เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดเสวนา “เปิดสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกว่า 40 ชาติในประเทศไทย สู่การความคุ้มครองและการจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย” และการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “After Spring” เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก โดยมีนักวิชาการ ตัวแทนเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ลี้ภัย ร่วมเสวนา
ทั้งนี้ก่อนเริ่มการเสวนามีการฉายภาพยนตร์สั้นที่ตีแผ่เรื่องราวชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศไทย และภายหลังการเสวนาจึงมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “After Spring”
นอกจากนี้ในงานยังมีการเผยแพร่ข้อมูลจาก Asylum Access Thailand และเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยทั้งสิ้น 111,241 คน โดยอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า 103,179 คน และอาศัยอยู่นอกค่าย 8,278 คน โดยจากทั้งหมดมีเพียงประมาณ 4,000 คน ที่ได้รับการรับรองสถานนะเป็นผู้ลี้ภัยจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR และมีผู้ยื่นขอสถานะอยู่อีกกว่า 3,600 คน นอกจากนี้ในปี 2560 มีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยถูกกักขังอยู่ประมาณ 266 คน ซึ่งมีเด็กรวมอยู่ด้วย
นายศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยมากกว่า 40 ชาติ ที่เข้ามาในไทยกว่า 120,000 คน โดยกลุ่มใหญ่จะอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่านานกว่า 30 ปีแล้ว อีกส่วนคือผู้ลี้ภัยที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่า 8 พันคน จำนวนมากที่สุดมาจาก ปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย ปาเลสไตน์ ซีเรีย และอื่นๆ ซึ่งบางคนถือวีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย แต่ผู้ที่เข้าประเทศโดยไม่มีวีซ่าหรือไม่มีเอกสาร คือกลุ่มที่น่าเป็นห่วง เพราะต้องอาศัยช่องทางเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย ทำให้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ยกตัวอย่างกรณีชาวโรฮิงยา ที่ถูกเรียกค่าไถ่จากขบวนการนำพา เมื่อมีความต้องการเดินทางลี้ภัยเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยมีจุดหมายต้องการเดินทางต่อไปที่ประเทศที่ 3 คือ มาเลเซีย ยิ่งทำให้ขบวนการนำพาที่เป็นการค้ามนุษย์ขยายตัวมากขึ้นด้วย
นายศิววงศ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับสถานะของผู้ลี้ภัย นอกเหนือจากการใช้ พรบ.คนเข้าเมือง ทำให้ไทยไม่สามารถจำแนกผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิออกจากกลุ่มคนที่แฝงตัวเข้ามา ไทยจึงจำเป็นต้องมีกลไกกฎหมายที่คำนึงถึงนโยบายที่ครอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การคัดกรอง การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น การสนับสนุนให้ช่วยเหลือตนเองและการคืนประโยชน์สู่สังคมไทยในระหว่างที่เป็นผู้ลี้ภัยในไทยเป็นการชั่วคราว โดยยกตัวอย่างมาตรการทางเลือกการกักตัวผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ อาทิ มาเลเซียไม่จับกุมหรือกักตัวผู้ลี้ภัย ขณะที่อินโดนีเซียมีกฎหมายคนเข้าเมืองอนุญาตให้กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ และคนป่วย ไปพักอาศัยชั่วคราวในบ้านพักที่ได้รับการดูแลจากภาคประชาสังคมได้โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัว เป็นต้น
“กฎหมายคนเข้าเมืองของไทย เป็นการใช้ปราบปรามมากกว่าการคุ้มครองหรือการช่วยเหลือในฐานะผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นกฎหมายที่กดให้เกิดการลี้ภัยเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น และนำไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ทำให้ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ที่หลายคนมีเด็กหรือผู้หญิงเข้ามาด้วยไม่สามารถเรียกร้องสิทธิการช่วยเหลือ การทำงาน การศึกษา หรือการรักษาพยาบาลได้ ต้องถูกกดขี่จากขบวนการเอาเปรียบ เพราะต้องใช้เวลา 2-3 ปี เพื่อรอสถานะผู้ลี้ภัย และนานกว่านั้น 3-5 ปี เพื่อขออพยพไปประเทศที่ 3 บางคนมีป่วยก็ต้องไปโรงพยาบาล ช่วงแรกอาจจ่ายค่ารักษาไหว แต่ถ้านานไปทุนรอนก็ร่อยหรอ บางคนก็ต้องเก็บตัวอยู่ในห้องพัก ไม่กล้าเปิดเผยตัวเพราะกลัวถูกจับ” นายศิววงศ์ กล่าว
ด้าน ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี จากศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีค่ายผู้ลี้ภัยความตายจากประเทศเพื่อนบ้าน 9 ค่าย ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไทยจำเป็นต้องรองรับผู้ลี้ภัย แม้จะไม่ได้เข้าไปมีส่วนในความขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้าน เหมือนช่วงสงครามอินโดจีนที่ไทยมีส่วนร่วมในการทำสงครามที่เคยมีผู้ลี้ภัยเข้ามาไทยถึง 1 ล้านคน ขณะเดียวกันตอนนี้แม้จะมีผู้หนีภัยความตายเข้ามาในไทยจำนวนมาก แต่ก็ไม่ง่ายที่จะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย เพราะส่วนใหญ่จะถูกกักให้อยู่ในค่ายตามชายแดน เพื่อรอการส่งกลับประเทศเมื่อสถานการณ์สงบ ส่วนปัญหาชาวโรฮิงยาที่หนีเข้าไทยมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2558 มีทั้งผู้หญิงและเด็ก ซึ่งไม่น้อยต้องเสียชีวิตระหว่างเดินทาง ทำให้ไทยจำเป็นต้องหารือเรื่องนี้กับนานาชาติว่าควรจัดการปัญหาอย่างไร เพราะไทยกฎหมายไทยยังถือว่าผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย
“รัฐไทยต้องมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นผู้หนีภัยความตาย ต้องใช้กฎหมายในการปกป้องช่วยเหลือและให้ความปลอดภัย จริงๆ แล้วมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎหมายไทย ทั้ง พรบ.คุ้มครองเด็ก พรบ.การศึกษา พรบ.ทะเบียนราษฎร ที่ควรถูกนำมาใช้คุ้มครองให้ได้รับการช่วยเหลือในขั้นพื้นฐานตามหลักมนุษยธรรม เพราะผู้ลี้ภัยไม่ว่าจะเข้ามาด้วยสถานะอะไรก็ตาม ก็ต้องได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยลงนามไว้ถึง 7 ฉบับ” ดร.ศรีประภา
ดร.ศรีประภา กล่าวอีกว่า กรณีชาวอุยกูร 109 คน ที่ถูกรัฐบาลไทยส่งมอบตัวให้รัฐบาลจีนนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่กดดันให้ต่อทางการไทย หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้เห็นพ้องต่อการส่งกลับชาวอุรกูร ซึ่งฝ่ายความมั่นคงบอกว่าถูกกดดันต้องส่งกลับ แต่หน่วยงานที่ต้องชี้แจงกับนานาชาติก็ไม่เห็นด้วย เป็นความขัดแย้งสับสนในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความกดดันทางการเมือง ณ ขณะนั้น
ส่วนนายอดิสร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า กรณีที่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคา ที่ผ่านมาเห็นชอบการจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย ยังมีคำถามว่า จะสามารถแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เนื่องจากการออกมติดังกล่าวไม่มีตัวแทนภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตามในระหว่างการรอออกกฎหมายและแนวทางการคัดกรองผู้ลี้ภัย ภาครัฐควรพิจารณาให้มีมาตรการระยะสั้น ที่ไม่จับกุมผู้ลี้ภัยที่เปราะบาง เด็กต่ำกว่า 18 หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย และพิจารณาผ่อนผันหรือปรับลดอัตราค่าประกันตัว ที่ปัจจุบันสูงถึง 5 หมื่นบาท และพิจารณาให้ผู้ลี้ภัยที่ถือเอกสาร UNHCR พักอาศัยในไทยเป็นการชั่วคราว
นายอดิสร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐต่อการแก้ปัญหาระยะยาว ให้เร่งรัดปรับปรุง ร่าง พรบ.คนเข้าเมือง และการจัดทำกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยตามมติ ครม.10 มกราคม 2560 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุดในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ได้แก่ ด้านการคัดกรอง ด้านการดูแลช่วยเหลือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัย และด้านอุทธรณ์การอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในไทย