Search

รัฐบาลพม่าร่วมมือกับภาคเอกชน เล็งสร้างงานให้แรงงานพม่าที่กลับจากประเทศไทย อีกด้านเตรียมลงนาม MOU ส่งออกแรงงานพม่าไปญี่ปุ่น

ภาพจากเว็บไซต์ Tai Freedom

นายอูเต็งส่วย รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน การย้ายถิ่นฐานและประชากรของพม่า ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ทางรัฐบาลพม่าไม่อยู่เฉย เตรียมร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศเพื่อหาทางออกและสร้างงานให้กับแรงงานที่ทยอยเดินทางออกจากประเทศไทยกลับพม่า หลังทางการไทยออกมาตรการปราบปรามแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย ขณะที่มีการรายงานว่า ตัวเลขแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่เดินทางออกจากประเทศไทยมีอยู่ราว 70,000 คนแล้ว โดยแรงงานราวครึ่งหนึ่งเดินทางกลับบ้านผ่านชายแดนด้านแม่สอด-เมียวดี

“การสร้างงานให้กับแรงงานที่เดินทางจากประเทศไทยเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในตอนนี้” นายอูเต็งส่วยกล่าว นอกจากนี้ยังกล่าวว่า กฎหมายและข้อบังคับฉบับใหม่เกี่ยวกับการลงทุนได้ทำให้มีความสะดวกและง่ายขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามผลักดันให้มีการดำเนินการโครงการที่ให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ภาพโดย Pyae Thet Phyo / The Myanmar Times

โดยนายอูเต็งส่วย ได้เปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้มีตัวเลขแรงงานที่เดินทางกลับจากไทยแล้วจำนวน 34,069 คน แม้จะพบว่าแรงงานเหล่านี้บางส่วนต้องการกลับมาทำงานที่บ้านเกิด แต่อีกบางส่วนก็ยังอยากเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศไทยหลังจากจัดการเรื่องเอกสารเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากแรงงานเหล่านี้ได้ติดต่อทำงานกับนายหน้าหรือโรงงานที่ประเทศไทยไว้ก่อนแล้ว นอกจากนี้ นายอูเต็งส่วยยังกล่าวว่า พม่ามีแผนจะส่งออกแรงงานไปประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจข้อตกลง MOU นั้นอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว โดยแรงงานพม่าที่จะไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นสามารถทำงานได้ใน 3 ภาคส่วนเช่นภาคฝ่ายการผลิต การก่อสร้างและในภาคเกษตรกรรม โดยจะมีการฝึกทักษะรวมทั้งภาษาให้กับแรงงานก่อนที่จะเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม แม้ทางการพม่าจะประกาศว่า มีตัวเลขเดินทางกลับพม่าเพียง 34,069 คน แต่ทางนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานระบุ น่าจะมีตัวเลขแรงงานราว 70,000 เดินทางกลับพม่าแล้ว อีกด้านหนึ่ง ทางสมาคมครูแรงงานพม่า (The Burmese Migrant Teachers’ Association หรือ BMTA) ออกมาเปิดเผยว่า ผลจากการปราบปรามแรงงานผิดกฎหมายในไทยอย่างหนักที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงเรียนสำหรับแรงงานข้ามชาติในจังหวัดตากหลายแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราว เนื่องจากครูสอนชาวพม่าไม่กล้ามาโรงเรียน ขณะที่คาดว่า มีโรงเรียนสำหรับสอนแรงงานข้ามชาติจำนวน 69 แห่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า เช่นเดียวกับผู้ปกครองที่ไม่มีเอกสารถูกต้องก็ไม่กล้าส่งลูกหลานไปโรงเรียนด้วยในขณะนี้

ด้านนายสุนทร ศรีปานเงิน ชาวไทยเชื้อสายมอญกล่าวว่า กฎหมายใหม่เกี่ยวแรงงานข้ามชาติของไทยนั้นจะไม่ส่งผลดีกับทั้งแรงงานและนายจ้าง มีแต่จะทำให้แรงงานต้องสูญเสียเงินให้กับนายหน้าเพื่อขอเอกสารจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐเท่านั้น ขณะที่ความเคลื่อนไหวตรงชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สายและท่าขี้เหล็กก็ยังคงมีแรงงานทยอยเดินทางกลับฝั่งพม่าอย่างต่อเนื่อง หลายองค์กรไทใหญ่อย่างพรรคการเมืองหัวเสือ(SNLD) พรรคการเมืองเสือเผือก(SNDP)และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) รวมไปถึงกลุ่มเยาวชนไทใหญ่ ได้ประสานร่วมมือช่วยเหลือแรงงานที่เดินทางกลับจากไทย ทั้งการให้ที่พักชั่วคราวและให้เบอร์โทรติดต่อในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน

ที่มา Karen News/Mon News Agency/Tai Freedom/Myanmar Times
แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวชายขอบ

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →