Search

คนริมโขงฟ้องแล้ว 6 ประเด็น หวังพึ่งศาลปกครองพิพากษาให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ “ครูตี๋”ชี้แต่ละชาติต่างรุมทึ้งแม่น้ำโขงแต่ไม่ร่วมกันดูแล

เมื่วันที่ 8 มิถุนายน 2560 ที่ศาลปกครองกลาง ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ กลุ่มรักษ์เชียงของ ประกอบด้วย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นายจีรศักดิ์ อินทะยศ และนายพิศณุกรณ์ ดีแก้ว ในฐานะผู้ฟ้องคดี และเครือข่ายชาวบ้านริมแม่น้ำโขงพร้อมทนายความ นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า เดินทางมาฟ้องคดีกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนปากแบง ในสปป.ลาว โดยฟ้องกรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) แห่งชาติไทย เพื่อให้ศาลมีคำพิพาษาใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1. ขอให้มีคำพิพากษาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA และกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทย และขอให้เพิกถอนความเห็นต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ทั้งสิ้น

2.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย ที่จะเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ประชาชน ในผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน หรือผลกระทบข้ามพรมแดน ก่อนที่รัฐบาลสปป.ลาวจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

3.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย

4.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการอื่นให้ครบคลุมทุกจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโขง5.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดำเนินการทักท้วงและคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง โดยเฉพาะเขื่อนปากแบงต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง และต่อสปป.ลาว

6.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง ในสปป.ลาว จนกว่าจะมีการศึกษาและมาตรการที่มั่นใจได้ว่า โครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตประเทศไทย

ทั้งนี้ก่อนการยื่นฟ้องคดี กลุ่มรักเชียงของ พร้อมตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยืนถือป้ายรณรงค์คัดค้านเขื่อนปากแบงที่หน้าศาลปกครอง พร้อมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวว่า เราเห็นว่าหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องและรักษาทรัพยากรแม่น้ำโขงรวมทั้งปกป้องชุมชนและประชาชนไทยในริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากแบงขึ้นมา ซึ่งอำนาจหน้าที่ตรงนี้ เรามองว่า กรมทรัพยากรน้ำไม่ใช่แค่มีการจัดเวทีให้เป็นไปตามกระบวนการปรึกษาหารือ(PNPCA) ไม่เพียงพอ แต่จะต้องมีหน้าที่ให้ความเห็นในลักษณะปกป้องทรัพยากรและประชาชนชาวไทยด้วย
“เราเห็นว่ากระบวนการแม้กระทั่งการทำตามเรื่องขั้นตอนการปรึกษาหารือ แม้กระทั่งที่ประชุมสามครั้งในสามพื้นที่ก็ยังไม่ครบถ้วนและถูกต้อง ในส่วนของรายงานการประชุม ไม่มีข้อมูลในลักษณะการโต้แย้งเรื่องโครงการไม่เหมาะสมหรือการส่งผลกระทบ แม้กระทั่งการทำหน้าที่ที่ผ่านมาของ MRC ของไทย ก็ไม่มีการออกกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับใดๆ ที่จะเป็นการคุ้มครองแม่น้ำโขง และคุ้มครองสิทธิประชาชนที่มีส่วนร่วม ในขั้นตอนปรึกษาหารือที่แท้จริง เราก็เลยมาฟ้องคดีในวันนี้” นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวว่า

ทนายความ กล่าวต่อว่า กระบวนการ PNPCA ที่จะเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ยังไม่มีความสมบูรณ์ในเรื่องข้อมูล เราจำเป็นต้องมาทักท้วง ซึ่งก่อนหน้านี้วันที่ 10 เมษายน คือ ผู้ฟ้องคดีได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ทั้งในฐานะกรม และฐานะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เพื่อให้มีการดำเนินการตามที่เราฟ้อง แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับคำตอบ ส่งเพียงข้อสรุปของการปรึกษาหารือมาให้เท่านั้น

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของและผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า เขื่อนปากแบงอาจจะกระทบกับพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย ที่กลุ่มเห็นว่าที่ผ่านมานั้น มีตัวอย่างเขื่อนตอนบนในจีน ที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำ และมีเขื่อนตอนล่าง ตัวอย่างคือ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งก่อสร้างอยู่ในขณะนี้มีกระบวนการที่ทำไม่รอบคอบ กลไกบางอย่างไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ทางกลุ่มจึงไม่เห็นด้วย และคิดว่าใช้ไม่ได้จริง ที่สำคัญกระบวนการดังกล่าวจะเป็นตรายางประทับให้สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเพิ่มมากขึ้น

“เราฟ้อง MRC ไทย และกรมน้ำ เพื่อให้ยกเลิกข้อสรุปจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของกระบวนการ PNPCA และอยากให้ส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กระทรวงพลังงาน ที่อาจจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอนาคตจากเขื่อนปากแบง เพื่อให้ชะลอการลงนามไว้ก่อน และอยากให้มีการศึกษาผลกระทบ และมีมาตรการหารือที่มีความเชื่อได้มากกว่านี้ อยากให้มั่นใฝจว่าไม่มีผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน” นายนิวัฒน์ กล่าว

นายนิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มเคยฟ้องศาลปกครองกลาง ต่อกรณีเขื่อนไซยะบุรีมาแล้ว แต่ศาลปกครองกลางยกฟ้อง ซึ่งทางกลุ่มอยู่ระหว่างการฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพราะเห็นว่าการดำเนิการเขื่อนไซยะบุรีนั้นไม่มีความสมบูรณ์ของข้อมูล เมื่อมีเขื่อนไซยะบุรีเป็นบทเรียนแล้ว เขื่อนปากแบงก็ต้องมีพัฒนาการขึ้นมา สมัยนี้รัฐไทยต้องมีความเข้มงวดมากขึ้นแล้ว เรื่องของทรัพยากรแม่น้ำโขงใช้ร่วมกันทุกประเทศ ทั้ง จีน ลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา ดังนั้นต้องมีขั้นตอนที่รัดกุมมากกว่านี้ เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ แต่ที่ผ่านมาการดูแลร่วมกันไม่มี มีแต่เถียงกันว่าใครจะใช้ ลาวก็จะเอา เวียดนามก็จะยึด จีนก็จะจัดการ ความต้องการใช้เป็นแค่ของคนส่วนน้อย แต่คนส่วนใหญ่ที่เป็นประชาชนทั้งประเทศกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม