เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 เวลา 9.30 น.ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย(มพศ.) ถนนรามคำแหง 39 ซอย 17 เขตวังทองหลาง กทม. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)ได้มีเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดท่าทีและจุดยืนของภาคประชาชนและชุมชนในเขตอนุรักษ์ ต่อร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ…และร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ…
ทั้งนี้ที่บริเวณปากซอย 17 ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจสถานีตำรวจวังทองหลางได้มายืนตั้งด่านตรวจบุคคลที่จะมาร่วมงาน และหากทราบว่าเป็นสื่อมวลชนก็จะไม่ให้เข้าร่วมทำข่าว ขณะที่ด้านในซอยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งในและนอกเครื่องแบบต่างกระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆสร้างความแปลกใจให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชน
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ กล่าวว่าตั้งแต่เมื่อเช้ามีสื่อมวลชนประมาณ 4-5 ช่องเข้ามาทำข่าวเวทีแห่งนี้ไม่ได้ เพราะตำรวจ-ทหารห้าม เมื่อนักข่าวถามว่าทำไมไม่ให้เข้า ได้รับคำตอบว่านายสั่งมา ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจที่การแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างกฎหมาย 2 ฉบับไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งตนถามจ่าตำรวจรายหนึ่งที่มาประจำอยู่ปากซอย เขาบอกว่าภารกิจอย่างเดียวในวันนี้ของเขาคือมาสะกัดกั้นนักข่าวไม่ให้ทำข่าวร่างกฏหมายทั้งสองฉบับนี้
ขณะที่นายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บนเวทีว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ให้ปรับแก้กฏหมายที่คิดว่าเป็นอุปสรรคกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ได้แก้ไขกฏหมายทั้งสิ้น 5 ฉบับ โดยพรบ.ป่าสงวนแห่งชาตินั้น ได้ลักไก่แก้ไขจนแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้แล้ว ส่วนอีก 4 ฉบับอยู่รหว่างการจัดทำความคิดเห็น ซึ่งถ้ามองเจตนารมณ์ของกฎมายออกมานั้น ส่วนใหญ่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานได้สะดวกมากขึ้น โดยการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ และลดบทบาทของชาวบ้าน แต่ก็มีบางส่วนที่ปรับแก้ดีขึ้น เช่น กรณีการเลี้ยงสัตว์ป่า หรือกรณีคนชายขอบสามารถจัดทำโครงการที่ใช้ประโยชน์ได้
นายภานุเดชกล่าวว่า ที่เป็นปัญหามากคือกรณีชุมชนกับป่า ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเปิดโอกาสให้ชุมชนทำโครงการให้เจ้าหน้าที่เสนอเรื่องขึ้นมาอยู่กับป่า แต่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และจำกัดพื้นที่รายละไม่เกิน 20 ไร่และไม่เกิน 20 ปี จึงมีข้อสงสัยว่าหากชาวบ้านรายนั้นเสียชีวิต ลูกของเขายังทำโครงการเสนอต่อได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นสิทธิของชุมชนของชาวบ้านจึงหายไปกลายเป็นเพียงผู้อาศัย ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีการเข้าไปจัดการกับพื้นที่ด้วย ทำให้มีแนวโน้มว่าจะเกิดความขัดแย้งสูงขึ้น เพราะบริเวณนี้ควรเป็นเรื่องของชุมชน เพราะรู้เรื่องของตัวเองดีสุด เขาใช้วิถีวัฒนธรรมแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นบริบทของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งไม่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะเข้าจัดรูปแบบที่ดิน
นายเกรียงไกร ชีช่วง ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า อยากตั้งคำถามว่าเราเป็นประชาชนของรัฐบาลจริงหรือไม่ และรัฐบาลมองพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เท่ากันหรือไม่ เพราะร่างกฎหมาย 3 ฉบับถูกออกแบบและผลักดันโดยมองว่าประชาชนโง่และจน ซึ่งเขาต้องเป็นผู้ทำให้เท่านั้น เรากำลังถูกครอบโดยระบบประชารัฐ ถ้าร่างกฎหมายยังขาดการมีส่วนร่วมเช่นนี้ก็ทำให้ชาวบ้านถูกกระทำซ้ำ โดยรัฐพยายามสร้างบรรทัดฐานบางอย่างในกรณีจับชาวบ้านคดี 2 ตายาย หรือกรณีจับกุมชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ทั้งนี้ที่ผ่านมาในร่างพรบ.ป่าอนุรักษ์หรือป่าสงวนก็ยังแก้ปัญหาไม่ถูกที่คัน
“การเสียพื้นที่ป่าหรือป่าลดลงช้าที่สุดอยู่ในพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ แต่เรากลับถูกกล่าวหาว่าทำให้ป่าลดลง คดีต่างๆเขาพยายามทำให้เป็นบรรทัดฐาน โดยเฉพาะกลุ่มเปาะบาง เช่น ผู้หญิง เด็ก ถูกดำเนินคดีมากขึ้น กรณีของแก่งกระจานชาวบ้านโดนหนัก ส่วนผู้นำชาวบ้านหลายแห่งต่างถูกเล่นงานเรื่องพรบ.คอมพิวเตอร์มากขึ้น”นายเกรียงไกร กล่าว
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาพีมูฟกล่าวว่า พื้นที่ป่าที่เหลือมากที่สุดอยู่ภาคเหนือ โดยครึ่งหนึ่งของภาคเหนือปกคลุมไปด้วยป่าใน 13 จังหวัดซึ่งมีชนเผ่าอยู่มากที่สุด แต่รัฐกลับบอกว่าเหลือป่าอยู่เยอะจึงทวงคืนผืนป่าเยอะที่สุดซึ่งไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านที่ช่วยกันรักษาป่าเอาไว้ ขณะที่จังหวัดนครปฐมและอีกหลายจังหวัดในภาคกลางมีพื้นที่ป่าเหลือน้อยสุดกลับไม่ถูกทวงคืน เช่นเดียวกับยุทธการดอยห้วโล้นก็มุ่งทวงป่าที่จังหวัดน่านทั้งๆที่มีป่าร้อยละ 61 ถือว่าเป็นความไร้มาตรฐานซึ่งหากย้อนดูตั้งแต่ปี 2525 ว่ามีผืนป่าอยู่เท่าไร และควรทวงคืนบริเวณไหนบ้างที่หายไป ทำไมไม่ใช้ม.44 เพิกถอนเอกสารสิทธิในพื้นที่ที่เคยเป็นป่านั้น หากทำจะได้พื้นที่อีกมากและไม่ต้องคอยไล่เบี้ยเอาจากคนจนหรือคนบนดอยที่รักษาป่าไว้อย่างดี
นายประยงค์กล่าวว่า พวกเราสู้เรื่องอุทยานฯทับที่ทำกินชาวบ้านมาเกือบชั่วชีวิตก็ยังไม่แล้วเสร็จ หลายพื้นที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นไม่เห็นด้วยที่จะให้ประกาศอุทยานฯมาครอบพื้นที่ หลายแห่งพื้นที่ที่ไม่ยอมกันพื้นที่ทำกินให้ชาวบ้าน บางพื้นที่ชาวบ้านทำเป็นป่าชุมชนจนได้รางวัลระดับโลก แต่วันนี้ในกฎหมายบอกว่าจะเอาไปเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานฯทำให้ชาวบ้านคิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ไม่รู้จะรักษาป่าไปทำไม
“พอคสช.ขึ้นมาบอกว่าจัดการพื้นที่ป่าในอุทยานฯให้เสร็จภายใน 3 เดือน ทั้งๆที่เขาทำกันมาหลายสิบปียังตกลงกันไม่ได้ นี่ปกครองอย่างไรกัน พอคสช.มาบอกให้ประกาศกันใน 3 เดือน และเตรียมแก้กฎหมาย ก่อนแก้กฎหมายก็ทำท่าขอประกาศอุทยานฯก่อน 21 แห่ง โดยอยู่ภาคเหนือตอนบนเกือบครึ่ง คนที่รักษาป่าไว้ได้ กลับได้โบนัสเป็นอุทยาน”นายประยงค์ กล่าว
นายประยงค์กล่าวถึงข้อเสนอว่าในวันนี้ป่าไม้มีกว่า 31.9 เปอร์เซ็นน่าจะเพียงพอแล้ว ไม่ใช่เอาอุทยานไปทับแล้วไปทวงคืนอย่างทุกวันนี้ เหมือนที่จังหวัดน่านบอกทวงคืนอีกกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งเป็นธรรมกับชาวน่านหรือไม่ที่สู้รักษาป่าไว้ตั้ง 61 เปอร์เซ็น ดังนั้นนโยบายต้องเป็นธรรม และพื้นที่ทวงคืนคือควรเป็นพื้นที่เคยเป็นป่ากว่า 40 เปอร์เซ็น ไม่ใช่ไปทวงคืนผืนที่ป่าจากชาวบ้าน ขณะเดียวกันในส่วนของร่างพรบ.นั้น ไม่ควรกำหนดเงื่อนไขเรื่องขนาดการถือครองเพราะอย่างไรก็เอาป่าคืนเพิ่มไม่ได้อยู่แล้วเพราะป่าไม่หายไปมากกว่านี้ จึงไม่จำเป็นที่ต้องตีกรอบให้ได้แค่ 20 ไร่ 20 ปี เพราะอาจได้ที่ดินคืนก่อน 20 ปีก็ได้หากสร้างแรงจูงใจที่ดีที่สำคัญคือป่าคงไม่หายไปกว่านี้อีกแล้ว
ทั้งนี้ในช่วงบ่ายได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังเดือดร้อนจากกรณีทีอุทยานจะประกาศทับ และชาวบ้านทั่วๆไป ซึ่งทั้งหมดเสนอว่าให้รัฐบาลถอยกฏหมายทั้ง 2 ฉบับออกมาก่อน เพื่อให้พิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งหากรัฐบาลเดินหน้าอย่างเร่งรีบอาจประสบปัญหาเช่นเดียวกับการแก้ไขพรบ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2560 ซึ่งประชาชนกำลังเดือดร้อนกันมากจนรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล