Search

พบตัวเลขฆ่าตัวตายในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หล่ะยังพุ่งสูง เหตุสิ้นหวังในชีวิต ชี้สันติภาพในพม่าไม่ก้าวหน้า ความหวังกลับบ้านยังมืดมัว

ภาพ BurmaLink

เนื่องในวันผู้ลี้ภัยสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) ได้ออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดการฆ่าตัวตายในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ค่ายผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งในรอบสองปีมานี้ มีผู้ลี้ภัยได้ฆ่าตัวตายไปแล้ว 28 ราย และพยายามฆ่าตัวตาย 66 ราย เป็นอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงกว่า 3 เท่าของการฆ่าตัวตายในค่ายผู้ลี้ภัยจากทั่วโลก

ทั้งนี้พบว่า ความเครียดจนนำไปสู่การปลิดชีพตัวเองในค่ายผู้ลี้ภัยนั้นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการขาดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ความยากลำบากในเรื่องเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต รวมไปถึงการขาดโอกาสทางการศึกษา โดยยังพบว่า กลุ่มที่เสี่ยงจะฆ่าตัวตายคือ ชายอายุต่ำกว่า 50 ปี โดยยังพบว่าผู้ที่ก่อเหตุฆ่าตัวตายส่วนใหญ่คือคนหนุ่มสาวที่อายุระหว่าง 16-25 ปี นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า มีเด็กรายหนึ่งได้ฆ่าตัวตาย และเด็กอีก 3 รายก็ได้พยายามฆ่าตัวตายด้วย

โดยพบว่า คนที่ฆ่าตัวตายกว่าครึ่งพบมีปัญหาชีวิตครอบครัว นอกจากนี้ยังพบมีปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์และสารเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยทางองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น
การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือป้องกันการฆ่าตัวตาย จัดตั้งที่ปรึกษาด้านครอบครัวและจัดหาจิตแพทย์เป็นต้น
เพื่อลดปัญหาการฆ่าตัวตายในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจากพม่าราว 1 แสนคนที่อาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้

อีกด้านหนึ่ง เครือข่ายส่งเสริมสันติภาพกะเหรี่ยง (Karen Peace Support Network) ได้จัดประชุมที่ย่างกุ้ง โดยได้แสดงความเป็นห่วงถึงอนาคตของผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางกลับพม่า เพราะขณะนี้ยังไม่มีแผนดำเนินงานที่ชัดเจน อีกทั้งผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่ากำลังค่อย ๆ ถูกตัดงบช่วยเหลือลง โดยทางกลุ่มยังแสดงความเป็นห่วงว่า ผู้ลี้ภัยจะถูกบังคับให้เดินทางกลับพม่า ขณะที่แม้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU จะลงนามหยุดยิงร่วมกับทางพม่าแล้วก็ตาม แต่ก็พบว่า แผนดำเนินการเพื่อพาผู้ลี้ภัยกลับบ้านอย่างปลอดภัย ทั้งการทำลายกับระเบิดและการสร้างงาน รวมถึงกระบวนการสร้างสันติภาพยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

มีรายงานด้วยว่า แทนที่กองทัพพม่าจะถอนกำลังออกจากรัฐกะเหรี่ยง กลับมีค่ายทหารพม่าเพิ่มขึ้นในเมืองผาปูน จากที่มีอยู่ 65 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 81 แห่ง นาย ซอ จ่อ ซา โฆษกของเครือข่ายส่งเสริมสันติภาพกะเหรี่ยงระบุว่า “หลังการลงนามหยุดยิงแห่งชาติระหว่าง KNU และทหารพม่าแล้ว ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากมองว่าจะเกิดสันติภาพในบ้านเกิดของพวกเขา แต่นั่นเป็นการเข้าใจผิดมาก” นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในสัญญาหยุดยิงแห่งชาติ แม้จะระบุว่าจะมีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายใน (IDP) แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น

อีกด้านหนึ่งทาง UNHCR ได้ออกมาเปิดเผยว่า ผู้ลี้ภัยจากพม่ายังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มเป็น 490,300 คน เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยมีผู้ลี้ภัยจากพม่าอาศัยอยู่ในบังกลาเทศจำนวน 276,200 คน ประเทศไทย 102,600 คน มาเลเซีย 87,00 คน และในอินเดียอีก 15,600 คน สาเหตุการอพยพลี้ภัยมากจากสาเหตุสงคราม ความรุนแรง และการกดขี่ในพม่า

ที่มา DVB/Mizzima/รอยเตอร์

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →