เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 นาย ซอ มิน อู แรงงานเชื้อสายทวาย ที่เข้ามาทำงานรับจ้างในประเทศไทย เปิดเผยว่า สองสามวันที่ผ่านมามีแรงงานชาวทวายหลายคนจากบางพื้นที่ตื่นตระหนกกับการบังคับใช้พระราชกำหนด ( พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยหลายกลุ่มที่ทำงานไม่ตรงกับชื่อนายจ้างและบริษัทในบัตรอนุญาตทำงานต่างก็พยายามจะกลับบ้านเพื่อป้องกันการจับกุมภายหลัง จนบางส่วนได้รับอุบัติเหตุ และบางส่วนถูกควบคุมตัว ขณะที่เพื่อนของตนที่มีใบอนุญาตถูกต้องและทำงานตรงตามข้อมูลการอนุญาตทำงานก็พยายามหาทางออกเพื่อช่วยเหลือเครือข่ายแรงงานข้ามชาติจากพม่า และต่อมาถูกดำเนินคดีข้อหาการขนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย
“การขนคนแบบนั้น ผมเชื่อว่าใคร ๆ ก็รู้ว่ามันผิดกฎหมาย แต่เมื่อ พ.ร.ก.ประกาศใช้ บางคนเขาก็ยอมกลับบ้าน ทั้งที่เพิ่งเข้ามาทำงานไม่นานและอยู่ระหว่างการการทำเรื่องต่อใบอนุญาตอยู่ เพราะบางคนเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้าง ด้วยเหตุผลต่างกัน เช่น ค่าแรงไม่คุ้มกับการทำงานหนัก สวัสดิการไม่ดี ผมรู้ว่ามีดี มีแย่ แต่กฎหมายออกเร็วเกินไปและหลายคนไม่เข้าใจ ก็กลัวและหนีออกนอกเมืองหมด มันเหมือนตอนที่เขาจัดระเบียบปี 2557 เลยครับ” ซอ มิน กล่าว
นายซอ มิน กล่าวเพิ่มว่า จากการอ่านเนื้อหาในข่าวเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวยอมรับว่าเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง สำหรับคนที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมายนั้นก็มีหลายแบบ อยากให้ผู้เกี่ยวข้องแยกแยะกลุ่มแรงงานข้ามชาติให้ละเอียดและประชาสัมพันธ์กฎหมายเพิ่มเติม
ด้านนายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 ได้ส่งผลให้แรงงานที่ไม่มีเอกสารใด ๆ หรือมีเอกสารไม่ครบ ไม่สามารถต่อใบอนุญาตทำงานได้หลังเกินกำหนด 15 วัน ทำงานผิดประเภท จนนายจ้างให้ออก ขณะที่นายจ้างเก่าไม่ยอมแจ้งออกให้ จึงทำให้เกิดความกลัวการถูกจับ ติดคุก ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากทยอย ทะลักกลับไปยังประเทศต้นทาง คือ พม่า ลาว กัมพูชา อย่างไม่ขาดสาย หนำซ้ำถูกระทำซ้ำเติมถูกเรียกเงินไม่ต่ำกว่าคนละ 3-4 พันบาท โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามด่านตรวจต่าง ๆ ก่อนถึงปลายทางชายแดน โดยทราบว่าเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน มีการทะลักมากกว่า 5,000 คน ที่ชายแดนแม่สอด เมียวดี ประเทศพม่า
อนึ่งในวันที่ 5 กรกฏาคมนี้ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มีกำหนดจัดเสวนาหัวข้อ “เสวนาพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ปวงชนชาวไทยได้อะไร” กิจกรรมเริ่มตั้งแต่ เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องจอมพล ป.พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน โดยทางกรมฯ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการ เอ็นจีโอ ผู้แทน กกร. นักวิชาการแรงงานจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันเสวนาเกี่ยวกับการออกกฎหมายดังกล่าว