต่ละประเทศให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะมีการเดินหน้าโครงการต่อไป และควรจะมีการตั้งกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น โดยอาจจะต้องตัดมาจากรายได้จากค่าขายไฟฟ้าของเขื่อนปากแบง และต้องมีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการเขื่อนร่วมกัน ทั้งภาคประชาสังคม รัฐและเจ้าของโครงการ เพื่อป้องกันความเสียหายของผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้น

อนึ่ง หลังจากนี้ กระบวนการ แจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าของเขื่อนปากแบง จะสิ้นสุดกระบวนการลงในวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ตามระยะเวลา 6 เดือน โดยเป็นไปตามข้อตกลงมาตราที่ 5 ของข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 หลังจากนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมของ 4 ประเทศ เพื่อหาข้อสรุปทางเทคนิคต่อรายงานของเขื่อนปากแบง และเป็นวันสุดท้ายของการส่งสรุปความคิดเห็นของ 4 ประเทศ หลังจากครบ 6 เดือนของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA Process) และเตรียมนำเสนอข้อคิดและมาตรการลดผลกระทบต่อไปในรูปแบบการออกแถลงการณ์ร่วม (Statement) ต่อไป

เขื่อนปากแบง เป็นเขื่อนแม่น้ำโขง แห่งที่ 3 ที่กำลังจะมีการก่อสร้าง อยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงรายราว 92 กิโลเมตร โดยผู้พัฒนาโครงการคือ บริษัทต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนลพาวเวอร์ ร่วมกับรัฐบาลลาว มีกำลังการผลิต 950 เมกกะวัตต์ โดยไฟฟ้า 90 % คาดว่าจะส่งขายให้กับไทย ลักษณะเป็นเขื่อนแบบ Run off River มีบานประตูระบายน้ำ 14 บานประตู มีทางเรือผ่านให้เรือขนาด 500 ตัน ล่องผ่านได้ และออกแบบทางปลาผ่านยาว 1.6 กิโลเมตร โดยเขื่อนแห่งนี้อยู่ตอนเหนือห่างจากเขื่อนไซยะบุรี 258 กิโลเมตร และเหนือเมืองหลวงพระบาง 174 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเร็วๆนี้ รัฐบาลลาวได้ยื่นเอกสารโครงการต่อสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขง เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และประกาศเริ่มต้นกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า หรือ PNPCA อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2560 ในประเทศไทย ได้มีการจัดการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนปากแบงไปแล้ว 3 ครั้ง ที่จังหวัดเชียงราย หนองคายและอุบลราชธานี ส่วนเวียดนาม มีการจัดเวที PNPCA ในวันนี้ที่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม และมีกำหนดการเวทีอีกครั้งวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ที่จังหวัดเกินเทอ ปากแม่น้ำโขง ที่ผ่านมาในระดับภูมิภาคได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นเวทีผู้มีส่วนได้เสีย กรณีปากแบง ครั้งที่ 1 ที่เมืองหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2560

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →