Search

วิถีน้ำโขงที่กำลังถูกกลืนหาย ในความโชติช่วงของ “เขื่อน”


สีหน้า แววตา รอยยิ้มและคำทักทายระหว่างเจ้าบ้านกับผู้มาเยือนสะท้อนถึงมิตรภาพอันยาวนานที่ยังแนบแน่น ทั้งสำเนียงภาษาและวิถีชีวิตที่ดูจะกลมกลืนกันจนแยกไม่ออก

“เราก็ข้ามกันไป ข้ามกันมาอย่างนี้ตลอด พอทางพี่น้องฝั่งลาวมีงานบุญต่าง ๆ เราก็มาช่วย หรือเมื่อชาวเวียงแก่นมีงาน เขาก็ข้ามไปเยี่ยมไปเยือนกัน” อ้ายพรสวรรค์ บุญทัน ประธานสภาเทศบาลตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อธิบายความสัมพันธ์ของเขากับชาวบ้านหาดสะ เมืองปากทา แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ซึ่งดำรงอยู่มายาวนานก่อนที่เส้นพรมแดนในปัจจุบันจะปรากฏโดยมีแม่น้ำโขงเป็นเชือกเส้นใหญ่เชี่อมร้อยผู้คนไว้ด้วยกัน


อ้ายพรสวรรค์หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พ่อหลวง” พรสวรรค์ เพราะแกเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านห้วยลึกมาก่อน เกิดบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง แต่มีพ่อเป็นไทย แม่เป็นลาว เมื่อย้ายกลับมาอยู่ฝั่งซ้ายที่บ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น ตอนอายุ 12 ปี แกจึงได้สัญชาติไทยไม่ยาก

พ่อหลวงพรสวรรค์และชาวบ้านอีก 6 คนร่วมกับคณะสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่าง ๆ เช่น อนุกรรมการสิทธิชุมชน (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ลงพื้นที่สำรวจแม่น้ำโขงตั้งแต่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายไปจนถึงเมืองปากแบง แขวอุดมไชย ในประเทศลาว

นอกจากโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ซึ่งทำลายระบบนิเวศใหญ่หลวงจะสร้างความกังวลให้กับชาวบ้านฝั่งไทยแล้ว ยังมีโครงการสร้างเขื่อนปากแบงในประเทศลาวซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนไทยไปไม่ถึง 100 กิโลเมตรเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างวิตกชาวบ้านไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากแม่น้ำโขงจะแปรสภาพกลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งคาดว่า หางเขื่อนจะท่วมและส่งผลกระทบข้ามแดนไปถึงชาวเวียงแก่นและชาวเชียงของ แต่ที่แน่ ๆ คือการสัญจรข้ามกันไป-มาของพวกเขาย่อมไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

“เราอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องมานาน ถ้ามีเขื่อนจีนมากั้น เราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะจีนควบคุมเส้นทางน้ำไว้ได้หมด ตอนนี้ถามพี่น้องในลาว พวกเขาก็ไม่ค่อยรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บางคนบอกว่าดีเพราะเป็นการพัฒนาและได้ย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ในพื้นที่ที่เขาจัดให้ไว้บนดอย เขาได้ข้อมูลมาเพียงมุมดียว บางคนก็ไม่อยากย้ายไปไหน แต่ก็พูดไม่ได้” พ่อหลวงเข้าใจดีในสถานการณ์ของชาวบ้านทั้งสองฝั่งที่มีโครงสร้างการปกครองอันแตกต่าง แต่ที่เหมือนกันคือสุดท้ายพวกเขากลายเป็นผู้เสียสละอยู่ร่ำไป

ในบางหมู่บ้านฝั่งลาวที่พ่อหลวงและชาวบ้านแวะไปหาญาติมิตรพบว่า พวกเขาแทบไม่มีข้อมูลหรือรับรู้อนาคตเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้ขณะนี้ทางบริษัทจีนที่ได้รับการสัมปทานจะสร้างถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการสร้างเขื่อนคืบหน้าไปมากแล้วก็ตาม ชาวบ้านบางส่วนยังเชื่อด้วยซ้ำว่าจะไม่มีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นโดยให้เหตุผลว่า เป็นข่าวที่ร่ำลือกันมาหลายปีแล้ว แต่ไม่เห็นเกิดขี้นจริง

“สมัยเป็นหนุ่ม ผมและเพื่อนเคยแอบข้ามมาหาปลาที่ปากน้ำทาอยู่ประจำเพราะปลาเยอะมาก สมัยนั้นตอนกลางคืนคนลาวห้ามออกจากบ้าน” สมัยนั้นที่พ่อหลวงพูดถึงคือตอนที่แกอายุ 23-24 ปี ซึ่งก็ผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี โดยแกและเพื่อนถ่อเรือนานนับชั่วโมงข้ามมาปากน้ำทา สาเหตุที่ต้องใช้วิธีถ่อเพราะน้ำโขงไหลแรงมาก หากใช้พายจะเอาไม่อยู่

“มีอยู่ครั้งหนึ่งไหลมองรอบเดียวได้ปลามงถึง 46 ตัว สมัยนั้นโลละ 50 บาท เอาไปขายซื้อเครื่องยนต์เรือได้เลย ปลามันเยอะจริงๆ” การไหลมอง หรือที่ชาวทะเลเรียกว่า ลอยอวน เป็นวิธีการหาปลาของชาวประมงน้ำโขง เนื่องจากน้ำที่ไหลแรง หลังจากวางมอง หรืออวน หรือตาข่ายเสร็จ ก็ปล่อยให้ไหลไปตามน้ำจนถึงจุดที่ไปเก็บกู้

ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงในอดีตหล่อเลี้ยงผู้คนจนสร้างบ้านแปงเมืองกลายเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่บนโลกใบนี้ ไม่เคยมีใครคิดว่า วันนี้ความมั่งคั่งของชุมชนได้ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ ฝูงปลาหลากหลายชนิดที่เคยอพยพกันไป-มาเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่กันตามฤดูกาลถูกสกัดกั้นเส้นทางโดยสิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่า เขื่อน ขณะที่ระบบนิเวศซึ่งวิวัฒนาการจนเกื้อกูลกับสิ่งมีชีวิตมาช้านานนับพันปีต้องพังพินาศย่อยยับภายในช่วงไม่ถึง 2 ทศวรรษ ซึ่งพ่อหลวงพรสวรรค์และชาวบ้านริมแม่น้ำโขงต่างประจักษ์ดีจากปริมาณปลาที่หายไป

อีกไม่นานพื้นที่ตั้งแต่บ้านห้วยลึกของพ่อหลวงและชาวบ้านฝั่งไทยไปจนถึงบ้านหาดสะของญาติมิตรฝั่งลาวต้องกลายเป็นหมู่บ้านริมอ่างเก็บน้ำของจีน ด้านบนคือเขื่อนจีนที่สร้างในประเทศจีน ด้านล่างเป็นเขื่อนจีนที่สร้างในประเทศลาว

ขณะที่ผืนแผ่นดินไทยที่ จ.เชียงราย 96 กิโลเมตรที่เคยแนบอิงอยู่กับแม่น้ำโขงซึ่งไหลอย่างอิสระมาช้านานต้องถูกกั้นบนปิดล่างจากเขื่อนโดยที่เสียงโอดครวญของชาวบ้านแทบไร้ความหมาย

บ่ายคล้อยเรือลำใหญ่มาถึงดอนเทดซึ่งเป็นจุดสร้างเขื่อนที่อยู่ห่างจากเมืองปากแบง 14 กิโลเมตร พ่อหลวงและชาวบ้านต่างขึ้นไปสำรวจ และร่วมกันถ่ายภาพซึ่งคงกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ก่อนที่ดอนแห่งนี้จะตกอยู่ใต้น้ำ

เช่นเดียวกับแก่งหินอันงดงาม หาดทรายขาวสะอาด ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ที่มีฝูงปลาแหวกว่ายอพยพกันไป-มา ฝูงนกที่พากันมาวางไข่ตามเกาะดอน และวิถีชีวิตของคนริมแม่น้ำโขงที่สั่งสมความลงตัวมาช้านาน ต่างต้องถูกกลืนกินโดยสิ่งปลูกสร้างที่ชื่อว่า เขื่อน

ความย่อยยับของคนเล็กคนน้อยและนิเวศอันยับเยินของแม่น้ำโขงที่กำลังดำเนินอยู่ ควรทวงถามความรับผิดชอบได้จากใครบ้าง

On Key

Related Posts

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →

ลาวดำเนินคดีอดีตรองผู้ว่าการไฟฟ้าลาว-ผู้รับเหมาฐานฉ้อโกงเหตุสร้างเขื่อนไม่แล้วเสร็จ-เกินเวลานาน เผยโครงการได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 สำนักข่าวลาว Laotian TiRead More →