เรือประมงลำเล็ก ๆ ค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่ท่าเรือประจำครอบครัว “เกิดทองดี” ที่สร้างด้วยไม้ ความสูงไม่เกิน 3 เมตร อันเป็นท่าเรือที่ผ่านการซ่อมบำรุงมาแล้วหลายครั้ง ซึ่ง “ชวน เกิดทองดี” วัยอายุ 52 ปี บอกว่า “สภาพท่าเรือเล็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ไม่เคยทำให้ชีวิตเขาแปรเปลี่ยน”
กระทั่งอุตสาหกรรมเริ่มแผ่ขยายเข้ามา ลำน้ำแม่กลองถูกปล่อยของเสียมหาศาล สัตว์น้ำที่ “ชวน” และชาวประมงเคยจับได้ก็ค่อยๆลดลง แต่ก็ไม่อาจทำให้ชาวประมงในพื้นที่ต้องจบอาชีพดั้งเดิมได้ กระทั่งเมื่อปี 2557 บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่มาพร้อมสะพานท่าเทียบเรือคอนกรีตขนาดกว้าง 4.50 เมตร ยาว 145.50 เมตร และเรือบาร์จ ขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 70 เมตร ภายใต้โครงการก่อสร้างคลังก๊าซ ณ ชายฝั่งทะเลหมู่ 7 ตำบลแหลมใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างย่อยหลายส่วนได้แก่ อาคารสำนักงาน,ถังบรรจุแก๊สขนาดใบละ 1,000 ตัน จำนวน 8 ใบ ,ท่าเทียบเรือ 1 ท่า ,ถนนเพื่อขนส่งในพื้นที่และสะพานกั้นคลองลัด สร้างเนื้อที่ 1.67 ไร่ อยู่ในเขตป่าชายเลนตามพ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 และตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 (กำหนดเป็นเขตป่าชายเลนอนุรักษ์และเขตเศรษฐกิจ ก. ข.) รวมทั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ (แรมซาร์ไซส์) ดอนหอยหลอด ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ “ชวน” เริ่มคิดว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังมาถึง เพราะมีชาวบ้านในชุมชนโดยรอบที่ได้อาจจะได้รับความเดือดร้อนมากถึง 100 หลังคาเรือน ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มกังวลถึงวิถีชีวิตที่เคยพึ่งพาแม่น้ำแม่กลอง และคลองสาขา ต้องเปลี่ยนไป จึงต้องพยายามคัดค้านการก่อสร้างและร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง แต่บริษัทยังยืนยันเดินหน้าก่อสร้างมาต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันสะพานท่าเทียบเรือคืบหน้าไปแล้ว 90%อีกเพียง10 % ก็จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์
“ชวน เกิดทองดี” เป็นชาวประมงชุมชนคลองน้อย ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ที่โตมากับชีวิตชาวประมง มีพี่น้องร่วมสายเลือดรวมตัวเขามากถึง 9 คน เสียชีวิตไป2 คน ที่เหลือคือ เขา และพี่น้องอีก6 คน ซึ่งยังคงอาศัยคลองสาขา ของแม่น้ำแม่กลองหาสัตว์น้ำตามวิถีดั้งเดิม และไม่เคยคิดย้ายถิ่นฐานไปไหนด้วยเหตุผลที่ว่า “ผูกพันกับแม่น้ำแม่กลอง และคลองสาขาเกินกว่าจะถอนตัวออกห่าง”
จริงๆ แล้วที่ดินที่ปลูกบ้านของ “ชวน” และชาวชุมชนคลองน้อยรวมไปถึงชาวบ้านส่วนมากในตำบลแหลมใหญ่ นั้น เป็นที่ดินที่มีโฉนดซึ่งชาวประมงส่วนมากเช่าต่อจากเอกชนในอัตราการเช่าหลังละ500 บาทต่อปี จัดเป็นราคาที่พอรับได้และชาวบ้านอยู่ได้โดยไม่คิดเรียกร้องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือว่าซื้อหามาครอบครอง แต่สิ่งเดียวที่ทำให้ชาวบ้านดำเนินชีวิตอยู่ได้ คือ คลองสาธารณะ ที่เป็นคลองสาขาของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่ง “ชวน” เองก็เริ่มฝึกวิชาชีพหาสัตว์น้ำตั้งแต่วัยเด็กและออกเรือได้เองครั้งแรกในวัย 12 ปี
“คลองโคน คล่องช่อง คลองลัด บางตะบูน ไปถึงบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ผมก็ไปมาหมดแหละครับ ชายฝั่งทะเลเพชรบุรีก็ไปมานะ หาหอยแครง หอยกระปุก หอยหลอด หากันได้ทั่วไป พี่น้องสมุทรสงคราม เพชรบุรีไม่แบ่งเขตกัน ไม่มีเจ้าของ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าที่ดินมีเจ้าของเมื่อไหร่ แต่ที่นี่เราเช่ามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ไอ้ที่ดินมันสำคัญนะ แต่เราไม่ได้หากินบนบกไง เราหากินในน้ำก็คือเราอยากให้น้ำเป็นของส่วนรวม” เขาเล่า
ปัจจุบันรายได้ของ “ชวน” อยู่ที่วันละ 600-1,000 บาท หักต้นทุนค่าน้ำมันแล้วก็เหลือราว 400-500 บาท ส่วนมากเป็นรายได้ที่มาจากการหาหอยชนิดต่างๆ ส่วนปลามีบ้างถ้าวันใดคลื่นลมไม่แรงเขาจะออกไปลอยอวน ตกเบ็ด ตามประสา
เสียงสะท้อนจากชาวประมงวัย 52 ปี เป็นตัวแทนของชาวประมงอีกหลายร้อยชีวิต ที่ตบเท้าร้องเรียน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบอกเล่าข้อกังวลของชาวบ้าน
“ สะพานคอนกรีตท่าเทียบเรือที่เขาทำปากแม่น้ำแม่กลองก็คือมาขวางกั้นบริเวณหาปลาของชาวบ้าน ปลากะพง ปลากระบอก หอยแครง เราก็หาแถวๆนั้น มันเกิดกันเยอะนะ ทีนี้สร้างสะพานขวางแล้วเราจะไปทางไหน เขาว่าสร้างในที่โฉนด เราก็งงว่า โฉนดอะไรยื่นไปปากอ่าวแม่น้ำแม่กลองขนาดนั้น แต่เขาก็ยังจะสร้าง ถ้าสร้างเสร็จ เรือขนส่งมาเทียบท่า แล้วถ้าสิ่งแปลกปลอมมันลงมาในน้ำเราจะหากินยังไง ทีนี้อีกที่ที่เราห่วง คือ สะพานเล็กๆ กั้นคลองน้อย บริษัทเขาสร้างมากั้นคลองลัดที่ผมและพี่น้องใช้เดินเรือในช่วงหน้าคลื่นใหญ่ ลมฉิว เดือนสี่เดือนห้า (พฤษภาคม ถึงมิถุนายน ) ถ้าออกเรือไปแล้วพวกเราก็จะกลับมาจากทางคลองลัด เพราะถ้าอ้อมไปทางอ่าวลมแรงเราอาจจะเกิดอุบัติเหตุ เราต้องมาทางคลองเล็กๆ ระยะแค่ 2 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งใครกลับมาจากตลาดแม่กลองหรือกลับมาจากอ่าวใหญ่ เราก็ต้องอาศัยเส้นทางนี้ เราไม่อยากไปเสี่ยงปากอ่าว มันช้ามันเสี่ยง” ชายชาวประมง บอกเล่าถึงข้อกังวลที่มี
จากการร้องเรียนของชาวบ้านนำไปสู่การตรวจสอบโครงการโดยชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สนธิกำลังร่วมกรมเจ้าท่า ทหาร และฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างคลังก๊าซแหลมใหญ่ เนื้อที่ 45 ไร่ หลังได้รับหนังสือร้องเรียนจาก กสม.ถึงคำร้องให้ตรวจสอบว่าการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนรุกที่สาธารณะหรือไม่ โดยผลการสอบ พบว่า ทั้ง 3 แปลงเปลี่ยนจาก นส.3 มาเป็นโฉนดที่ดิน โดยไม่สามารถหาหลักฐานเอกสารสิทธิ์การครอบครอง หรือ สค.1 มาแสดงเป็นหลักฐานก่อนออกเป็นนส.3 ได้ ทั้งนี้ยังพบว่า การสร้างท่าเทียบเรือยาว 400 เมตร ได้สร้างผิดแบบที่เสนอไปยังกรมเจ้าท่าซึ่งหมายความว่าในจำนวนนี้ความยาว 143 เมตร อาจสร้างในพื้นที่ป่าชายเลน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กสม.ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินการ กรณีการก่อสร้างคลังก๊าซและท่าเทียบเรือของคลังก๊าซในพื้นที่ชุมชนคลองน้อยเพิ่มเติม ทาง กสม. เห็นว่าการสร้างคลังก๊าซนี้ไม่มีการประชาคมประชาชนอย่างครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และอาจเสี่ยงต่อการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการสร้างในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ชัดเจน
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดเป็นพื้นที่ระดับนานาชาติมีความสำคัญมาก แม้ว่าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะชี้แจงว่าเป็นโครงการดังกล่าวที่ไม่ต้องทำ EIA ก็ตาม แต่ส่วนตัวคิดว่า เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ หากโครงการมีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ควรต้องทำ EIA อย่างรอบด้าน ดังนั้นในอนาคตควรต้องผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป อีกเรื่องคือ การอนุญาตให้ก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือซึ่งอาจขัดกับผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรสงคราม ประเด็นดังกล่าว อนุกรรมการฯ เคยมีความเห็นไปแล้วว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ทาง อนุกรรมการฯ จึงจะประชุมอีกครั้งแล้วส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวต่อไป
ดูเหมือนกรณีความชัดเจนเรื่องคลังก๊าซดังกล่าว นอกจากความหวังด้านการรักษาอาชีพประมง และการรักษาระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมที่มั่นคงในแม่น้ำแล้ว “ชวน เกิดทองดี” และชาวชุมชนคลองน้อย ยังต้องตั้งความหวังกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานราชการอีกหลายส่วนด้วย