เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 ได้มีการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านหมู่ 7 บ้านโฉลกหลำ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เกี่ยวกับโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล หาดโฉลกหลำ โดยมีนายกเทศมนตรีเทศบาลเกาะพะงัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ปลัดอำเภออาวุโส พันโทชัยวุฒิ พรมทอง นายทหารทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยพื้นที่เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะพะงัน ตามคำสั่ง คสช. และชาวบ้านกว่า 200 คน เข้าร่วมรับฟัง
นายพงศักดิ์ หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 กล่าวว่าเป็นการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน แต่เนื่องจากมีผู้ทำหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าวส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถึง 7 หน่วยงาน เช่น กรมโยธาธิการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น ตนเกรงว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจึงต้องการชี้แจง และได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาโครงการมาร่วมด้วย
นายอรินทร์ โสมบ้านกวย ตัวแทนของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ได้กล่าวสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 235 คน เป็นชาวบ้านในพื้นที่ 111 คน ซึ่งที่ประชุมได้มีแบบสอบถาม ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นด้วยในการดำเนินโครงการ แต่มีชาวบ้าน 7 คน ไม่เห็นด้วย คิดเป็น ประมาณร้อยละ 3 ของทั้งหมด อีกทั้งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 คิดว่า รูปแบบเขื่อนกันคลื่นแบบขั้นบันไดน่าจะเหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ก่อนการพูดคุยของชาวบ้าน พันโทชัยวุฒิ พรมทอง ได้ขอให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นต่างๆ เพื่อผู้เกี่ยวข้องจะได้รับเรื่องไปพิจารณา ส่วนตัวขอสอบถามรายละเอียดโครงการว่า ตามข้อกังวลจะทำให้สูญเสียชายหาดหรือไม่ และแก้ปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งวิศวกรโครงการได้ให้ข้อมูลการออกแบบเบื้องต้นว่า ขั้นบันไดที่จะสร้างจะกินพื้นที่ชายหาดเดิมลงไปประมาณ 10 เมตร ชายหาดจะสั้นลง แต่ในระยะยาวทรายจะกลับมาทับถมกันทำให้ชายหาดยาวลงไปเช่นเดิม ส่วนสันเขื่อน กว้างประมาณ 5.5 เมตร
ในขณะที่การประชุมเริ่มเข้มขึ้น เมื่อนายพิทยา อินคง นายกเทศมนตรีเทศบาลเพชรพะงัน กล่าวว่าการทำหนังสือคัดค้านของ บริษัทรามบุตรี จำกัด เป็นการขัดขวางการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และเป็นนายทุนจากภายนอกที่ไม่เข้าใจ และไม่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น จนอาจส่งผลให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ไม่อนุมัติงบประมาณในการทำโครงการ
“ที่ผ่านมา ชายหาดบ้านโฉลกหลำมีคลื่นโหมรุนแรงในช่วงประมาณเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุม ทำให้ชายหาดได้รับความเสียหาย เทศบาลต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การนำกระสอบทรายมาเรียง หรือการช่วยซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหาย นี่จึงเป็นโอกาสดีของคนโฉลกหลำที่ไม่อยากให้มีคนมาขัดขวาง เพราะหากครั้งนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ ต่อไม่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงไม่มีโครงการใดๆ ลงมาในชุมชนอีกแล้ว” นายกเทศมนตรีกล่าว
ด้านนายจตุรงค์ วัดพงพี ผู้รับมอบอำนาจในการคัดค้านจาก บริษัทรามบุตรี ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งติดชายหาด กล่าวว่า เราไม่ได้คัดค้านการแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ต้องการให้มีการทบทวนและหาแนวทางที่เหมาะสม เพราะเกรงว่าหากดำเนินการโครงการก่อสร้าง ชายหาดย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน จากการก่อสร้าง และพื้นที่หาดที่จะลดลง หรือได้รับผลกระทบอื่นๆ จากการกัดเซาะตามที่เห็นตัวอย่างมาจากที่อื่นๆ การทำหนังสือคัดค้านไป ก็เป็นการทำไปตามหน้าที่ และสิทธิ์ของพลเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในเวทีเริ่มตึงเครียดยิ่งขึ้นอีก เมื่อผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่งกล่าวว่า ผู้ที่ให้เหตุผลว่ากลัวชายหาดเสียทัศนียภาพนั้น ไม่เข้าใจชีวิตของชาวประมง ที่ลำบากจากการจอดเรือ จากการขึ้นลงชายหาด คนที่อยู่ติดชายหาดเป็นที่ตาบอดไม่มีถนน ก็จะได้มีถนน ตนเชื่อว่าทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว 40-50 ปี ที่ผ่านมาเราเดือดร้อน ตอนนี้โอกาสมาถึงต้องรีบทำ อยากวอนให้เจ้าของที่ดินที่คัดค้านเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งหลังจากผู้ใหญ่บ้านคนดังกล่าวพูดจบได้เกิดเสียโห่ฮา (ชอบใจ) จากผู้เข้าร่วมในบางส่วน
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ใหญ่บ้าน แจ้งปิดการประชุม ได้มีชาวบ้านมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ โดยกล่าวว่า ตนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระในบรรยากาศการประชุมที่เกิดขึ้น จึงขอมาสอบถามข้อมูลการดำเนินโครงการ และแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าทุกวันนี้ แม้จะมีคลื่นลมแรงในช่วงมรสุมเป็นเวลา 1 เดือน แต่ก็เป็นปกติของฤดูกาลที่นี่ มีการกัดเซาะเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็แก้ปัญหากันได้ตามสถานการณ์ แต่หากมีการสร้างเป็นโครงสร้างแข็ง อาจทำให้ชายหาดหายไป เหมือนกับที่มีชาวบ้านส่วนหนึ่งทำกำแพงคอนกรีตขึ้นเอง เป็นระยะทางประมาณ 15 เมตร ตรงจุดนั้นไม่มีชายหาดเหลือเลย เป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว ที่ผ่านมาตนไม่สบายใจจึงได้พูดคุยสอบถามกับชาวบ้านส่วนหนึ่งใกล้ๆ บ้านซึ่งอยู่ด้านขวามือของสะพานปลาก็ไม่มีใครต้องการ เพราะเชื่อว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการธรรมชาติมากกว่า