เสียงเพลง “Imagine” ของ John Lennon ดังขึ้นเป็นระยะสลับกับอีกหลายเพลงตามมา ระหว่างการเยือนแดนหญิงแห่งเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หนึ่งในเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ตามหลักการของสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำสู่การปฏิบัติในประเทศไทย โดยความร่วมมือของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) และกรมราชทัณฑ์ เป็นบรรยากาศที่แสนผ่อนคลาย หากไม่มีรั้วลวดหนามพร้อมกำแพงสูงกั้น คงคิดว่านี่พื้นที่แห่งนี้เป็นชมรมฝึกร้องเพลงธรรมดาเท่านั้นเอง แต่ความจริงแล้วที่นี่คือ “คุก” ที่หลายคนขยาดกลัวและไม่อยากเข้าไปอยู่
“Imagine there’s no heaven. It’s easy if you try. No hell below us. Above us only sky .Imagine all the people Living for today…”
เนื้อเพลงข้างต้นที่ผู้ต้องขังหญิงกลุ่มหนึ่งร่วมร้องประสานเสียง แปลโดยสรุปว่า นึกฝันเสียว่าสวรรค์ไม่มีจริง ง่ายเหลือเกิน ถ้าเธอลองนึกดูว่า นรกนั้นไม่มีจริง เหนือกว่าเรามีเพียงฟ้าคราม จงนึกเสมอว่า ทุกคนมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อวันนี้ …..
บทเพลงข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมเล็ก ๆ ที่ทางเรือนจำร่วมปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพเพื่อใช้ในการบำบัดความเครียดและช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ที่ก้าวพลาดในชีวิตแล้วต้องเข้าสู่ “คุก” แต่เพลง Imagine กลับสื่อความหมายคล้ายว่า คนเราจะยืนอยู่จุดใดของสังคมก็ตาม ย่อมจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการอยู่กับปัจจุบัน อยู่อย่างยอมรับในชีวิตทุกรูปแบบ สำหรับผู้ต้องขังที่เคยก้าวพลาด ทำผิดกฎหมายการจะยอมรับชะตากรรมและใช้ชีวิตในเรือนจำไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นสภาพแวดล้อมโดยรอบจึงสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยให้พวกเขายอมรับต่อบทลงโทษแล้ว ต้องช่วยให้มีความพร้อมกลับคืนสู่สังคมปกติด้วย นี่จึงเป็นที่มาของการมี “ข้อกำหนดกรุงเทพ”
ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษ TIJ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์เล่าถึงที่มาของข้อกำหนดกรุงเทพฯ ว่า ข้อกำหนดกรุงเทพได้รับการจัดตั้งขึ้นและมีการดำเนินการจากพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งทรงเล็งเห็นว่าผู้ต้องขังหญิงนั้นมีความแตกต่างทั้งในด้านกายภาพ ด้านเพศ แตกต่างจากผู้ต้องขังชาย เพราะฉะนั้นก็ควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพื่อที่ผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วจะได้มีชีวิตที่ดีและไม่กลับไปทำผิดซ้ำ
ดร.นัทธี ระบุว่า ในหลักการดำเนินการเพื่อให้เป็นเรือนจำตามข้อกำหนดกรุงเทพ มีความแตกต่างจากเรือนจำทั่วไปคือ การดำเนินการต่างๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกรมกราชทัณฑ์ แต่ว่ามีส่วนเพิ่มเติมขึ้นมาเริ่มตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องขัง เช่น การตรวจค้นต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีผู้หญิง ไม่ตรวจค้นภายในโดยละเมิดสิทธิ์ ขณะที่การจัดทำทะเบียนจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่จะรู้จักผู้ต้องขังทุกคน เพื่อให้รู้ว่าแต่ละคนเป็นใคร มาจากไหน จึงมีการวางแผนรายบุคคล (Sentencing Plan) ว่าเข้ามาในเรือนจำแห่งนี้แล้วจะได้รับอะไรกลับไปบ้าง ซึ่งประกอบไปด้วย ต้องผ่านการอบรมวิชาชีพอย่างน้อย 3 วิชาชีพ เช่น นวด ทำอาหาร ร้านเสริมสวย, ผ่านการอบรมธุรกิจขนาดเล็กหรือ ( SME) เปลี่ยนชีวิตอย่างน้อย 1 หลักสูตร ถัดมาคือ หลักสูตรความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ ได้เรียนรู้พฤติกรรมสุขภาพ เช่น หลีกเลี่ยงการกินหวาน มัน เค็ม หรือหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง หรือพฤติกรรมที่จะนำมาสู่โรคต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ครอบครัว, การปฏิบัติธรรมตามศาสนาต่างๆ และการปรับสภาพอารมณ์และจิตใจ ซึ่งมีศูนย์แฮปปี้เซ็นเตอร์ (Happy Center) หรือศูนย์สร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนชีวิตผู้ต้องขัง
“ คนที่เข้ามาในนี้ไม่ว่าจะมาจากไหน จะผ่านการอบรมจากกระบวนการดังกล่าว จนกระทั่งเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และดูแลหลังปล่อย รวมทั้งมีการติดตามผลต่อไปว่า คนที่พ้นออกไปแล้วกลับสู่สังคมอย่างไร” ดร.นัทธี ขยายความเพิ่มเติม
ปัจจุบันเรือนจำต้นแบบที่ดำเนินการไปแล้วมี 6 แห่ง ได้แก่ 1 ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 2 เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3 เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี 4 ทัณฑสถานหญิงชลบุรี 5 เรือนจำกลางสมุทรสงคราม และ 6 ทัณฑสถานปทุมธานี
“สาว” (นามสมมติ) ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังที่กำลังอยู่ระหว่างการทำใจยอมรับชีวิตในเรือนจำที่เกิดจากความผิดพลาดในอดีตและเข้าใกล้ความสำเร็จแล้ว
เธอเลือกจะสื่อสารในเชิงเปรียบเทียบถึงความแตกต่างระหว่างอดีตวัยรุ่นที่เคยอิสรเสรี และชีวิตในเรือนจำครั้งแรกว่า ภาพความรู้สึกคืนแรกที่นอนเรือนจำ คือ นึกถึงช่วงเวลาดับไฟห้องนอนที่บ้านนอก เธอจะต้องมองลอดหน้าต่างเพื่อรับลมเบา ๆที่พัดมาสู่มุ้งกันยุงทรงสี่เหลี่ยม บรรยากาศห้องนอนแบบนั้นช่างสดชื่นเหลือเกิน แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นนานแล้ว นับตั้งแต่เธอเข้าสู่การเป็นสาวโรงงานรับค่าแรงขั้นต่ำที่หาเท่าไหร่ก็ยังมีเงินไม่พอใช้ สามีเลิกรา ความเครียดที่เกิดขึ้นจึงนำมาสู่การค้ายาเพื่อหารายได้เพิ่มเติม กระทั่งถูกจับกุม จำคุกในเวลาต่อมา
แน่นอนว่าการเล่าเรื่องราวความผิดพลาดในชีวิต ตลอดจนรายละเอียดสาเหตุการจำคุก บทลงโทษ ต่อสื่อมวลชนแปลกหน้าเพื่อนำไปสู่การนำเสนอต่อสาธารณะย่อมไม่ใช่สาระหลักที่หญิงวัยไม่ถึง 25 ปี จำเป็นต้องถ่ายทอด หากแต่ความเป็นอยู่ปัจจุบันและแผนพัฒนาชีวิตในอนาคตต่างหากที่ “สาว” อยากให้สังคมจดจ่อ
“มีลูกสาวหนึ่งคนค่ะตอนนี้ ตอนเข้ามาอยู่นี่ก็คือท้องเขาได้ 5 เดือน ตอนนี้เขาอายุ 11 เดือนแล้ว ตั้งใจจะเลี้ยงเขาให้ถึง 1 ปีกว่า แล้วค่อยส่งเขาไปหาแม่ที่บ้านนอก ที่นี่เขามีของเล่นให้แต่เราเป็นแม่ เราอยากให้เขาได้ไปเที่ยวข้างนอกบ้าง 1 ขวบ น่าจะจำแม่ได้แม่นแล้ว หนูเองต้องฝึกงานให้ดี ๆ แล้วออกไปจะได้ทำงานหาเงินไปส่งเขาเรียน อยู่กับเราตอนนี้ก็วัยกำลังซนเลย หยิบโน่นนี่ทำลายข้าวของ คงจะคิดถึงเขามากเหมือนกันค่ะตอนเขาออกไป แต่ได้ให้นมเขาตอนนี้ก็ดีใจแล้ว จริง ๆ แล้วอยู่นี่ไม่ลำบากนะ มีพยาบาล มีผู้คุม มีเพื่อนเข้ามาช่วยดูแลอยู่บ้าง แต่เราก็ยังอยากให้เขาเห็นโลกภายนอก เลยคิดว่า ดูเขาเองแค่ 1 ปีกว่า ๆ ก็พอแล้ว ไว้เจอกันห้องเยี่ยมญาติ ถ้าเขาไปอยู่กับยายเราก็มีเวลาฝึกงานมากขึ้น” สาวกล่าวด้วยรอยยิ้ม
อดุลย์ ชูสุวรรณ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า ผู้ต้องขังหญิงที่เข้ามาที่นี่ส่วนมากเป็นคดียาเสพติดมีประมาณ 400 คนจากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 560 กว่าคน แต่ทางเรือนจำมีความพยายามในการดูแลผู้ต้องขังอย่างมีจริยธรรมและมีคุณธรรมมากที่สุดเพื่อให้พวกเขาก้าวสู่อนาคตที่ดีและมั่นคง ไม่ติดใจกับความผิดพลาดในอดีต สำหรับโครงสร้างเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยามี 2 ส่วน คือ ส่วนควบคุมและส่วนพัฒนา ซึ่งในส่วนพัฒนาจะเน้นการฝึกวิชาชีพ ที่ได้รับการสนับจากหลายองค์กร เช่น TIJ ที่เข้ามาสนับสนุนทั้งเรื่องการฝึกวิชาชีพ การฝึกจิตใจและดูแลสุขภาพ การอบรมให้ความรู้เรื่อง SME เพื่อให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปแล้วได้นำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพจริง เช่น การสอนทำกาแฟ, ขนม ล่าสุดมีผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้วพบว่า เขาได้ออกไปประกอบอาชีพจริง ได้รับการสนับสนุนรถขายกาแฟจากบริษัท เนสท์เล่ และไม่ได้แค่ขายกาแฟอย่างเดียว แต่ยังขายน้ำเต้าหู้ด้วย หรือเมื่อมีเวลาว่างก็ซื้อผักมาขาย หารายได้เสริม
“หมวย” (นามสมมติ) ถูกจองจำในคดียาเสพติดในวัย 60 กว่าปีรู้ดีว่า คุกในความหมายของคนทั่วไปน่ากลัว และตนก็จินตนาการไปหลายครั้งว่า คุกย่อมมีแต่ความรุนแรง อึดอัด ไร้อิสรภาพและสันติภาพ แต่หลังจากปรับตัวตามหลักของเรือนจำแล้ว ยอมรับว่า นอกจากการจำกัดพื้นที่ของอาคาร เรือนจำแล้ว เธอไม่รู้สึกไร้อิสรภาพ หรือไร้ตัวตนเลย เพราะความเป็นพี่เป็นน้องและความเข้าใจระหว่างเพื่อนผู้ต้องขัง ผู้คุม และบุคลากรภายนอกที่เข้ามาสนับสนุนความรู้ อาชีพ รวมถึงหลักการเยียวยาจิตใจทำให้เธอรู้ว่า “หากก้าวพลาดแล้วเราอยากเริ่มใหม่ เราไม่ได้โดดเดี่ยว” ทุกวันนี้หมวยจึงตั้งใจดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย และอ่านหนังสือให้มากๆเพื่อผ่อนคลายและหวังว่าพ้นโทษออกไปจะได้บทเรียนจากเรือนจำ และได้รับมิตรภาพโดยรอบแทนการ “ซ้ำเติม” จากสังคม
ไม่ใช่แค่มุมทำอาหาร มุมออกกำลังหาย มุมฝึกสันทนาการเท่านั้นที่ช่วยเยียวยาจิตใจของสาวๆในเรือนจำแห่งนี้ แต่ ณ อีกมุมหนึ่งของเรือนจำมีสาวแก่ สาวรุ่นชาวมุสลิมกว่า 10ชีวิตนั่งอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน เพื่อหวังใช้ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ รวมถึงประกอบพิธีกรรมตามปกติ ดุจใช้ชีวิตนอกรั้วเรือนจำ และอีกหลายกิจกรรมที่เกิดขึ้นล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ดำเนินไปตามข้อกำหนดกรุงเทพ อันเป็นข้อกำหนดที่ได้รับการยอมรับจาก UN ปัจจุบันมีหลายประเทศทั้งในเอเชีย และยุโรปเข้ามาศึกษาดูงาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อาวุโสจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ร่วมอบรมว่าด้วยเรื่อง “ข้อปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่สอดคล้องตามข้อกำหนดกรุงเทพ” ณ เรือนจำพระนครศรีอยุธยา เพื่อนำไปปรับใช้ในแต่ละประเทศ
ดร.บาร์บารา โอเวน (Dr.Barbara Owen) ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เรื่องข้อกำหนดกรุงเทพและวิทยากรผู้อบรมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อกำหนดกรุงเทพถูกร่างขึ้นโดยผ่านกระบวนการจาก UN ไม่ได้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับ แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่สากลมองว่าเป็นเรื่องสำคัญและควรจะนำไปปฏิบัติตาม สำหรับการจัดอบรมอบรมครั้งนี้มุ่งหวังว่า เนื้อหาสาระหลักของข้อกำหนดกรุงเทพจะเป็นที่เข้าใจของผู้ปฏิบัติงานจริงในภูมิภาคอาเซียน ว่าการดูแลผู้ต้องขังที่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของเพศหญิง ควรจะมีเรื่องอะไรบ้าง
จากข้อมูลการวิจัยและศึกษาโดย TIJ ,กรมราชทัณฑ์ เคยนำเสนอภาพรวมกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดหญิงและผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย ทราบว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากอเมริกา จีน และรัสเซีย โดยลักษณะความผิดส่วนมากของผู้หญิงมักเป็นความผิดเล็กน้อยและไม่รุนแรง เห็นได้จากสถิติกรมราชทัณฑ์ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยกว่า 80 % กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รองลงมาเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความแออัดในเรือนจำ
การกระทำความผิดของผู้ต้องขังหญิงกว่า 560 ชีวิตในเรือนจำพระนครศรีอยุธยา แม้จะมีที่มาที่ไปและสาเหตุของการทำความผิดที่แตกต่างกัน แต่ในแง่สิทธิมนุษยชนตามข้อกำหนดกรุงเทพเชื่อว่า การลงโทษโดยกระบวนการยุติธรรมนั้นเพียงพอแล้ว พวกเขาไม่ควรถูกสังคมลงโทษซ้ำ เนื่องจากผู้หญิงต้องแบกรับภาระหน้าที่หลายอย่างในบางเวลาการก่ออาชญากรรมของผู้หญิงบางคนอาจเกิดขึ้นเพราะแรงกดดัน การข่มเหงรังแก จากคนรอบกายก่อนจึงนำมาสู่การตอบโต้ที่เหนือกฎหมาย และในอดีตที่เคยพลาดพลั้งนั้นอาจนำมาสู่ความขัดแย้งภายในครอบครัว ชุมชน สังคม แต่เมื่อผ่านกระบวนการยุติธรรมและได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสมแล้ว เรือนจำจะเป็นดั่งชุมชนใหม่ที่พึงต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างมีมนุษยธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมออกไปสู่สังคมที่ดีขึ้น และผู้ต้องขังหลายคนยืนยันว่าเรือนจำเป็นดั่งบ้านถึงจะมีกำแพงกั้นอิสรภาพจากโลกภายนอก แต่ไม่ได้สิ้นสันติภาพและภราดรภาพเลยแม้แต่น้อย
เรื่อง/ภาพ โดย จารยา บุญมาก
////////////////////