
ลาวประกาศตัวเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” สร้างเขื่อนภายในประเทศแล้ว 11 แห่ง ขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้าน ทำให้คนระดับบนไม่กี่หมื่นคนร่ำรวย ทว่า..คนอีกนับล้านๆไม่ได้อะไร นอกจากความสูญเสียและคำโฆษณาชวนเชื่อถึงชีวิตที่ดีกว่า
ผมเห็นและรู้สึกเช่นนี้ในระหว่างนั่งเรือล่องแม่น้ำโขงไปพบปะชาวลาว 2-3 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการสร้าง “เขื่อนปากแบง” 1 ใน 11 เขื่อนที่ลาวโดยการสนับสนุนจากจีนวางแผนก่อสร้างกั้นแม่น้ำโขง (ขณะนี้เริ่มสร้างแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี และดอนสะโฮง)
คนในหมู่บ้านอยู่กันพอมีพอกิน ไม่อัตคัตขัดสนก็จริง แต่สภาพสุขภาวะในหมู่บ้านไม่สู้ดีนัก เช่น ปัญหาขยะ ห้องส้วมสาธารณะ น้ำดื่มสะอาด ศูนย์อนามัย โรงพยาบาลชุมชน ฯลฯ
ถ้าการขายไฟฟ้าทำรายได้มากมายเข้าประเทศ คำถามคือ รัฐบาลลาวนำไปพัฒนาอะไร มากน้อยแค่ไหน มุ่งเน้นจ่ายหนี้เงินกู้มหาศาลให้จีน ทุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการทหาร หรือมุ่งเน้นด้านสาธารณสุข และการศึกษา
ถ้ามุ่งเน้นอย่างหลังชนิดลงถึงระดับหมู่บ้านชนบท ผมควรจะได้เห็นสุขภาวะชุมชนในทางที่ดีขึ้นกว่าที่เคยเห็นเมื่อครั้งลงพื้นที่เขตลาวเหนือและลาวใต้หลายปีที่ผ่านมา วันนี้ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นหลังจากเร่งสร้างเขื่อนปั๊มรายได้
รัฐบาลลาวกำหนดแผนพัฒนาประเทศว่า “ในปี 2563 จะกระจายไฟฟ้าให้เข้าถึงครอบคลุมบ้านเรือนของประชาชน 90% ของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาภาคการเกษตรและยกระดับการขยายตัวของอุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลางในท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจชุมชนขยายตัวมากขึ้น”
แต่วันนี้ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย ไฟฟ้าเข้าถึงมากขึ้นก็จริง แต่ยังไม่สามารถยกระดับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีได้ดีพอ ส่วนภาคการเกษตรนั้น ผมคิดว่า แปลงสวนกล้วยหอมจำนวนมากมายในลาวเหนือยังไม่ใช่คำตอบของการพัฒนา แต่เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ชั่วคราวแลกกับการตายผ่อนส่ง

ขนาดเมืองท่องเที่ยวอย่างหมู่บ้านปากแบง ริมแม่น้ำโขง จุดกึ่งกลางระหว่าง อ.เชียงของกับหลวงพระบาง ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนต้องนอนพักที่นี่หนึ่งคืนก่อนนั่งเรือต่อไปหลวงพระบาง มีโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮ้าส์มากมายรองรับนักท่องเที่ยว อาหารการกิน น้ำ-ไฟพร้อม ติดอยู่อย่างเดียวที่ส่วนกลางยังดูแลไม่ถึง นั่นคือปัญหาขยะ และการรักษาความสะอาด
แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ ไม่ว่าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ภาคประชาชน หรือเอ็นจีโอชาติไหนคงไม่สามารถทัดทานแผนงานสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของลาวได้ ขนาดโครงการที่ “ดอนสะโฮง” ซึ่งถือเป็นโครงการที่หลายฝ่ายต่อต้านหนักสุด เพราะสร้างความสูญเสียอย่างมากให้ “คลังอาหารโลก” แต่ทางการลาวสามารถรวบรัดให้บริษัทลงมือก่อสร้างแล้วหน้าตาเฉย
นับประสาอะไรกับเขื่อนอีก 9 แห่งที่เหลือจะไม่ตั้งตระหง่านขวางกั้นแม่น้ำโขง
————————-
โดย ภาคภูมิ ป้องภัย