สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ชาวทวายตั้งคำถามถึงบิ๊กอิตาเลียนไทย “ขนาดประเทศตัวเองยังไม่เคารพ แล้วประเทศอื่นล่ะ”

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายตาน ซิน ผู้อำนวยการสมาคมพัฒนาทวาย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและหลายภาคส่วนของไทยออกมาเคลื่อนไหวให้มีการลงโทษนายเปรมชัย กรรณสูตร กรรมการบริหารบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ภายหลังจากถูกจับกุมเนื่องจากเข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก โดยบริษัทอิตาเลียนไทยฯ เป็นเอกชนรายใหญ่ที่ได้รับสัมปทานโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายว่า บริษัทอิตาเลียนไทยฯเป็นบริษัทใหญ่ ดังนั้นผู้บริหารควรปฏิบัติตามกฎของสังคมและเคารพในชีวิตของสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม

“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เรากังวลอย่างมากว่าบริษัทนี้ที่จะเป็นผู้เข้ามารับผิดชอบโครงการขนาดใหญ่ที่ทวายจะปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่ดีต่อคนทวายได้อย่างไร เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นคำเตือนหนึ่งให้รัฐบาลพม่าที่จะตัดสินใจเลือกบริษัทที่จะเข้ามารับผิดชอบโครงการต่างๆ หรือแม้แต่ผู้ลงทุน อย่างระมัดระวังว่าเขามีความเคารพสิทธิมนุษยชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไร ขนาดในประเทศเขายังทำเช่นนั้น เขาสามารถทำได้ยิ่งกว่าในประเทศอื่นหรือไม่” นายตาน ซิน กล่าว

นายตาน ซิน กล่าวว่า เราได้ยินข่าวที่รัฐบาลจะฟื้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายขึ้นมาใหม่ สิ่งที่เราพูดได้ตอนนี้คือ เขาจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านไปแล้วได้อย่างไร ทั้งในเรื่องที่ดิน และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป และตอนนี้เรายังไม่แน่ชัดว่า จริงๆ แล้วมีคนจำนวนเท่าไหร่แน่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ

ในขณะที่นายเจฟ มินห์ (Geoff Myint) นักวิจัย กล่าวถึงความเห็นของคนทวายต่อโครงการว่า ชาวบ้านมีความสับสนมาตลอดเพราะชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงรอบด้าน โดยเฉพาะช่วงปีหลังๆ ที่โครงการหยุดชะงัก ทำให้คนจำนวนมากยังไม่แน่ใจว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษคืออะไรกันแน่ นอกจากนี้ในเรื่องของวิถีชีวิตมีหลายประเด็นด้วยกัน แต่ที่สำคัญมากคือการชดเชยความเสียหาย และการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งชาวบ้านกังวลเรื่องการชดเชยที่ไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันในเรื่องอพยพออกจากพื้นที่โครงการ ชาวบ้านคงไม่สามารถยอมรับการย้ายถิ่นฐานได้ หากไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมได้ ส่วนในเรื่องการจ้างงานเป็นเรื่องหลักที่คนในพื้นที่มีความหวังว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพราะมีคนทวายจำนวนมากทำงานในประเทศไทย ส่วนหนึ่งจึงรู้สึกว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษจะสามารถนำพาคนเหล่านั้นกลับมาสู่ครอบครัวได้

“แต่สิ่งที่พิสูจน์มาจากโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน อย่างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในประเทศไทย หรือโครงการดิละวา ในพม่า บอกได้เลยว่าความหวังนั้นจะไม่เกิดขึ้นจริง เพราะสำหรับคนพื้นที่จะมีเพียงการจ้างงานระยะสั้น หรืองานใช้แรงงานพื้นฐาน ส่วนงานคุณภาพที่จะสร้างความมั่นคงให้คนในพื้นที่ เรายังไม่เห็นโอกาสนั้น” นายเจฟ มินห์ กล่าว

นักวิจัยรายนี้กล่าวว่า เมื่อพิจารณาเรื่องสถานะทางเพศ พบว่าโครงการมีความเป็นไปได้ที่จะให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดเหมือนกันเพราะรัฐบาลท้องถิ่นพยายามพูดมาตลอดว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับคนท้องถิ่นอย่างมาก แต่ที่เห็นมันยากที่พูดว่าในระยะยาวจะดีกับคนท้องถิ่นอย่างไร ถ้าเราคิดถึงเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจนี้จะเน้นไปทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหากรรมหนักซึ่งไม่ได้มีตำแหน่งงานที่มากนักสำหรับคนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นคำถามที่ถูกต้องคือ โครงการนี้จะให้ประโยชน์กับใคร ที่สำคัญคือจากที่ศึกษามาโดยรวมแล้วมันจะให้ประโยชน์แค่กับคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งโดยมากเป็นคนชั้นสูง

On Key

Related Posts

คำประกาศแม่น้ำโขงชี้เขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด-ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน-สิ่งแวดล้อมรุนแรง แนะรัฐฟังเสียงประชาชน “วิโรจน์”เตรียมส่ง สตง.-ป.ป.ช.จี้นายกฯตรวจสอบอย่างโปร่งใส-รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อRead More →

ผู้แทนสถานทูตจีนแจงวิสัยทัศน์แม่น้ำโขงให้ชุมชนริมโขง เผย 5 ประเทศร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน  ศ.สุริชัยชี้ความโปร่งใสในการสร้างเขื่อนไม่มีจริง สส.ก้าวไกลถามหามาตรฐานอีไอเอ

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.Read More →

แนะดึง ป.ป.ช.-สตง.ตรวจสอบเขื่อนปากแบง “วิโรจน์”ชี้ยุทธวิธีแม่น้ำ 4 สายร่วมกสม.-สภาส่งจัดทำข้อเสนอส่งนายกฯ ผู้นำท้องถิ่นน้อยใจรัฐไม่เคยฟังเสียงชาวบ้าน ระบุพื้นที่เกษตรนับพันไร่ได้รับผลกระทบแต่ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐแจง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.Read More →