Search

“พลัดถิ่น”ใน “ถิ่นพลัด” ของนางหวิน


พอท้องลูกคนที่ 3 ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องพากันอพยพหนีตายจากทหารพม่าข้ามด่านสิงขรจากดินแดนฝั่งไทยในอดีตมาอยู่ในแผ่นดินไทยในปัจจุบัน ต้องทิ้งวัวควายไร่นามากมายมาปักหลักอยู่ที่บ้านไร่เครา ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นับตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ผ่านไปแล้วกว่า 40 ปีนางหวิน ปลอดโปร่ง ก็ได้ชื่อว่าเป็น “คนไทยพลัดถิ่น” ซึ่งกลายเป็นพลเมืองชั้นสองในสังคมไทยเพราะไม่มีบัตรประชาชน

นางหวินคลอดลูกคนที่ 3 บนแผ่นดินไทย แต่ลูกคนนี้ก็ยังไม่มีบัตรประชาชนเช่นกัน เพราะคลอดโดยหมอตำแย ซึ่งนางยังหาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ เพราะต่างเสียชีวิตกันไปหมดแล้ว

หลังจากคลอดลูกคนที่ 3 อีก 8 ปีต่อมาสามีก็เสียชีวิต นางต้องเลี้ยงลูกอยู่คนเดียวพักใหญ่ จนกระทั่งได้สามีใหม่เป็นคนที่มีบัตรประชาชนไทย เมื่อมีลูกเพิ่มอีก 2 คน จึงไม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ เหลือเพียงตัวนางกับลูกๆที่เกิดจากสามีเก่าที่ยังคงกลายเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษซึ่งพลัดถิ่นอยู่จนบัดนี้

“จริงๆแล้วเครือญาติรากเหง้าฉันเป็นคนอุบลฯอพยพมาอยู่บางสะพานตั้งแต่สมัยพ่อใหญ่ แล้วก็ข้ามไปทำมาหากินที่บ้านทรายขาวฝั่งพม่า ซึ่งแผ่นดินแถบนั้นสมัยก่อนเป็นของไทย พอเราเสียดินแดนไป ชาวบ้านก็ยังทำมาหากินกันเป็นปกติสุข จนกระทั่งพม่ารบกับกะเหรี่ยง เขาจับพวกเราไปเป็นลูกหาบ ทำให้เราต้องหนีตายข้ามกลับมาอยู่แผ่นดินเกิด”แม่เฒ่าวัย 70 ปีพูดจาสำเนียงปักษ์ใต้ชัดแจ๋วย้อนอดีต

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในราวปี 2408-2410 ไทยและอังกฤษซึ่งยึดครองพม่าอยู่ในขณะนั้น ได้ตั้งคณะข้าหลวงปักปันเขตแดนไทย-พม่า ตั้งแต่บ้านสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลมมาจนถึงปากน้ำกระบุรี จังหวัดระนอง และได้จัดทำอนุสัญญาระหว่างกษัตริย์สยามกับข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียว่าด้วยเรื่องกำหนดเขตแดน ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ดินแดนที่เคยเป็นที่อยู่ของคนไทยกลุ่มนี้ซึ่งได้แก่เมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษและกลายเป็นของพม่าในที่สุด

ต่อมาเมื่อเกิดการสู้รบรุนแรงคนไทยติดแผ่นดินพม่ากลุ่มนี้จึงได้อพยพข้ามมาอยู่ใน 4 จังหวัดคือประจวบฯ ชุมพร ระนองและตาก ซึ่งทางการไทยได้สำรวจจัดทำทะเบียนรวมอยู่กับ “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า”และถือเอาวันที่ 9 มีนาคม 2519 เป็นวันสุดท้ายในการจดทะเบียน ต่อมาพบว่าผู้พลัดถิ่นเหล่านี้มีเชื้อสายไทยปะปนอยู่ด้วยจึงได้สำรวจและจัดทำทะเบียนแยกออกเป็น “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย”

“ฉันอยู่ฝั่งนู้นก็ไม่มีบัตร พอมาอยู่ฝั่งนี้ ก็ยังไม่มีบัตรอีก เขาไม่ทำให้ ฉันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร” บัตรที่นางหวินพูดถึงคือบัตรประชาชน ซึ่งในอดีตพม่ายังไม่มีการสำรวจและจัดทำบัตรประชาชนให้ พวกนางกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในแผ่นดินใหญ่ และเมื่อย้ายกลับมาอยู่แผ่นดินแม่ นางและคนไทยกลุ่มนี้ก็ยังกลายเป็นชนกลุ่มน้อยอีก ทุกวันนี้นางยังคงถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า”ถึงปัจจุบัน

กรณีของนางหวินกลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อน เพราะไม่มีการขึ้นทะเบียนบัตรให้ถูกต้องตามกลุ่ม เพราะแทนที่นางจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ซึ่งจะได้คืนสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 เรื่องของนางกลับยังต้องค้างคาอยู่จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่คนไทยพลัดถิ่นหลายพันคนได้คืนสัญชาติไทยกันไปแล้ว

ก่อนที่พ.ร.บ.สัญชาติไทย(ฉบับที่ 5 )จะคลอดออกมา กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นได้รวมพลังกันเป็นเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นเพื่อขอคืนสัญชาติ และเดินเท้าจากจังหวัดประจวบฯมุ่งสู่รัฐสภา จนสามารถผลักดันได้กฎหมายฉบับใหม่ซึ่งกลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของงานสถานะบุคคล
แต่น่าเสียดายที่นางหวินกลับยังไม่ได้อานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้

“ฉันอยากได้บัตรประชาชนเพราะเชื่อว่า หากฉันได้แล้ว ลูกๆก็จะได้ด้วย” นางหวินรู้สึกร้อนใจทุกครั้งเมื่อคิดถึงลูกๆอีก 3 คนที่ยังตกอยู่ในสภาพเดียวกับนาง เพราะลำพังตัวเองเชื่อว่าก็คงอยู่อีกไม่นาน แต่เป็นห่วงลูกๆหลานๆยังกลายเป็นคนเถื่อนบนแผ่นดินใหญ่

“สมัยก่อนฉันถูกหลอกไปเยอะ คนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง อ้างว่าจะไปขอบัตรประชาชนให้ได้ ฉันยอมเสียเงินเสียทองไป สุดท้ายก็หายเงียบกันไปหมด พอเราได้กฎหมายฉบับใหม่ ฉันก็มีความหวัง เพราะเพื่อนข้างบ้านต่างก็ได้บัตรประชาชนกันหมด เหลือแต่ฉันที่เขาบอกว่าขึ้นทะเบียนไว้ผิดกลุ่ม เลยยังไม่ได้”นางฉิมและลูกๆกลายเป็นคนตกค้างที่ต้องแก้ไขปัญหาซับซ้อนขึ้นไปอีก

“ตอนเขาให้ลงชื่อ ฉันก็ไม่รู้ว่าสำรวจแล้วจะได้บัตรอะไร ฉันก็ลงชื่อไป สมัยก่อน ขอให้ได้บัตรอะไรก็ได้สักใบไว้ก่อน ดีกว่าไม่มีบัตรอะไรเลย”ชีวิตของนางหวินก็เช่นเดียวกับคนที่ไร้บัตรทั้งหลาย เมื่อมีกิจกรรมอะไรที่ทางการขอความร่วมมือมาก็ยินดีไปร่วมเสมอ เพราะหลังกิจกรรมมักมีประกาศณียบัตรหรือบัตรต่างๆให้ เช่น บัตรลูกเสือ ซึ่งชาวบ้านกลุ่มนี้สามารถใช้แสดงความมีตัวตน แม้จะได้รับความเชื่อถือมากบ้าง น้อยบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย

ตามกระบวนการหากมีการขึ้นทะเบียนผิดกลุ่มก็จะต้องไปแจ้งเรื่องที่อำเภอและส่งไปยังกรมการปกครองเพื่อขอแก้ไข แต่ด้วยความไม่รู้และไม่เข้าใจของนางหวิน ประกอบกับความซับซ้อนของระบบราชการ ทำให้เรื่องจึงยังค้างเติ่ง

วันนี้นางหวินหรือยายหวิน ซึ่งเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการขอคืนความเป็นพลเมืองไทยมาแล้วกว่า 40 ปี จึงยังต้องสู้อีกต่อไป เช่นเดียวกับชาวบ้านกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังรอคอยการอนุมัติจากทางการให้เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์แบบ ทั้งๆที่พวกเขาเป็นคนไทยมาแต่กำเนิด
พวกเขาถูกทอดทิ้งมาร้อยกว่าปี ควรแล้วหรือที่เราจะปล่อยให้พวกเขาทนทุกข์ยากอีกต่อไป
————-

————–

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →