เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ชาวเลกลุ่มหนึ่งนำโดยนายดังเฉ็ม ประมงกิจ จากเกาะพีพี จ.กระบี่ และชาวเลจากเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ได้เดินทางมายังกทม.เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ซึ่งในหนังสือดังกล่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2530 นายร้าหิน ประมงกิจ ซึ่งเป็นบิดาของนายดังเฉ็ม ได้นำที่ดินจำนวน 4 ไร่เศษไปให้นายทุนเช่าเพื่อทำการสร้างที่พักไว้ต้อนรับนำท่องเที่ยวในสัญญาเช่า 30 ปี ค่าเช่าร่วม 3 แสนบาท และทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด

ในหนังสือต้องเรียนซึ่งลงนามโดยนายดังเฉ็มระบุว่า นายร้าหินซึ่งเป็นพ่อบอกว่าที่ดินผืนนี้ให้เช่าเท่านั้นและก่อนครบกำหนดสัญญาเช่า 2-3 ปี ตนได้ให้ทนายความทางถาม ต่อมาได้ทราบเรื่องจากทนายความว่านายทุนผู้เช่าได้นำที่ดินไปเปลี่ยนเป็นผู้ถือครองสิทธิ์เสียงเองแล้วโดยที่ตนเองไม่ทราบเรื่องและเชื่อว่าถูกโกง

“ข้าพเจ้าไม่มีการศึกษา อ่านหนังสือไม่ออกและไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย จึงขอให้ให้ช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินของชาวเลบนเกาะพีพีด้วย”หนังสือร้องเรียนระบุ

น.ส.พรสุดา ประโมงกิจ ซึ่งเป็นหลานสาวของนายดังเฉ็ม ให้สัมภาษณ์ว่า ในอดีตอ่าวแหลมตงบนเกาะพีพีเป็นที่อยู่ของชาวเลทั้งหมด ต่อมาเมื่อปี 2519 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมา หลังจากนั้นได้เริ่มมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น จนกระทั่งปี 2530 ได้มีครูคนหนึ่งเป็นนายหน้าเอกสารใบจองที่ดินของชาวบ้านไป ชาวเลทั้งหมดไม่มีความรู้และไม่รู้หนังสือ บางส่วนก็ให้ บางส่วนก็ไม่ให้ จนต่อมาได้มีนายทุนเข้ามา และอาศัยจังหวะที่ชาวเลย้ายหนีลมมรสุมไปหลบอยู่อีกฟากหนึ่งของเกาะ ได้มีคนภายนอกเผาบ้านชาวเลทั้งหมดซึ่งมีเกือบ 100 หลัง ทำให้ชาวเลรู้สึกเสียใจและพากันแยกย้ายไปอยู่ที่เกาะอื่นๆ แต่ต่อมาทางจังหวัดได้ส่งคนไปตาม ทำให้ชาวเลบางส่วนกลับมาอยู่บนที่ดินที่ยังมีใบจองของนายร้าหิน

น.ส.พรสุดากล่าวว่า ต่อมาในปีเดียวกันนั้นนายร้าหินได้ให้เช่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปีโดยจะได้รับค่าเช่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ขณะที่ชาวเลยังคงอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวโดยไม่เสียค่าเช่า จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ให้คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล ดังนั้นชาวเลแหลมตงจึงได้ร้องเรียนปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยมายังนายกรัฐมนตรีขณะนั้น

“เราพยายามสอบถามความชัดเจนจากสำนักงานที่ดินในจังหวัดหลายครั้งถึงที่ดินแปลงนี้ แต่ไม่เคยได้รับคำตอบใดๆ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราจึงทราบว่าที่ดินผืนนี้ได้เปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่นแล้ว ขณะที่นายร้าหินได้เสียชีวิตไปเมื่อปี 2535 โดยก่อนตายได้สั่งเสียไว้กับนายดังเฉ็มซึ่งเป็นลูกชายที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวว่า ที่ดินผืนนี้เป็นที่ดินให้เช่า”น.ส.พรสุดากล่าว

น.ส.พรสุดากล่าวว่า นายดังเฉ็มไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่าที่ดินที่พ่อมอบให้นั้นถูกเปลี่ยนมือไปแล้ว โดยเขาอ้างว่านายร้าหินได้ขายที่ดินไป แต่น่าสังเกตว่าลายนิ้วมือของนายร้าหินที่ปั้มในเอกสารครั้งแรกที่ให้เช่าที่ดินเมื่อปี 2530 กับลายนิ้วมือเมื่อขายที่ดินไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงอยากให้มีการตรวจสอบ

“ตอนนี้ชาวเล 150 คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแหลมตงต่างรู้สึกหวาดผวาว่าจะไม่มีที่อยู่ ทุกวันนี้เราก็อาศัยกันอย่างแออัด แต่หากที่ดินไปเป็นของคนอื่นอีก พวกเราก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน จึงอยากวิงวอนให้ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวของช่วยเราด้วย”น.ส.พรสุดากล่าว

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.