
ขบวนการภาคประชาชนและเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมตกอยู่ใน “แนวรบด้านแม่น้ำโขงไม่เปลี่ยนแปลง”มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่จีนยังต้องการขยายอาณานิคมเข้ามาในลาว และปรารถนาจะแสดงแสงยานุภาพทางเรือลงมาครอบคลุมอุษาคเนย์ ภายใต้แผนการระเบิดแก่งเพื่อการเดินเรือ (รบ)ขนาด 500 ตัน?
ส่งผลให้ภาคประชาชนและเอ็นจีโอต้องงัดทุกกระบวนท่าเข้ารับ ในระดับบน ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางให้สั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯระงับการเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง จนกว่าจะชี้แจงข้อมูลทุกอย่างให้คนไทยริมโขงหายข้องใจก่อนว่า ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนจะไม่กระทบวิถีชีวิตพวกเขา
ในระดับล่าง เชื่อมต่อพี่น้องไทย-ลาวให้รับรู้ข้อเท็จจริงและตระหนักถึงผลกระทบจากโครงการไปพร้อมกัน ถึงในฝั่งลาวจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่อย่างน้อยพวกเขายังได้รับรู้ถึงความห่วงใยจากญาติมิตรฝั่งไทย
ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้นำชุมชนริมแม่น้ำโขงใน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กว่า 10 ชีวิต ใช้โอกาสการเยี่ยมญาติพี่น้องริมโขงฝั่งลาวเลยไปดูบริเวณก่อสร้างเขื่อนปากแบง 1 ใน 11 เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง

จุดแรกแวะหมู่บ้านหาดสระ เมืองปากทา แขวงบ่อแก้ว เป็นเวลาเดียวกับที่วัดโพนสว่างมีงานบวชพอดี วงสนทนาจึงเกิดขึ้นที่ศาลากลางวัด ส่วน “พ่อหลวงวัน” ประชิต จันเพ็ง ผู้ใหญ่บ้านปากอิง ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย แยกตัวไปเยี่ยมพี่สาวแม่เป็นครั้งแรกที่นี่ หลังจากอพยพไปอยู่ที่เชียงของตั้งแต่อายุ 13 ปี
เช่นเดียวกับที่บ้านลวงโต่ง แขวงอุดมไชย บ้านเรือนส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าตลิ่ง 25-30 เมตร แต่จุดที่ชาวบ้านชี้ให้ดูบริเวณน้ำท่วมเหนือเขื่อนยังอยู่สูงขึ้นไปอีก 5 เมตร
เมื่อประมวลกับข้อมูลโครงการ (ปี 2552) ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่า “เขื่อนปากแบงมีระดับกักเก็บน้ำความสูงอยู่ที่ 345 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีขนาดอ่างเก็บน้ำยาว 90 กิโลเมตรในฤดูแล้ง และ 136 กิโลเมตรในฤดูฝน”

น้ำเหนือเขื่อนจะเอ่อสูงลามขึ้นมาถึง อ.เวียนแก่น และ อ.เชียงของ พื้นที่แรกที่ได้รับผลกระทบคือ “แก่งผาได” (ห่างจากเขื่อน 97 กม.) บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น หมู่บ้านสุดชายแดนซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 315 เมตร นั่นหมายถึงบริเวณนี้จะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ 30 เมตร และในฤดูฝนน้ำจะท่วมเลยผาไดไปอีก 39 กม. ปากแม่น้ำงาว และแม่น้ำอิง ลำน้ำสาขาแม่โขงจะหายไป
ตัดกลับมาที่บ้านลวงโต่ง กลุ่มแม่บ้านลาวเล่าให้ผู้มาเยือนฟังถึงคำสั่งที่ทางการแจ้งทุกหลังให้เตรียมพร้อมสำหรับการอพยพหนีน้ำไปอยู่พื้นที่ที่ทางรัฐจัดให้ ไม่มีค่าขนย้ายหรือชดเชยให้นอกจากข้าวสาร อาหารแห้งตลอด 3 ปีในบ้านหลังใหม่ วันนี้ ทางการกำลังตัดถนนเข้าหมู่บ้านรองรับการขนย้ายแล้ว
ทุกคนในบ้านลวงโต่งน้อมรับอำนาจรัฐโดยไม่ขัดขืน พอใจหรือไม่พอใจไม่สามารถแสดงออกได้ด้วยการเคลื่อนไหวใดๆ รูปแบบนี้อาจดีสำหรับที่นี่ แต่ไม่ใช่ฝั่งไทย
เยี่ยมญาติ ดูบริเวณก่อสร้างเขื่อนปากแบงที่ “ดอนเทศ” จรด “ภูพระเจ้าคำตัน”แล้ว เรานั่งล้อมวงพูดคุยกันเรื่องนี้ พรสวรรค์ บุญทัน ประธานสภาเทศบาล ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ,ทองสุข อินทะวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก และประชิต จันเพ็ง 3 ผู้นำชุมชน เป็นตัวแทนพี่น้องไทย-ลาวสะท้อนความคับข้องใจต่อหน่วยราชการทั้ง 2 ประเทศที่ไม่สามารถให้ความชัดเจนกับผู้ได้รับผลกระทบในทุกเรื่อง

“ชาวบ้านฝั่งลาวเล่าให้ฟังเรื่องถูกย้ายหมู่บ้าน ก็กังวลพอสมควร เพราะบางครอบครัวมีที่ทำกินใกล้บ้าน ไม่อยากย้าย แต่ว่าเขาไม่มีสิทธิ์เลือก ถ้าทางการให้ย้ายก็ต้องย้าย บางคนรู้ข้อมูล บ้างไม่รู้ คือรู้ไม่หมด ไม่ครบก็มี แต่จะออกมาต้านเขื่อนก็ทำไม่ได้ อย่างบ้านลวงโต้งตั้งมานานนับร้อยปี บางคนมีบ้านถาวร ถ้าเกิดวันหนึ่งต้องย้ายที่อยู่ เขาไม่แน่ใจว่าทางการจะเยียวยาอย่างไร เพียงพอหรือไม่”ทองสุขสะท้อนเสียงจากญาติพี่น้องฝั่งลาว
มิพักต้องพูดถึงปริมาณน้ำขึ้น-ลงที่ อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของจะวิปริตหรือไม่ ซึ่งไม่มีใครให้คำตอบได้ แม้ในเอกสารของบริษัท ต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนลพาวเวอร์ ของจีนในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างอ้างผลศึกษาว่า ระดับน้ำไม่เกิน 340 เมตร และไม่ถึงแก่งผาได แต่ ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งร่วมคณะไปด้วย ยืนยันผลการศึกษาข้อมูลเกือบทุกด้านแล้วฟันธงว่าท่วมถึงแก่งผาได
ขากลับ เรือแล่นผ่านปากแม่น้ำทา แม่น้ำสาขา ห่างไปไม่ไกลนักมีเขื่อนปากทา เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กกั้นขวาง บริษัทจีนสร้างเสร็จแล้ว แต่รัฐกลับไม่ได้ช่วยเหลือผู้อพยพทุกอย่างตามที่รับปากไว้แต่แรก เช่นนี้แล้วเราจะหวังอะไรกับคำสัญญาจากโครงการเขื่อนปากแบง
ลาวประกาศตัวเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” สร้างเขื่อนแล้ว 11 แห่ง ขายไฟทั่วภูมิภาค ทำให้คนระดับบนไม่กี่หมื่นคนร่ำรวย ทว่า..คนอีกนับล้านๆไม่ได้อะไรเลย นอกจากความสูญเสียและคำโฆษณาชวนเชื่อถึงชีวิตที่ดีกว่า