
ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการขุดถ่านหินในเมืองกึ๋ง ทางใต้ของรัฐฉาน แม้บริษัท Hein Mitter Co.,Ltd.จะระงับการขุดถ่านหินในพื้นที่ไว้ชั่วคราว หลังถูกประชาชนต่อต้านอย่างหนัก แต่ยังไม่ยอมถอนตัวออกจากพื้นที่ตามที่รับปากกับชาวบ้านไว้ ด้านนายแสงเมือง ส.ส.เมืองกึ๋งจี้ถามรัฐบาลในสภาจะชดใช้และจัดการยังไงกับความเสียหายจากการขุดถ่านหินในพื้นที่ โดยรัฐมนตรีด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติพม่ากลับตอบเพียงว่า การขุดถ่านหินไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ อีกทั้งยังเข้าข้างบริษัทนายทุน อ้างมีสิทธิ์ขุดถ่านหินเพราะได้รับใบอนุญาตถูกต้อง
นายแสงเมือง ส.ส.เมืองกึ๋งได้ตั้งคำถาม 3 ข้อในสภา 1.ทำไมรัฐไม่ยืนข้างประชาชน ไม่ถามความเห็นของประชาชนก่อนออกใบอนุญาตให้บริษัทเข้าไปขุดถ่านหินในเมืองกึ๋ง 2.จะดำเนินการอย่างไรต่อกรณีทีี่ชาวบ้านเรียกร้องให้บรัษัทขุดถ่านหินออกจากในพื้นที่โดยเร็ว 3.จะดำเนินการอย่างไรเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเช่นป่าไม้ที่ถูกตัดเป็นจำนวนมากจากการขุดถ่านหิน
ด้านนายอูโองวิน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของพม่ากลับอ้างว่า การขุดถ่านหินในพื้นที่ไม่ได้กระทบใด ๆ ต่อชุมชนในเมืองกึ๋ง และในฐานะรัฐบาลก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ให้มีการขุดถ่านหินในพื้นที่ต่อไป แต่เนื่องจากถูกชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านอย่างหนักจึงจำเป็นต้องทำตามที่ประชาชนเรียกร้อง โดยได้สั่งให้บริษัทระงับการขุดถ่านหินในเมืองกึ๋งไว้ชั่วคราว นอกจากนี้รัฐมนตรีด้านทรัพยากรพม่ายังอ้างว่า เรื่องนี้เตรียมที่จะหารือกับรัฐบาลรัฐฉานต่อไป และอ้างจะเร่งปลูกต้นไม้ทดแทนต้นไม้ที่ถูกตัดไป
ด้านนายแสงเมืองระบุว่า การขุดถ่านหินในเมืองกึ๋งนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมาตั้งแต่ต้น หากมีการสนับสนุนคงไม่มีประชาชนออกมาประท้วงใหญ่เหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางพรรคหัวเสือ พรรคการเมืองไทใหญ่เองก็ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายืนข้างประชาชาชน ไม่สนับสนุนนายทุนเข้าไปขุดถ่านหินในพื้นที่ ขณะที่การประชุมใหญ่ป๋างโหลงครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา ได้มีการตกลงเห็นด้วยในหัวข้อเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไว้ด้วยกัน 10 ข้อ โดย ข้อที่ 5 ระบุไว้ว่า การจัดการเรื่องที่ดินทำกินต้องมีนโยบายที่โปร่งใส และข้อที่ 6 เมื่อออกนโยบายเรื่องที่ดินทำกินนั้นจะต้องทำตามและให้การสนับสนุนสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ ขณะที่ในด้านหัวข้อเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งหมด 11 ข้อนั้น ข้อที่ 1 ระบุไว้ว่า จะต้องให้การคุ้มครองการทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาชนตามที่กฎหมายระบุไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความสูญเสียจากทุนใหญ่เป็นต้น
ส่วนบริษัทที่เข้ามาทำเหมืองในเมืองกึ๋งได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเนปีดอว์เมื่อปี 2557 ให้สามารถทำเหมืองในเมืองกึ๋งพื้นที่จำนวน 2,500 ไร่ นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทำเหมือง บริษัทดังกล่าวก็ถูกประชาชนต่อต้านอย่างหนัก จนต้องยกเลิกทำเหมืองอยู่หลายครั้ง ก่อนที่จะเข้ามาเหมืองอีกครั้งในปีนี้ และการเข้ามาทำถ่านหินในเมืองกึ๋งที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มากมาย เช่น ป่าไม้เป็นจำนวนมากถูกตัดโค่น พื้นที่ทำเหมืองอยู่บนต้นน้ำของแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองกึ๋ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ จนสร้างความไม่พอใจทำให้กับชาวบ้านกว่า 4,000 คนออกมาประท้วงเมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา โดยหากบริษัทนายทุนดังกล่าวยังไม่ยอมออกจากในพื้นที่และหากยังมีการกลับมาขุดถ่านหินอีก คาดว่าประชาชนจะออกมาประท้วงอีก
ที่มา เว็บไซต์ข่าวไทใหญ่/สำนักข่าวชายขอบ