ป่าที่เคยรกชัฏแน่นไปด้วยไม้เล็กไม้ใหญ่และเถาวัลย์ วันนี้มีน้ำสูง 2 เมตรท่วมจนมองไม่เห็นไม้เล็กที่ปกคลุมดิน ความงดงามต่างๆที่เคยเดินท่องต้องเปลี่ยนเป็นนั่งเรือคอยหลบหลีกกิ่งไม้ชมความมหัศจรรย์ของป่าผืนนี้แทน
ลุงจันตา ธรรมกอง วัย 75 ปี นั่งพายอยู่หัวเรือด้วยสีหน้าเบิกบาน เพราะหลายปีที่ผ่านมา บรรยากาศพายเรือกลางป่าเช่นนี้ได้ขาดหายไป ผิดกับแต่ก่อนที่แทบทุกปี แกต้องพายเรือออกมาหาปลาในป่าช่วงที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งปีเช่นนี้
“มีความสุขที่สุดแล้วที่ได้มาเห็นแบบนี้”คนเฒ่าชี้นั่นชี้นี่ให้พวกเราดูตลอดทางที่พานั่งเรือสำรวจป่าบุญเรืองริมแม่น้ำอิง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
เห็ดหูหนูเกาะอยู่บนต้นส้มแสง ขณะที่ชมพู่น้ำกำลังออกลูกสีแดงสดเต็มต้น ดูเหมือนต้นไม้ทุกต้นไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับน้ำที่ท่วมสูงเพราะได้ปรับตัวจนกลายเป็นระบบนิเวศของป่าชุมน้ำ
“สมัยก่อนปลาตัวละ 30 โล ก็เคยได้กัน น้ำท่วมเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ลุงหาปลาเอาไปขายได้ตั้ง 3-4 หมื่นบาท” น้ำเสียงของลุงจันตาดูปลาบปลื้ม แม้ทุกวันนี้แกจะถูกลูกหลานขอร้องไม่ให้หาปลาแล้ว เพราะเป็นห่วงในวัยที่สูงขึ้น แต่แกก็กระฉับกระเฉงทุกครั้งที่พาคนนั้นคนนี้มาทำความรู้จักกับป่าบ้านบุญเรื่อง “ลุงชอบมาใส่เบ็ด ช่วงน้ำท่วมแบบนี้ ปลาใหญ่จากแม่น้ำโขงจะมากันเยอะ มาวางไข่และหากิน”
แม่น้ำอิงไหลลงแม่น้ำโขง ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจึงมีผลโดยตรงกับแม่น้ำอิง เช่นเดียวกับธรรมชาติของปลาที่แหวกว่ายหากินตามพื้นที่ต่างๆตามสัญชาติญาณเดิมที่สั่งสมมา
ระบบนิเวศเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เพราะกว่าจะเขย่าให้ลงตัวได้ต้องใช้เวลานาน แต่การทำลายง่ายนิดเดียว ยิ่งได้ผู้บริหารประเทศที่ขาดความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจชุมชนและมุ่งหน้าเอาใจเหล่าเจ้าสัวและทุนใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นทางรอดของชาติ ผลกระทบที่ตามมายิ่งน่าห่วง
ผืนป่าบ้านบุญเรืองกว่า 3 พันไร่ ถูกรัฐบาลกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แต่ชุมชนได้ร่วมกันคัดค้าน จนทางการทำท่าถอย แต่ชาวบ้านก็ยังไม่มั่นใจ ดังนั้นจึงยังคงช่วยกันอธิบายถึงความมั่งคั่งของเศรษฐกิจชุมชนที่ได้รับจากป่าผืนนี้ให้สาธารณชนได้เข้าใจ
ลุงจันตาเกิดที่บ้านบุญเรือง ทั้งชีวิตตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยชราผูกพันอยู่กับป่าผืนนี้ ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใด ป่าก็มีผลิตผลหลากหลายให้แกและชาวบ้านได้พึ่งพิงโดยมิขาด
“เราออกไปคัดค้านเพราะเชื่อว่าไม่ได้ทำอะไรผิด เมื่อทางการไม่อนุรักษ์ เราก็ต้องอนุรักษ์และปกป้อง อายุก็ปูนนี้แล้ว ไม่เห็นต้องกลัวอะไร”น้ำเสียงเด็ดเดี่ยวและมุมมองของคนเฒ่า ทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมผืนป่าขนาดใหญ่ถึงดำรงอยู่ได้ ท่ามกลางป่าชุ่มน้ำมากมายในลุ่มน้ำอิงที่ถูกทำลายจนแทบไม่เหลือ
ในขณะที่หลายจังหวัดกำลังทุกข์ยากและเดือดร้อนจากอุทกภัย แต่ในป่าบ้านบุญเรือง ทั้งต้นไม้ ฝูงปลาและคนต่างกำลังต้อนรับมวลน้ำอันสูงอ่อ เพราะนั่นคือความอุดมสมบูรณ์ประจำปี
/////__
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.